เวียดนามและแคนาดามุ่งส่งเสริมความร่วมมือทางการค้า

เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2567 ณ กรุงฮานอย คณะกรรมการเศรษฐกิจร่วมเวียดนาม – แคนาดาเปิดการประชุมครั้งที่ 2 โดยมุ่งเป็นการยกระดับความร่วมมือทางการค้าและการลงทุน

ในคำกล่าวเปิดงาน นาย เหงียน ฮง เญียน (Nguyen Hong Dien) รัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าระบุว่า ทั้ง 2 ประเทศได้เห็นถึงความสัมพันธ์ทางการค้าและการลงทุนมีการเติบโตเชิงบวกอย่างมากภายใต้ข้อตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนภาคพื้นแปซิฟิก (Comprehensive and Progressive Agreement for Trans-Pacific Partnership: CPTPP) ซึ่งทั้งเวียดนามและแคนาดาเป็นสมาชิก โดยยังมีโอกาสอย่างมากสำหรับทั้ง 2 ประเทศในการส่งเสริมความร่วมมือ โดยคณะกรรมการร่วมมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมความร่วมมือทวิภาคีในด้านเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน เกษตรกรรม และวิทยาศาสตร์-เทคโนโลยี และภาคส่วนอื่นๆ นอกจากนี้ผู้ประกอบการของ 2 ประเทศควรทำงานเพื่อรวบรวมและส่งเสริมอุปทานทวิภาคีห่วงโซ่ผ่านการทบทวนความร่วมมือ และระบุแนวทางแก้ไขและลำดับความสำคัญในอนาคต

ในขณะเดียวกัน นาง Mary Ng รัฐมนตรีกระทรวงการค้าระหว่างประเทศแคนาดาได้ยกย่องถึงตำแหน่งของเวียดนามในยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก (Indo-Pacific Strategy: IPS) ของแคนาดา ซึ่งประกาศเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2565 โดยนาง     Mary Ng เป็นผู้นำคณะผู้แทนการค้ากับสมาชิก 250 รายจาก 200 บริษัทจากแคนาดาไปยังเวียดนาม ระหว่างวันที่ 26 ถึง 29 มีนาคม 2567 เพื่อเชื่อมโยงโอกาสทางการค้าและการลงทุน และเสริมความแข็งแกร่งของห่วงโซ่อุปทานกับเวียดนาม เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของ IPS

นาง ฟาน ถิ ทังห์ (Phan Thi Thang) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า และ นาย Rob Steward รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการค้าระหว่างประเทศเป็นประธานร่วมโดยในการประชุมครอบคลุมประเด็นต่างๆ รวมถึงการค้า     การลงทุน เกษตรกรรม พลังงาน การเงิน ศุลกากร วิทยาศาสตร์เทคโนโลยี การศึกษาและการฝึกอบรม และพลังงาน

สภาธุรกิจแคนาดา สภาธุรกิจแคนาดา-อาเซียน และหอการค้าและอุตสาหกรรมเวียดนาม เสนอให้รัฐบาลทั้ง 2 ประเทศควรสร้างเงื่อนไขที่เอื้ออำนวยให้ทั้งสองฝ่าย รวมทั้งพัฒนาความสัมพันธ์ทางการค้าและการลงทุนให้แข็งแกร่งและมีประสิทธิภาพมากขึ้นในอนาคต คณะกรรมการร่วมเศรษฐกิจซึ่งก่อตั้งขึ้นในเดือนมกราคม 2565 จัดการประชุมครั้งแรกที่เมืองแวนคูเวอร์ (Vancouver) ในเดือนกรกฎาคม หลังจากที่ประเทศต่างๆ เปิดประเทศหลังการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 การประชุมดังกล่าวทำให้เกิดการเจรจาครั้งใหม่ระหว่างรัฐบาลทั้ง 2 ประเทศ ซึ่งช่วยให้ความร่วมมือที่ครอบคลุมลึกซึ้งยิ่งขึ้น โดยมีความร่วมมือทางเศรษฐกิจเป็นเสาหลักที่สำคัญที่สุด

(จาก https://en.vietnamplus.vn/)

ข้อคิดเห็น สคต

เวียดนามเป็นคู่ค้าที่ใหญ่ที่สุดของแคนาดาในอาเซียนและเป็นหนึ่งในประเทศที่มีการเติบโตเร็วที่สุด ซึ่งอาจจะสามารถนำโอกาสทางการค้าและการลงทุนที่สำคัญมาสู่ธุรกิจของแคนาดา ในปี 2566 มูลค่าการค้าระหว่างทั้งสองประเทศมีมูลค่ามากกว่า 10,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยวัตถุประสงค์การประชุมครั้งนี้เพื่อกระชับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและเจรจาเร่งเพิ่มมูลค่าให้กับภาคการค้าแคนาดา ส่งผลให้ภาคเอกชนพร้อมรับที่จะปรับตัวกับโอกาสใหม่ๆ ที่กำลังจะเกิดขึ้น แคนาดาและเวียดนามเชื่อว่าความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างกัน ถือเป็นกรอบความร่วมมือที่สำคัญที่จะทำให้เกิดโอกาสในสาขาต่างๆ อย่างมากมาย ถือเป็นการสร้างความมั่นใจให้กับภาคธุรกิจในการเพิ่มโอกาสทางการค้าและการลงทุน พร้อมกับช่วยเชื่อมโยงห่วงโซ่การผลิตของทั้งสองภูมิภาคให้ใกล้ชิดกันมากขึ้น ในช่วงที่ผ่านมา เวียดนามมีความโดดเด่นในการขยายตัวการค้าและการลงทุนจากต่างประเทศมากกว่าชาติอื่นในกลุ่มอาเซียนปัจจัยสนับสนุนหนึ่งอาจเป็นเพราะการเป็นสมาชิกความร่วมมือ CPTPP ที่ส่งผลให้การค้าเวียดนามและแคนาดาต่างได้รับประโยชน์จากการเข้าถึงตลาดที่เปิดกว้างพร้อมการลดภาษีตามข้อตกลง ปัจจุบันมีการนำเข้าสินค้าอาหารทะเลจากเวียดนามแทนที่จากไทยเพิ่มขึ้น เพราะสิทธิประโยชน์ด้านภาษีที่เอื้อต่อการนำเข้าอย่างมาก สำหรับไทยนั้นถือเป็นประเทศคู่ค้ารายสำคัญของแคนาดารายหนึ่ง แต่อย่างไรก็ดี ไทยและแคนาดายังไม่มี FTA ระหว่างกัน ทั้งนี้ หากทั้งสองเห็นพ้องดำเนินการได้ก็จะเป็นประโยชน์ต่อการค้าไทยและแคนาดา ในเวลาเดียวกัน หากความตกลง FTA ระหว่างอาเซียนและแคนาดา ซึ่งกำลังเจรจากันอยู่บรรลุผลสำเร็จโดยเร็ว     ก็น่าจะเป็นโอกาสที่ดีให้ทั้งสองฝ่ายใช้ประโยชน์จาก FTA ดังกล่าว

thThai