โรงพยาบาลบางแห่งในสิงคโปร์เริ่มหันมานำเสนอเมนูทางเลือกอาหารจากพืช (Plant-Based) สำหรับผู้ป่วยใน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในความพยายามด้านความยั่งยืน หลังจากประเมินว่า อาหารจากพืชเป็นอาหารที่ดีต่อสุขภาพ และมีความสมดุลทางคุณค่าโภชนาการ

ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2566 โรงพยาบาล Alexandra และ Ng Teng Fong General ได้นำเมนูที่ทำจากเนื้อวัวและเนื้อแกะออกจากเมนูผู้ป่วยใน เพราะเป็นเนื้อสัตว์ที่ผลิตคาร์บอนมากที่สุดในโลก และหันมาแทนที่ด้วยอาหารจากพืช ซึ่งทำจากโปรตีนถั่วเหลือง ในขณะที่ โรงพยาบาลสตรีและเด็ก KK เริ่มให้บริการเมนูทางเลือกอาหารจากพืชในเดือนมกราคม 2566 และโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยแห่งชาติ ( National University Hospital : NUH)  ได้ดำเนินการดังกล่าวมาตั้งแต่ปี 2561 โดยโรงพยาบาลเหล่านี้ได้นำเสนอเมนูทางเลือกอาหารจากพืชให้บริการแก่ผู้ป่วยโดยไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม โฆษก NUH กล่าวว่า อาหารที่ทำจากพืชมีประโยชน์ต่อสุขภาพอย่างมาก และการนำอาหารจากพืชมาเป็นทางเลือกในเมนูผู้ป่วยจะเป็นการส่งเสริมความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมในระยะยาว

เนื่องจากผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์จากพืชส่วนใหญ่มักจะมีระดับโซเดียมที่สูง ดังนั้น เชฟและนักโภชนาการต่างร่วมมือกันพัฒนาสูตรอาหารที่มีส่วนประกอบจากพืชเพื่อให้มั่นใจว่าเป็นไปตามข้อกำหนดทางโภชนาการของผู้ป่วย เช่น การลดปริมาณเกลือลง ในขณะเดียวกัน ยังคงสอดคล้องกับหลักเกณฑ์และข้อจำกัดด้านอาหารของผู้ป่วย ซึ่งโรงพยาบาลทั้งสี่แห่งจะนำเสนอเมนูทางเลือกอาหารจากพืชให้เฉพาะผู้ป่วยในที่ไม่มีข้อจำกัดด้านอาหาร แต่สำหรับผู้ป่วยที่ต้องการอาหารเฉพาะทาง เช่น อาหารที่มีเกลือต่ำหรือโพแทสเซียมต่ำ จะได้รับอาหารที่ปรับให้เข้ากับสภาวะทางการแพทย์เป็นรายบุคคลไป

โรงพยาบาลในสิงคโปร์หันมานำเสนอเมนูอาหารจากพืช

ขณะนี้ โรงพยาบาล Alexandra และ Ng Teng Fong General ได้นำเสนอเมนูทางเลือกอาหารจากพืชสำหรับมื้อกลางวันและมื้อเย็น สองถึงสามครั้งต่อสัปดาห์ และโรงพยาบาลสตรีและเด็ก KK ได้นำเสนอเมนูทางเลือกอาหารจากพืชสัปดาห์ละสองครั้ง หนึ่งครั้งสำหรับมื้อกลางวันและมื้อเย็น ในขณะที่ โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยแห่งชาติเสนออาหารทางเลือกจากพืชทุกมื้อ อย่างไรก็ดี จำนวนผู้ป่วยที่เลือกเมนูอาหารทางเลือกจากพืชยังคงน้อย ส่วนใหญ่มักจะเป็นคนไข้อายุน้อย โรงพยาบาล Alexandra และ Ng Teng Fong General ประมาณการว่า มีผู้ป่วยเพียงประมาณ 5% เท่านั้นที่เลือกเมนูอาหารทางเลือกจากพืช ในขณะที่ โรงพยาบาลสตรีและเด็ก KK อยู่ที่ประมาณ 5-10% โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยแห่งชาติอยู่ที่ 15%

Ms Mirte Gosker กรรมการผู้จัดการสถาบันวิจัยโปรตีนทางเลือก Good Food Institute Asia-Pacific ซึ่งเป็นสถาบัน วิจัยโปรตีนทางเลือกในสิงคโปร์ กล่าวว่า เนื้อสัตว์จากพืชให้ประโยชน์ต่อสุขภาพหลายด้าน เหมาะสำหรับผู้บริโภคทุกคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่อยู่ในระหว่างการรักษาร่างกาย การเพิ่มการจำหน่ายเนื้อสัตว์จากพืชในโรงพยาบาลจะเป็นการช่วยให้ผู้ผลิตในประเทศได้ขยายขนาดกำลังดำเนินงาน ลดต้นทุนเพื่อก่อให้เกิด Economies of Scale ทำให้อาหารทางเลือกเป็นอาหารเพื่อสุขภาพและมีความยั่งยืนมากขึ้นให้มีราคาจับต้องได้สำหรับผู้บริโภคทุกคน

ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะ

                   อุตสาหกรรมการดูแลสุขภาพทั่วโลกมีส่วนทำให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากกว่า 4% ของโลก และข้อมูลขององค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ ภาคปศุสัตว์คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 12 % ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลกที่เกิดจากมนุษย์ ซึ่งทั้งสองภาคอุตสาหกรรมต่างเพิ่มความพยายามที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การผลักดันการใช้อาหารจากพืช แทนเนื้อสัตว์จึงเป็นหนึ่งในความพยายามที่ผลักดันให้เกิดความยั่งยืนระยะยาวของโรงพยาบาลในสิงคโปร์

ประเทศไทยถือว่ามีความพร้อมและศักยภาพในการขยายกำลังการผลิตและตลาด Plant-based Food นอกเหนือจากการปรับปรุงด้านรสชาติและเนื้อสัมผัส ผู้ผลิตอาจปรับเพิ่มสินค้าให้อยู่ในรูปแบบพร้อมรับประทาน หรือการเป็นคู่ค้ากับธุรกิจร้านอาหาร เพื่อช่วยให้เกิดการรับรู้และเข้าถึงผู้บริโภคมากขึ้น นอกจากนี้ การพัฒนาสินค้าให้ตอบสนองความต้องการเฉพาะกลุ่ม เช่น อาหารสำหรับผู้ป่วยโรคไต ผู้ป่วยโรคเบาหวานหรือผู้สูงอายุ จะช่วยเพิ่มช่องทางการขยายตลาดให้กับผู้ประกอบการได้เช่นกัน

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการอาจศึกษาช่องทางจำหน่ายผ่านงานแสดงสินค้า และกฎระเบียบเพื่อเป็นโอกาสในการขยายสินค้ามายังตลาดสิงคโปร์ต่อไป

แหล่งที่มาข้อมูล/ภาพ :

https://www.straitstimes.com/singapore/some-hospitals-in-singapore-offer-plant-based-menu-options-as-part-of-sustainability-drive

 

thThai