เจาะเทรนด์พฤติกรรมผู้บริโภคแอฟริกาใต้ ปี 2567
การที่จะรู้พฤติกรรมของผู้บริโภคในแอฟริกาใต้ จำเป็นต้องเข้าใจบริบทของผู้บริโภคก่อน ขณะนี้ เศรษฐกิจแอฟริกาใต้อยู่ในช่วงฟื้นตัวช้าๆ ผู้บริโภคจึงต้องปรับพฤติกรรมการใช้จ่าย โดยใช้จ่ายด้วยความระมัดระวังและให้ความสำคัญกับราคาสินค้าเป็นอันดับแรก เนื่องจากปัจจัยต่างๆ อาทิ อัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้น (เดือนมกราคม 2567 อัตราเงินเฟ้อ แอฟริกาใต้ 5.3% ไทย -1.1 %) อัตราการว่างงานที่สูงขึ้น (ไตรมาสที่ 4 ของปี 2566 อัตราการว่างงาน แอฟริกาใต้ 32.1% ไทย 0.81%) ภาระของหนี้ครัวเรือนสูงขึ้น อัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มสูงขึ้น ความไม่มั่นใจต่อนโยบายรัฐบาล (แอฟริกาใต้จะมีการเลือกตั้งในวันที่ 29 พฤษภาคม 2567) ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ ล้วนกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ทั้งในด้านการบริโภค การลงทุน และการออม
4 เทรนด์พฤติกรรมผู้บริโภคในแอฟริกาใต้
1) การวางแผนการบริโภค : ค่าครองชีพในแอฟริกาเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ผู้บริโภคจึงต้องใช้จ่ายอย่างระมัดระวังและวางแผน ไม่ฟุ่มเฟือย เน้นความคุ้มค่าเป็นหลัก ลดความสำคัญกับคุณภาพ แต่ยังคงให้ตระหนักถึงประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม อาทิ สินค้าออร์แกนิค สินค้าที่ผลิตจากวัสดุรีไซเคิล/ประหยัดพลังงาน ในขณะเดียวกัน ให้ความสำคัญกับสุขภาพ นอกจากนี้ ผู้บริโภคยังมีแนวโน้มใช้สื่อโซเชียลและฟอรั่มออนไลน์ต่างๆเพิ่มขึ้นเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลกับกลุ่มผู้บริโภคที่มีความสนใจร่วมกัน
2) เทคโนโลยีมีบทบาทมากขึ้นในชีวิตประจำวัน : ผู้บริโภคแอฟริกาใต้แสวงหาความสะดวกสบายในการซื้อสินค้าและบริการเพิ่มขึ้น ทำให้ความต้องการชำระเงินผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น และความต้องการใช้บริการขนส่งสินค้าเพิ่มขึ้น เทคโนโลยีจึงมีบทบาทสำคัญในชีวิตประจำวันของผู้บริโภคแอฟริกาใต้เพิ่มขึ้นตามไปด้วย ทั้งการซื้อสินค้า การทำธุรกรรมกับธนาคาร และการติดต่อสื่อสาร ขณะนี้ แฟลตฟอร์มโซเชียลมีเดียไม่เพียงแต่แบ่งปันรูปภาพและอัพเดทเรื่องราว แต่เป็นเครื่องมือสำคัญสำหรับการค้นหา สั่งซื้อ และรีวิว สินค้าและบริการ ดังนั้น แบรนด์ต่างๆจะต้องพัฒนากลยุทธ์ที่จะสร้างความมีส่วนร่วมกับผู้บริโภคบนโซเชิยลมีเดีย สร้างประสบการณ์การซื้อสินค้าและบริการแบบไร้รอยต่อผ่านช่องทางออนไลน์และออฟไลน์ โดยที่ AI จะเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญสำหรับสินค้าอุปโภคบริโภค ที่ผ่านมา การแพร่ระบาดของ โควิด-19 มีส่วนช่วยกระตุ้นการขยายตัวของอีคอมเมิร์ซในแอฟริกาใต้อย่างเห็นได้ชัด ทำให้ผู้บริโภคได้คุ้นเคยและรู้สึกมั่นใจกับการซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์เพิ่มขึ้น
3) การคาดหวังที่จะได้รับประสบการณ์ที่ดี : ผู้บริโภคแอฟริกาใต้ กำลังมองหาประสบการณ์ที่ดีจากสินค้าและแบรนด์ โดยที่เทคโนโลยีที่สร้างสภาพแวดล้อมเสมือน (VR : Virtual Reality) และเทคโนโลยีการรวบรวมหรือผสานระหว่างสภาพแวดล้อมจริง ณ ขณะนั้น เข้ากับวัตถุที่จำลองขึ้นมา (AR: Augmented reality) จะถูกนำมาหล่อหลอมรวมกันในธุรกิจค้าปลีก ดังนั้น ธุรกิจจำเป็นต้องลงทุนในการสร้างประสบการณ์ที่น่าประทับใจให้แก่ผู้บริโภค ซึ่งจะช่วยขับเคลื่อนการขายสินค้าและบริการ ทั้งนี้ เพื่อตอบสนองความต้องการของผุ้บริโภค แบรนด์ต้องเก็บข้อมูลและวิเคราะห์ข้อมูลผู้บริโภคเชิงลึก ซึ่งจะเพิ่มความพึงพอใจของผู้บริโภคและสร้างความภักดีต่อแบรนด์ด้วย ขณะนี้ ผู้บริโภคแอฟริกาใต้คาดหวังที่จะได้รับประสบการณ์ที่ดี จากการใช้จ่ายด้านการท่องเที่ยว การรับประทานอาหาร ความบันเทิง มากกว่าการคาดหวังประสบการณ์ที่เกิดจากการซื้อเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มและสินค้าอิเล็กทรอนิกส์
4) ความต้องการวิถีชีวิตแบบเมือง : การขยายตัวสู่ความเป็นเมือง (Urbanization) ในแอฟริกาใต้กระจายไปยังพื้นที่ต่างๆเพิ่มขึ้น ทำให้ความต้องการสินค้าและบริการในเขตเมืองเพิ่มขึ้นเพื่อตอบสนองต่อวิถีชีวิตผู้บริโภคในเขตเมือง ดังนั้น ธุรกิจต้องใช้เทคนิคการตลาดแบบผสมผสานในการเจาะกลุ่มผู้บริโภค เช่น ขณะนี้ประชากรกำลังอพยพไปยังจังหวัด Western Cape (1 ใน 9 จังหวัดของแอฟริกาใต้ โดยเมืองหลวงของ Western Cape คือ เมืองเคปทาวน์) มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างมาก นำไปสู่ความต้องการสินค้าและบริการที่เพิ่มขึ้นอย่างมากในพื้นที่นี้ นั่นหมายถึงว่า ธุรกิจจะต้องปรับตัวอย่างรวดเร็วเพื่อตอบสนองกับสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่เปลี่ยนไป
ความเห็นของ สคต. : ภายใต้สภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงแบบพลวัตร การเข้าใจและตอบสนองต่อพฤติกรรมของผู้บริโภคและการเปลี่ยนแปลงของเงื่อนไขทางเศรษฐกิจเป็นปัจจัยสำคัญในการอยู่รอดของธุรกิจ สำหรับผู้ส่งออกไทยที่ประสงค์จะส่งออกไปยังแอฟริกาใต้หรือผู้ส่งออกไทยที่ได้ส่งออกไปยังตลาดแอฟริกาใต้แล้ว จำเป็นต้องศึกษาพฤติกรรมของผู้บริโภค สถานการณ์การแข่งขันของสินค้าเป้าหมาย กฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง เพื่อครองใจผู้บริโภคแอฟริกาใต้และสร้างความภักดีในตัวสินค้า/ แบรนด์ สำหรับปี 2566 สินค้าไทยที่ส่งออกไปแอฟริกาใต้ มูลค่ารวมทั้งสิ้น 3,539.81 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (เพิ่มขึ้นร้อยละ 25.40 จากปีก่อน) โดยสินค้ามูลค่าสูงสุด 5 อันดับต้น ได้แก่ (1) รถยนต์/อุปกรณ์และส่วนประกอบ (2) เครื่องยนต์สันดาปภายในแบบลูกสูบและส่วนประกอบ (3) ข้าว (4)เครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่องจักรกล (5) ผลิตภัณฑ์ยาง ตามลำดับ (ประมาณร้อยละ 35, 13, 12, 5 และ 0.4 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดของไทยไปยังแอฟริกาใต้) ทั้งนี้ การส่งออกสินค้าดังกล่าวขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 27.26, 10.76, 40.48, 60.11 และ 12.94 จากปีก่อน ตามลำดับ
ที่มา www.bizcommunity.com
เครดิตภาพ https://skywell.software/
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงพริทอเรีย
e-Mail: main@thaitradeofficesa.co.th