งานแสดงสินค้า ISM (Internationale Süßwarenmesse) เป็นงานแสดงสินค้าประเภทขนมหวานและของว่างที่ใหญ่ที่สุดในโลก จัดเป็นประจำทุกปี ณ เมืองโคโลญ (Köln) ประเทศเยอรมนี โดยมี Koelnmesse GmbH เป็นผู้จัดงาน เริ่มจัดครั้งแรกในปี ค.ศ. 1971 ในปีนี้เป็นการจัดงานครั้งที่ 53 ระหว่างวันที่ 28 – 31 มกราคม 2024 สำหรับเจรจาธุรกิจเท่านั้น (Trade only) บนพื้นที่แสดงสินค้ากว่า 100,000 ตารางเมตร สินค้าที่แสดงในงานประกอบด้วย ขนมหวาน ผลิตภัณฑ์ช็อกโกแลต บิสกิต ขนมขบเคี้ยว ขนมขบเคี้ยวที่ทำจากผักและผลไม้ และไอศกรีม เป็นต้น ผู้จัดงานกล่าวว่า งานแสดงสินค้า ISM 2024 ในปีนี้ ภายใต้ธีมงาน Encourage. Enable. Excite! สามารถดึงดูดผู้เข้าชมงานจำนวนกว่า 30,000 คน จากกว่า 140 ประเทศทั่วโลก ทั้งนี้ มีผู้เข้าชมงานจากต่างประเทศ มากกว่าร้อยละ 70 โดยผู้เข้าชมงานส่วนใหญ่มาจากประเทศในแถบยุโรป อาทิ เบลเยียม สหราชอาณาจักร อิตาลี เนเธอร์แลนด์ สเปน และยูเครน เป็นต้น ผู้เข้าชมงานจากประเทศนอกยุโรป ได้แก่ จีน อิสราเอล ญี่ปุ่น แคนนาดา และสหรัฐอเมริกา เป็นต้น นอกจากนี้ มีผู้เข้าร่วมจัดแสดงสินค้า (Exhibitors) ทั้งสิ้น 1,427 บริษัท จากทั้งหมด 74 ประเทศทั่วโลกและคูหาประเทศต่างๆ รวมทั้งสิ้น 35 คูหา ร่วมแสดงเทรนด์สินค้าปัจจุบัน และสินค้าใหม่ โดยมีผู้เข้าร่วมจัดแสดงสินค้าจากประเทศเยอรมนี จำนวน 172 ราย และจำนวนผู้เข้าร่วมแสดงสินค้าจากต่างประเทศ 1,255 ราย
เทรนด์สินค้าและกิจกรรมที่น่าสนใจภายในงาน
- เทรนด์สินค้า
จากงานแสดงสินค้า ISM แสดงให้เห็นว่าแนวโน้มสินค้าที่มีศักยภาพในปัจจุบันยังคงเน้นขนมที่มีรสชาติดี แต่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ ผลิตจากวัตถุดิบธรรมชาติ เช่น ผลิตภัณฑ์ที่มีโปรตีนสูงหรือมีน้ำตาลต่ำ รวมถึงสินค้าที่มีกระบวนการผลิตแบบยั่งยืน และใช้บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีความคุ้มค่าคุ้มราคา
- ISM Award
จุดเด่นพิเศษของ ISM คือการนำเสนอและประกาศรางวัล ISM Award ซึ่งถือได้ว่าเป็นรางวัลที่มีเกียรติอย่างยิ่งสำหรับบุคคลที่อยู่ในอุตสาหกรรมขนมหวานและขนมขบเคี้ยว โดยปีนี้จัดการประกาศรางวัลขึ้นเป็นครั้งที่ 10 ผู้ที่ได้รับรางวัลนี้คือ คุณเอกชัย เศวตสมภพ กรรมการผู้จัดการบริษัท Sino-Pacific บริษัทนำเข้าผลิตภัณฑ์อาหารและขนมรายใหญ่ที่สุดของไทย ปัจจุบันบริษัทฯ นำเข้าผลิตภัณฑ์เกือบ 70 แบรนด์จากทั่วโลก ก่อตั้งมากว่า 53 ปี ตั้งแต่ปี 1970
- New Product Showcase
นิทรรศการจัดแสดงสินค้านวัตกรรมใหม่ในแวดวงธุรกิจขนมหวานและขนมขบเคี้ยว ซึ่งเป็นอีกหนึ่งจุดเด่นของงานและเป็นแม่เหล็กดึงดูดความสนใจของผู้เข้าชมงานที่มีอำนาจตัดสินใจซื้อ โดยปีนี้จัดขึ้นใน บริเวณ Central Boulevard และออนไลน์บนเว็ปไซต์ของงาน ISM-Cologne มีสินค้าที่นำมาจัดแสดงกว่า 122 ชนิด กฎระเบียบการเข้าร่วมจัดนิทรรศการคือ ต้องเป็นสินค้าใหม่ ที่ยังไม่เคยออกวางตลาดและต้องไม่เคยจัดแสดงในงานแสดงสินค้าใด ๆ มาก่อน อีกทั้งยังมีการจัดประกวดผลิตภัณฑ์ใหม่ดีเด่นประจำปี จำนวน 3 รางวัล (Top 3 innovations of the New Product Showcase) ในปีนี้ผลิตภัณฑ์ที่ได้รับรางวัล ได้แก่
อันดับที่ 1: ChoViva: The world’s first cocoa-free chocolate จากบริษัท Planet A Foods GmbH ประเทศเยอรมนี ผลิตภัณฑ์ช็อกโกแลตปราศกาศโกโก้ (Cocao) โดยใช้ส่วนผสมของข้าวโอ๊ต และน้ำมันจากเมล็ดทานตะวัน เพื่อลดจากทำลายป่าของเกษตรกรจากการปลูกต้นโกโก้ และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน
อันดับที่ 2: UPPA Cacaofruit Bites
Upcycled Cacaofruit Bites จากบริษัท Gudrun Commercial NV ประเทศเบลเยียม เป็นการคิดค้นผลิตภัณฑ์ขนมในรูปแบบใหม่ โดยการใช้เนื้อจากผลโกโก้ที่มักถูกทิ้งในกระบวนการผลิตช็อคโกแลต บรรจุในผลิตภัณฑ์ธรรมชาติที่ย่อยสลายได้ง่าย เพื่อเป็นการลดขยะ และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
อันดับที่ 3: PEZ MyHEAD
จากบริษัท PEZ International GmbH ประเทศออสเตรีย นับเป็นครั้งแรกที่สามารถสร้างเครื่องจ่าย PEZ (ขนมขบเคี้ยวเชอร์เบตรสเปรี้ยว) จากรูปตัวเองได้ เพียงดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน PEZ MyHEAD และอัพโหลดรูปของตัวเองลงในแอปพลิเคชัน ก็สามารถสั่งพิมพ์แบบ 3D ออกแบบเฉพาะตัวส่วนบุคคลได้
- ISM Consumer Award
ปีนี้เป็นปีแรกที่ผู้จัดงาน ร่วมกับ Foodnewsgermany นิตยสารออนไลน์เกี่ยวกับเทรนด์อาหารในเยอรมนี มีผู้ติดตามใน Instagram กว่า 185,000 คน ได้เปิดโอกาสให้ผู้บริโภคร่วมลงคะแนน โดยในปีนี้ผลิตภัณฑ์ที่ได้รับรางวัล ISM Consumer Award 2024 ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ Ja! Neapolitaner Wafers with ChoViva – Concentrate แบรนด์ Ja จากประเทศเยอรมนี ซึ่งเป็นขนมเวเฟอร์สอดไส้ช็อคโกแลตข้าวโอ๊ตและน้ำมันดอกทานตะวัน ผสมกับถั่วเฮเซลนัท ซึ่งปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในกระบวนการผลิตต่ำกว่าเมื่อเทียบกับโกโก้แบบดั้งเดิม
สถานการณ์ของธุรกิจอุตสาหกรรมขนมในเยอรมนี
อุปทานปริมาณการบริโภคขนมของชาวเยอรมันในปี 2023 (ปริมาณการผลิต + การนำเข้า – การส่งออก) มีจำนวน 2.6 ล้านตัน ลดลงเล็กน้อยร้อยละ 0.3 เมื่อเทียบกับปี 2022 โดยมีมูลค่ายอดขายในประเทศ 9.9 พันล้านยูโร (+11.9% เมื่อเทียบกับปี 2022) คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 7.4 ของยอดขายสินค้าอาหารทั้งหมดในเยอรมนี ซึ่งหากเจาะลึกลงไปที่ปริมาณการผลิตสินค้าขนมในเยอรมนีปี 2023 พบว่า มีปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้นเป็น 4.2 ล้านตัน (+2.2% เมื่อเทียบกับปี 2022) คิดเป็นมูลค่า 16.1 พันล้านยูโร (+13.3% เมื่อเทียบกับปี 2022) อย่างไรก็ตาม การส่งออกยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ธุรกิจอุตสาหกรรมขนมในเยอรมนีเติบโตขึ้น ถึงแม้จะมีปัญหาห่วงโซ่อุปทานทั่วโลกแต่ปริมาณการส่งออกขนมและของว่างในเยอรมนีเติบโตขึ้นถึงร้อยละ 4 เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว คิดเป็นปริมาณ 2.5 ล้านตัน ทำให้มูลค่าการส่งออกในปี 2023 เท่ากับ 12.2 พันล้านยูโร (+14.2% เมื่อเทียบกับปี 2022) โดยมูลค่าการส่งออกร้อยละ 70 จะอยู่ที่ตลาดในสหภาพยุโรป นอกจากนั้นจะถูกส่งออกไปยังตลาดประเทศที่สาม ได้แก่ สหรัฐอเมริกา อังกฤษ ออสเตรเลีย แคนาดา อิสราเอล และตุรกี เป็นต้น
สินค้าขนมที่มียอดการผลิตสูงสุด 4 อันดับแรก ในประเทศเยอรมนี ได้แก่
- ผลิตภัณฑ์ช็อกโกแลตและโกโก้
มีปริมาณการผลิตสินค้าช็อกโกแลตทั้งหมด 2.04 ล้านตัน (+2.3% เมื่อเทียบกับปี 2022) คิดเป็นมูลค่าการผลิต 7.96 พันล้านยูโร (+11.3% เมื่อเทียบกับปี 2022) นอกจากนี้ การนำเข้าสินค้าช็อกโกแลตเพิ่มขึ้นเล็กน้อยสำหรับปี 2023 จำนวน 845,000 ตัน (+4.9%) มูลค่า 4.09 พันล้านยูโร (+16%) - ผลิตภัณฑ์ขนมอบ
มีปริมาณการผลิตเติบโตขึ้นเล็กน้อยในปี 2023 (+0.6% เมื่อเทียบกับปี 2022) คิดเป็นปริมาณทั้งสิ้นประมาณ 760,000 ตัน และมีมูลค่าการผลิต 2.8 พันล้านยูโร (+17.9% เมื่อเทียบกับปี 2022) นอกจากนี้ ปริมาณการนำเข้าขนมอบลดลงเล็กน้อยสำหรับปี 2023 จำนวน 290,000 ตัน (-1.8% เมื่อเทียบกับปี 2022) คิดเป็นมูลค่าการนำเข้า 1.14 พันล้านยูโร (+15% เมื่อเทียบกับปี 2022) - ผลิตภัณฑ์ลูกอมและลูกกวาด
มีปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้นขึ้นเล็กน้อยในปี 2023 คิดเป็นปริมาณทั้งสิ้นประมาณ 674,000 ตัน (+3.7% เมื่อเทียบกับปี 2022) มีมูลค่าประมาณ 2.15 พันล้านยูโร (เพิ่มขึ้น +15.8% เมื่อเทียบกับปี 2022) นอกจากนี้ ปริมาณการนำเข้าสินค้าประเภทนี้ลดลงในปี 2023 จำนวน 290,000 ตัน (-16.8% เมื่อเทียบกับปี 2022) คิดเป็นมูลค่า 1.69 พันล้านยูโร (+15.5% เมื่อเทียบกับปี 2022) - ผลิตภัณฑ์ขนมขบเคี้ยว
มีปริมาณการผลิตประมาณ 360,000 ตัน ลดลงเล็กน้อยจากปีที่ผ่านมาร้อยละ 1.5 อย่างไรก็ตาม หากเทียบกับมูลค่าการผลิตจะเห็นได้ว่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.8 คิดเป็นมูลค่า 1.99 พันล้านยูโร ทั้งนี้ สำหรับการนำเข้าสินค้าขนมขบเคี้ยวมีการเติบโตเชิงบวกในปี 2022 โดยมีปริมาณการนำเข้าลดลงร้อยละ 4.8 จำนวน 191,000 ตัน และมูลค่าการนำเข้า 740 ล้านยูโร เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.6 เมื่อเทียบกับปี 2022
ความท้าทายของอุตสาหกรรมขนมหวานในเยอรมนี
สมาพันธ์สมาคมอุตสาหกรรมขนมหวานแห่งเยอรมนี – Bundesverband der deutschen Süßwarenindustrie e.V. (BDSI) รายงานว่า บริษัทในอุตสาหกรรมขนมหวานของเยอรมนีกำลังเผชิญกับความตึงเครียดด้านต้นทุนการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้นมาก เช่น ต้นทุนวัตถุดิบ ค่าแรงงาน ค่าขนส่ง และค่าบรรจุภัณฑ์ ตลอดจนประเด็นด้านความยั่งยืน และการปกป้องสิ่งแวดล้อม ก็กำลังเป็นประเด็นบริษัทในอุตสาหกรรมนี้กำลังร่วมมือกันพัฒนากันอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม แม้ว่ายอดขายสินค้าขนมในเยอรมนีในปี 2023 จะเพิ่มสูงขึ้นมากกว่าปีที่ผ่านมา อันเนื่องมาจากอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น ทำให้ราคาสินค้าแพงขึ้น และมูลค่าการส่งออกเพิ่มสูงขึ้น แต่ก็ยังไม่สามารถครอบคลุมต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้นได้มากนัก
การเพิ่มขึ้นของต้นทุนการผลิตทั้งในส่วนของวัตถุดิบ ค่าพลังงาน ค่าขนส่ง ค่าบรรจุภัณฑ์ รวมถึงการขาดแคลนแรงงานฝ่ายผลิตที่ยังคงเป็นปัญหาใหญ่ในปัจจุบันของอุตสาหกรรมของหวานในเยอรมนี ทั้งนี้ Mr. Bastian Fassin ประธาน BDSI ได้เน้นย้ำว่าบริษัทต่างๆ ในอุตสาหกรรมขนมหวานของประเทศเยอรมนีนอกจากจะต้องแบกรับปัญหาเรื่องต้นทุนที่สูงขึ้นแล้ว ก็ยังจะต้องแบกรับภาระอย่างหนักจากการปรับเปลี่ยนกฎระเบียบเพิ่มเติมจากสหภาพยุโรป และรัฐบาลกลางของเยอรมนีที่ยังไม่สามารถปฏิบัติตามได้โดยเฉพาะในส่วนของบริษัทขนาดกลาง และขนาดเล็ก จึงได้มีการเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งมือแก้ปัญหาราคาพลังงานซึ่งเป็นต้นทุนหลักของอุตสาหกรรมทั่วประเทศให้มีเสถียรภาพ รวมทั้งปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ปัญหาเรื่องการขนส่ง และการเปลี่ยนเข้าสู่ระบบดิจิตอล
การขาดแคลนแรงงานยังทวีความรุนแรงมากขึ้นในบริษัทขนาดกลาง ซึ่งมีจำนวนมากกว่า 200 บริษัท และจำนวนพนักงานกว่า 60,000 คน โดยบริษัทส่วนใหญ่ในอุตสาหกรรมขนมของเยอรมนีรายงานว่ากำลังประสบปัญหาการขาดแคลดแรงงาน โดยเฉพาะงานในตำแหน่งระดับปฏิบัติการสายการผลิตที่ไม่ได้ต้องการการฝึกอบรมใดๆ และอีกกว่าร้อยละ 50 ของบริษัทในอุตสาหกรรมขนมหวานของเยอรมนีประสบปัญหาในการหาในการหาแรงงานที่เหมาะสม ทั้งนี้ รัฐบาลกลางเยอรมนีกำลังปรับกฎระเบียบใหม่สำหรับการอพยพของคนงานมาจากต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม ควรต้องคำนึงถึงความต้องการแรงงานที่บริษัทต่างๆต้องการ รวมถึงควรลดขั้นตอนการยื่นขออนุญาตนำเข้าแรงงานเพื่อให้แรงงานได้เข้ามาทำงานได้อย่างรวดเร็วและทันเวลา อุตสาหกรรมขนมหวานของเยอรมันไม่เพียงต้องการแรงงานที่มีทักษะจากต่างประเทศเท่านั้น แต่ยังต้องการแรงงานอย่างเร่งด่วนสำหรับสายการผลิตอีกด้วย
ข้อคิดเห็นของ สคต. แฟรงก์เฟิร์ต
- จากพฤติกรรมของผู้บริโภคชาวเยอรมันที่เน้นการดูแลสุขภาพ และรักษาสิ่งแวดล้อม สินค้าที่ผู้ประกอบการจะนำมาเสนอขายในเยอรมนีควรเน้นส่วนผสมที่มีความเป็นธรรมชาติ เช่น กลิ่น สี และรสชาติ รวมถึงให้พลังงานต่ำหรือปราศจากน้ำตาล ดังนั้นผู้ประกอบการไทยควรให้ความสำคัญกับส่วนประกอบที่ใช้ในกระบวนการผลิตที่อาจนำวัตถุดิบธรรมชาติของไทยมาประยุกต์เป็นส่วนผสม และสร้างจุดขายของผลิตภัณฑ์ อีกทั้งควรใช้ขั้นตอนกรรมวิธีในการผลิตที่ยั่งยืน เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การใช้แรงงานอย่างเป็นธรรม และมีกระบวนการผลิตที่ได้รับการรับรองตามมาตรฐานสากล ซึ่งถือว่าเป็นการเพิ่มโอกาสทางการแข่งขันในตลาดเยอรมนีและยุโรปในปัจจุบันได้เป็นอย่างดี อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการควรศึกษาแนวโน้มตลาดเพื่อคิดค้น ต่อยอด ปรับปรุงผลิตภัณฑ์ให้ตอบโจทย์ตลาดในด้านอื่น ๆ ด้วย เช่น บรรจุภัณฑ์จากวัสดุธรรมชาติย่อยสลายง่าย สินค้าวีแกน หรือสินค้าออร์แกนิก เป็นต้น
- ผู้ประกอบการสามารถเข้าร่วมงานแสดงสินค้าเพื่อศึกษาแนวโน้มตลาด และเพิ่มโอกาสในการขยายตลาดและพบผู้นำเข้าจากประเทศเยอรมนี รวมทั้งประเทศอื่นๆ ในแถบทวีปยุโรป โดยงานแสดงสินค้าที่น่าสนใจ ได้แก่
- งานแสดงสินค้า ISM (International Süßwarenmesse) เป็นงานแสดงสินค้าประเภทขนมหวาน และของว่างที่ใหญ่ที่สุดในโลก จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ณ เมืองโคโลญ ประเทศเยอรมนี
- งานแสดงสินค้า ANUGA เป็นงานแสดงสินค้าอาหารที่เป็นที่รู้จักทั่วโลก จัดขึ้นเป็นประจำทุก 2 ปี ณ เมืองโคโลญ ประเทศเยอรมนี
ที่มา:
Bundesverband der deutschen Süßwarenindustrie e.V. (BDSI)
www.ism-cologne.com