ที่มา : สำนักข่าว Bernama
รัฐบาลมาเลเซียเร่งรัดโครงการการปลูกข้าวอัจฉริยะ (Smart SBB) โดยขยายพื้นที่ทางทำการเกษตรแบบ Smart Farming ทั่วประเทศเพื่อตอบสนองความต้องการบริโภคในประเทศที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
Datuk Seri Mohamad Sabu รัฐมนตรีกระทรวงเกษตรและความมั่นคงด้านอาหารกล่าวว่าโมเดลการทำฟาร์มแบบใหม่ที่นำมาใช้ที่ Kampung Lat 1000 รัฐเปอร์ลิส ภายใต้คณะกรรมการพัฒนาการเกษตรของมาเลเซีย (Mada) จะถูกขยายไปยังพื้นที่อื่นๆ ทั่วประเทศรวมถึงในรัฐซาบาห์และซาราวัก ภายใต้โครงการดังกล่าวจะส่งผลให้การผลิตข้าวจะสามารถเพิ่มขึ้นจาก 7 เมตริกตันต่อเฮกตาร์เป็น 10.45 เมตริกตันต่อเฮกตาร์
ในขณะที่การผลิตข้าวในรัฐซาบาห์และซาราวักในปัจจุบันยังไม่เพียงพอต่อความต้องการบริโภคของประชากร รัฐบาลมาเลเซียมั่นใจว่าในระยะยาว ทั้งสองรัฐไม่เพียงสามารถตอบสนองความต้องการในประเทศของตนได้เท่านั้น สามารถส่งออกข้าวไปยังรัฐอื่นๆ และประเทศใกล้เคียงได้อีกด้วย
โครงการ Smart SBB เปิดตัวในเดือนพฤษภาคม 2565 จากความคิดริเริ่มของรัฐบาลในการพัฒนาพื้นที่เพาะปลูกข้าวโดยการใช้ที่ดินให้เกิด ประโยชน์สูงสุด และเพิ่มประสิทธิภาพของการผลิตข้าว โดยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเข้ามาเสริมศักยภาพในการทำการเกษตรโดยเฉพาะการผลิตข้าวของประเทศเพื่อรับประกันความมั่นคงด้านอาหารและเพิ่มรายได้ของเกษตรกรผู้ปลูกข้าวในประเทศ ปัจจุบันโครงการดังกล่าวได้ดำเนินการไปแล้วเกือบทั่วประเทศ โดยมีเกษตรกรเกือบ 10,000 ราย และครอบคลุมพื้นที่นาข้าวกว่า 26,000 เฮคเตอร์
Datuk Seri Mohamad Sabu รัฐมนตรีฯ ยังแสดงความต้องการที่จะร่วมมือกันอย่างมีประสิทธิภาพระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมด รวมถึงกระทรวงฯ และผู้ปลูกข้าวที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมข้าวของประเทศเพื่อให้แน่ใจว่าการดำเนินโครงการจะประสบความสำเร็จและมีประสิทธิผลตามที่วางไว้
บทวิเคราะห์ผลกระทบ
รัฐบาลมาเลเซียกำลังเร่งรัดโครงการการปลูกข้าวอัจฉริยะ Smart SBB ต้องการให้โครงการดังกล่าว ดำเนินไปตามแผนที่วางไว้อย่างจริงจังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและเป็นการรับประกันความมั่นคงด้านอาหารของประเทศที่รัฐบาลให้ความสำคัญอย่างมากหลังจากที่ประเทศอินเดียระงับการส่งออกข้าวขาวเนื่องจากภาวะภูมิอากาศที่ส่งผลกระทบต่อกำลังการผลิตข้าวของประเทศอินเดีย มาเลเซียที่พึ่งพาการนำเข้าข้าวขาวจากประเทศอินเดียจึงเร่งการดำเนินโครงการดังกล่าวเพื่อรับประกันความมั่นคงด้านอาหารของประเทศ อย่างไรก็ตาม การดำเนินโครงการดังกล่าวจำเป็นที่จะต้องพึ่งพาการนำเข้าเทคโนโลยีทางการเกษตรจากต่างประเทศเพื่อปรับโครงสร้างและพัฒนาเกษตรกรรมของมาเลเซีย ซึ่งประเทศไทยมีทรัพยากร เทคโนโลยี และนวัตกรรมที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการในการดำเนินโครงการ Smart SBB ของมาเลเซียได้เป็นอย่างดี อีกทั้ง มาเลเซียมีสนใจนำเข้าสินค้ากลุ่มอาหารและเครื่องดื่มของไทยเพื่อรักษาความมั่นคงด้านอาหารของประเทศอีกด้วย
ความคิดเห็น สคต.
สำนักงานฯ มองว่าการดำเนินโครงการการปลูกข้าวอัจฉริยะ Smart SBB ของรัฐบาลมาเลเซียถือเป็นโอกาสอันดีที่ผู้ประกอบการไทยในกลุ่มเทคโนโลยีการเกษตรและ Smart Farming ที่จะส่งออกผลิตภัณฑ์ นวัตกรรม และองค์ความรู้ด้านการเกษตรมายังประเทศมาเลเซีย โดยเฉพาะรัฐซาบาห์และซาราวักซึ่งในปัจจุบันกำลังการผลิตด้านอาหารยังไม่เพียงพอต่อความต้องการบริโภคของประชากร อีกทั้ง สินค้าในกลุ่มอาหารและเครื่องดื่มยังมีตัวเลือกไม่มากนักในตลาด ซึ่งถือเป็นโอกาสอันดีที่สินค้าไทยจะสามารถทำตลาดและประสบความสำเร็จในการส่งออกได้ไม่ยาก อีกทั้ง รัฐซาบาห์และซาราวักยังเป็นประตูสู่ภูมิภาค BIMP-EAGA ที่ผู้ประกอบการสามารถต่อยอดในการขยายตลาดได้ในอนาคต
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์