เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2567 ศ.ดร. จ้าวชุนซาน ผู้อำนวยการสถาบันบัณฑิตศึกษาด้านเอเชียตะวันออกศึกษา (Graduate Institute of East Asian Studies) ของมหาวิทยาลัย National Cheng Chi University ในไต้หวัน ได้กล่าวในงานสัมมนา “แนวโน้มความสัมพันธ์ระหว่างจีน-ไต้หวันหลังการเลือกตั้ง” หลังจากนายไล่ชิงเต๋อ ผู้สมัครจากพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า หรือ DPP ซึ่งเป็นพรรครัฐบาลในปัจจุบัน ได้รับการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีของไต้หวันเมื่อวันที่ 13 มกราคม 2567 ว่า ผลการเลือกตั้งในครั้งนี้ ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างจีน-ไต้หวันจะมีแนวโน้มไปสู่การเผชิญหน้ากันอย่างเด่นชัดมากขึ้น และคาดว่าก่อนการประชุมสมัชชาใหญ่แห่งพรรคคอมมิวนิสต์จีนครั้งที่ 21 ที่จะมีขึ้นในอีก 4 ปีข้างหน้า นายสีจิ้นผิง ประธานาธิบดีจีนจะได้รับแรงกดดันมากขึ้นจากภาคประชาชนที่ต้องการเห็นการรวมประเทศ ทำให้ต้องออกมาตรการเพื่อผ่อนคลายแรงกดดันนี้อย่างแน่นอน ส่วนความขัดแย้งทางการทหารจะเป็นเรื่องระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ในด้านเศรษฐกิจ จีนยังมีมาตรการที่ใช้กับไต้หวันได้อีกหลายอย่าง และคาดว่าในเร็วๆ นี้ จีนน่าจะมีมาตรการที่ชัดเจนมากขึ้นเกี่ยวกับความตกลงกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจ หรือ Economic Cooperation Framework Agreement ที่ปัจจุบัน ไต้หวันได้รับประโยชน์จากการลดหรือยกเลิกภาษีนำเข้าในสินค้า Early Harvest ซึ่งได้แก่ สินค้าเกษตร 18 รายการ สินค้าปิโตรเคมี 88 รายการ สินค้ายานยนต์และชิ้นส่วน 50 รายการ สินค้าเครื่องจักรกลและชิ้นส่วน 107 รายการ สินค้าสิ่งทอ 136 รายการ และสินค้าอื่นๆ 140 รายการ รวมทั้งสิ้น 521 รายการ ซึ่งปัจจุบันจีนได้ยกเว้นภาษีนำเข้าให้กับไต้หวัน โดยจีนได้ดำเนินการไต่สวนอุปสรรคทางการค้า (Trade Barrier Investigation) ที่ไต้หวันมีต่อจีน และประกาศเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2566 ว่า ไต้หวันทำผิดระเบียบของ WTO และชี้ว่า ผลการดำเนินการตามความตกลงกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจดังกล่าว ไม่ได้รับผลดีอย่างที่คาดการณ์ไว้ พร้อมทั้งประกาศยกเลิกสิทธิประโยชน์ด้านภาษีในสินค้าปิโตรเคมี 12 รายการ ซึ่งทำให้เกิดความวิตกกังวลว่า จีนอาจยกเลิกสิทธิประโยชน์ทางภาษีในสินค้าอื่นๆ ที่ให้กับไต้หวันอีก โดยเฉพาะในกลุ่มของเครื่องจักรกลและชิ้นส่วน โดยตัวแทนของสมาคม Taiwan Association of Machinery Industry ได้ออกมาแสดงความกังวลว่า หากจีนยกเลิกสิทธิประโยชน์จริง อัตราภาษีในสินค้าเครื่องจักรกลและชิ้นส่วนจะเพิ่มจากร้อยละ 0-5 เป็นร้อยละ 9-15 ซึ่งจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมเครื่องจักรกลของไต้หวันในทันที เพราะสินค้าที่เกี่ยวข้องซึ่งส่งออกไปจีนโดยได้สิทธิประโยชน์จากข้อตกลงนี้คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 9.6 ของมูลค่าส่งออกทั้งหมดของสินค้าในหมวดนี้ไปทั่วโลก ซึ่งจะส่งผลให้เกิดความเสียหายคิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 10,000 ล้านบาท
ผู้เชี่ยวชาญในงานสัมมนาดังกล่าวเห็นว่า ความสัมพันธ์จีน-ไต้หวัน ยังมีปัจจัยแห่งความไม่แน่นอนในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ – จีน และต้องรอดูท่าทีของนายไล่ชิงเต๋อจากสุนทรพจน์ในวันรับตำแหน่งประธานาธิบดีว่า จะเป็นไปในทิศทางใด รวมถึงผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่กำลังจะมีขึ้นในเดือนพฤศจิกายน 2567 นี้ แต่ไม่ว่าจะอย่างไร หลังจากนี้ ความผันผวนด้านภูมิรัฐศาสตร์ของโลกจะส่งผลให้เกิดแรงกดดันอย่างสูงต่อไต้หวันอย่างแน่นอน โดยผู้เชี่ยวชาญฯ เรียกร้องให้นายไล่ชิงเต๋อ หันมาเปิดการเจรจากับจีนเพื่อลดความตึงเครียดและหาวิธีในการสร้างผลประโยชน์ร่วมกันต่อไป
ที่มา: Commercial Times / Economic Daily News (January 14, 2567)
ข้อเสนอแนะ/ความคิดเห็นของ สคต.
แม้พรรคประชาธิปไตยก้าวหน้าจะสามารถชนะการเลือกตั้งตำแหน่งผู้นำของไต้หวัน และได้รับสิทธิ์ในการจัดตั้งรัฐบาล แต่ DPP กลับไม่ได้เสียงข้างมากในสภา (พรรคก๊กมินตั๋งที่เป็นฝ่ายค้านได้รับเลือก 52 เสียง พรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า 51 เสียง และพรรคประชาชนไต้หวัน 8 เสียง จากทั้งสิ้น 113 เสียง) จะทำให้พรรคประชาธิปไตยก้าวหน้าขาดเสถียรภาพในการทำงานและไม่สามารถผลักดันกฎหมายต่างๆ ได้อย่างสะดวกเหมือนกับในช่วง 8 ปีของรัฐบาลไช่อิงเหวินที่พรรคฯ สามารถกุมเสียงข้างมากในสภาได้แบบเบ็ดเสร็จ จึงอาจเป็นอุปสรรคสำคัญในการบริหารประเทศ แต่เมื่อมองจากจุดยืนทางการเมืองของพรรคประชาชนไต้หวันที่ถือเป็นตัวแปรสำคัญ เนื่องจากกุมคะแนนเสียงที่เหลืออีก 8 เสียง ในขณะที่พรรครัฐบาลและฝ่ายค้านมีคะแนนเสียงใกล้เคียงกัน นโยบายส่วนใหญ่ของพรรคประชาชนไต้หวันจะเอนเอียงมาทางด้านพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า ยกเว้นในส่วนที่เกี่ยวข้องกับจีน ที่จะโอนเอียงมาทางพรรคก๊กมินตั๋งมากกว่า กล่าวคือ ไม่ต้องการสร้างความขัดแย้ง หรือเผชิญหน้ากับจีน จึงทำให้เสียงของพรรคที่ 3 อาจสามารถเป็นเสียงที่ช่วยถ่วงดุลอำนาจระหว่างรัฐบาลและฝ่ายค้าน มิให้เอนเอียงไปด้านใดด้านหนึ่งได้เป็นอย่างดี
ในส่วนของไทยและกลุ่มประเทศอาเซียนน่าจะยังคงได้รับประโยชน์จากความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ในด้านการลงทุน ที่ผ่านมากลุ่มผู้ประกอบการในอุตสาหกรรม PCB ของไต้หวันและจีน ต่างก็ได้มีการย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศไทย เพื่อเป็นทางเลือกในการผลิตสินค้าป้อนให้กับห่วงโซ่อุปทานของฝ่ายตะวันตก จึงคาดว่ามูลค่าการลงทุนจากไต้หวันในไทยจะมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในด้านการค้า จับตาดูปฏิกริยาของจีนที่อาจตอบโต้ไต้หวันด้วยการยกเลิกสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่ให้กับไต้หวันภายใต้กรอบความตกลงความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ซึ่งจะทำให้ไทยได้รับประโยชน์ในการส่งออกไปยังตลาดจีนทดแทนไต้หวัน