จับตาธุรกิจค้าปลีกอิตาลีอยู่ในภาวะหดตัว

จากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติของอิตาลี (ISTAT) เปิดเผยว่า เดือนกันยายน 2566 ยอดค้าปลีกในอิตาลีอยู่ในภาวะหดตัว ซึ่งมีมูลค่าลดลง 0.3% และมีปริมาณลดลง 0.6% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า โดยปัจจัยที่ส่งผลต่อการหดตัวลดลงดังกล่าวมีผลมาจากยอดค้าปลีกของผลิตภัณฑ์อาหารที่มีมูลค่าลดลง 0.2% และมีปริมาณลดลง 0.6% รวมถึงยอดค้าปลีกของผลิตภัณฑ์ที่ไม่ใช่อาหารที่มีมูลค่าลดลง 0.5% และมีปริมาณลดลง 0.6% แต่เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของเดือนกันยายน 2565 พบว่า ยอดค้าปลีกมีมูลค่าเพิ่มขึ้น 1.3% ในขณะที่ปริมาณกลับลดลง 4.4% โดยยอดค้าปลีกของผลิตภัณฑ์อาหารมีมูลค่าเพิ่มขึ้น 5.5% และมีปริมาณลดลง 3.1% และยอดค้าปลีกของผลิตภัณฑ์ที่ไม่ใช่อาหารมีมูลค่าและปริมาณลดลง 1.8% และ 5.2% ตามลำดับ
จับตาธุรกิจค้าปลีกอิตาลีอยู่ในภาวะหดตัว
สำหรับไตรมาส 3 ปี 2566 ยอดค้าปลีกมีมูลค่าไม่เปลี่ยนแปลง ในขณะที่มีปริมาณลดลง 1.3% เมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ปี 2566 โดยยอดค้าปลีกของผลิตภัณฑ์อาหารมีมูลค่าเพิ่มขึ้น 0.8% แต่มีปริมาณลดลง 3.1% รวมถึงยอดค้าปลีกของผลิตภัณฑ์ที่ไม่ใช่อาหารมีมูลค่าลดลง 0.6% และมีปริมาณลดลง 1.4% ซึ่งจะเห็นว่ายอดค้าปลีกมีปริมาณลดลงทั้งผลิตภัณฑ์อาหารและไม่ใช่อาหาร อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาจากแนวโน้มยอดจำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารและผลิตภัณฑ์ที่ไม่ใช่อาหาร ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2566 (มกราคม – กันยายน) พบว่า ยอดค้าปลีกมีมูลค่าเพิ่มขึ้น 3.7% และมีปริมาณลดลง 3.9% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2565 โดยยอดค้าปลีกของผลิตภัณฑ์อาหารมีมูลค่าเพิ่มขึ้น 6.7% และมีปริมาณลดลง 4.4% ในขณะที่ ยอดค้าปลีกของผลิตภัณฑ์ที่ไม่ใช่อาหารมีมูลค่าเพิ่มขึ้น 1.4% และมีปริมาณลดลง 3.5%
หากจะพิจารณาถึงช่องทางการจำหน่ายสินค้าต่าง ๆ ในอิตาลี ในเดือนกันยายน 2566 เมื่อเทียบกับเดือนกันยายน 2565 พบว่า มูลค่าการขายปลีกในศูนย์กระจายสินค้าขนาดใหญ่มีการเติบโตถึง 4.0% และยอดขายบนแผงลอยริมถนนเติบโต 1.6% ในขณะที่ ทั้งยอดขายของธุรกิจที่ดำเนินกิจการในพื้นที่ขนาดเล็ก ตึกแถวหดตัวลดลง 1.2% และอีคอมเมิร์ซหดตัวลดลง 2.6% แต่เมื่อเทียบกับในช่วง 9 เดือนแรกของ ปี 2565 (มกราคม – กันยายน) พบว่า มูลค่าการขายปลีกในศูนย์กระจายสินค้าขนาดใหญ่มีการเติบโตถึง 6.0% ยอดขายบนแผงลอยริมถนนเติบโต 2.1% รวมถึงยอดขายของธุรกิจที่ดำเนินกิจการในพื้นที่ขนาดเล็ก ตึกแถว เติบโต 0.9% และอีคอมเมิร์ซเติบโต 2.3%
จับตาธุรกิจค้าปลีกอิตาลีอยู่ในภาวะหดตัว
โดยพบว่ามูลค่าการขายปลีกผลิตภัณฑ์อาหารในศูนย์กระจายสินค้าขนาดใหญ่ที่มีการขยายตัวเพิ่มมากที่สุดในเดือนกันยายน 2566 เทียบกับเดือนกันยายน 2565 คือ ซูเปอร์มาร์เก็ต (6.8%) รองลงมา ได้แก่ ซูเปอร์มาร์เก็ต Discount (6.3%) และไฮเปอร์มาร์เก็ต (5.1%) ในขณะที่ ช่วง 9 เดือนแรกของปี 2566 (มกราคม – กันยายน) พบว่า ซูเปอร์มาร์เก็ต Discount ขยายตัวเพิ่มมากที่สุด (9.2%) รองลงมา ได้แก่ ซูเปอร์มาร์เก็ต (7.5%) และไฮเปอร์มาร์เก็ต (6.3%) เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า
หากจะพิจารณาในกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ไม่ใช่อาหารพบว่า เดือนกันยายน 2566 เทียบกับเดือนกันยายน 2565 ผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าการจำหน่ายสูงสุด คือ ผลิตภัณฑ์น้ำหอมและผลิตภัณฑ์ดูแลส่วนบุคคลเพิ่มขึ้น (+5.3%) รองลงมา ได้แก่ สินค้าใช้ในบ้านแบบคงทนและไม่คงทน (+1.6%) และของเล่น สินค้าด้านกีฬา และกิจกรรมกางเต็นท์ (+0.7%) ในขณะที่เครื่องใช้ไฟฟ้า วิทยุ โทรทัศน์ และเครื่องบันทึก ลดลงอย่างมีนัยสำคัญที่สุด (-7.9%) รองลงมา ได้แก่ ด้านเทคโนโลยี (-5.3%) และเครื่องแต่งกายและเครื่องนุ่งห่มทำจากขนสัตว์ (-4.7%)
จับตาธุรกิจค้าปลีกอิตาลีอยู่ในภาวะหดตัว
จากการคาดการณ์สถานการณ์การใช้จ่ายของครอบครัวในอิตาลีของสมาคมเพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อมและสิทธิของผู้ใช้และผู้บริโภค (Codacons) พบว่า อัตราเงินเฟ้อที่ยังคงสูงอยู่ส่งผลให้ปริมาณการใช้จ่ายของครอบครัวในอิตาลีลดลงรวมกว่า 35.7 พันล้านยูโรต่อปี หรือคิดเฉลี่ยลดลง 1,386 ยูโร/ปี/ครอบครัว ถึงแม้การลดลงของอัตราเงินเฟ้อของเดือนที่ผ่านมาอาจจะไม่ได้ช่วยด้านการค้าแต่ก็ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อปริมาณการใช้จ่ายของครอบครัวในอิตาลี อย่างไรก็ตาม พบว่าสินค้าที่ครอบครัวในอิตาลียังคงมีการจับจ่ายซื้อมากที่สุด ยังคงประสบปัญหาของราคาที่เพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก ถึงแม้มาตรการการช่วยเหลือของรัฐบาลในขณะนี้ยังคงไม่เกิดประสิทธิผลสูงสุด แต่ Codacons หวังเป็นอย่างยิ่งว่า รัฐบาลจะพิจารณาใช้มาตรการที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อเป็นการสกัดการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้า และสนับสนุนการบริโภคของครอบครัวในอิตาลีให้กลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง
ความคิดเห็นของ สคต. มิลาน
จากข้อมูลดังกล่าวข้างต้นแสดงให้เห็นว่า ธุรกิจค้าปลีกอิตาลีในเดือนกันยายน 2566 หดตัวลดลง โดยเฉพาะปริมาณยอดขายที่มีการหดตัวลดลงทั้งผลิตภัณฑ์อาหารและไม่ใช่อาหาร ซึ่งแสดงให้เห็นว่ากำลังซื้อซบเซาตามภาวะเศรษฐกิจในประเทศที่กำลังเข้าสู่ภาวะถดถอยตามสถานการณ์เศรษฐกิจโลก สอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในอิตาลีเดือนกันยายน 2566 ลดลงอยู่ที่ระดับ 105.4 (จากระดับ 106.5 ในเดือนสิงหาคม 2566) โดยในปี 2566 ยอดขายของธุรกิจค้าปลีกอิตาลีอาจมีแนวโน้มที่ปรับตัวดีขึ้น หากมีมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายจากภาครัฐในการสนับสนุนการบริโภคของครอบครัวในอิตาลีโดยเฉพาะช่วงเทศกาลเฉลิมฉลองที่กำลังจะมาถึง การขยายตัวของโครงการการลงทุนของภาครัฐ และการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศยุโรปใกล้เคียง อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันการแข่งขันของธุรกิจค้าปลีกอิตาลีมีการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยควรต้องเร่งปรับกลยุทธ์ให้ทันกับพฤติกรรมของผู้บริโภคและการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว เพื่อรักษากลุ่มลูกค้าเดิมและขยายกลุ่มลูกค้าใหม่ๆ เพื่อขยายฐานรายได้ในอิตาลีให้เพิ่มขึ้น
——————————————————————-
ที่มา: Commercio al dettaglio in difficoltà: vendite in calo sia in valore che in volume – Il Sole 24 ORE, https://www.istat.it/it/archivio/290256

thThai