จากข้อมูลของธนาคารแห่งชาติอิตาลี (Banca d’Italia) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างประเทศที่ยังคงดำเนินต่อไป ไม่ว่าจะเป็นความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครนที่ยังคงยืดเยื้อ สงครามระหว่างอิสราเอล-ปาเลสไตล์ (กลุ่มฮามาส) ยังคงเดินหน้าอย่างรุนแรง ราคาพลังงานที่อาจปรับเพิ่มขึ้น และความกังวัลต่อภาวะเงินเฟ้อที่อาจกลับมาปรับตัวเพิ่มขึ้นอีกครั้ง ซึ่งปัจจัยเหล่านี้กำลังส่งผลให้สถานการณ์เศรษฐกิจอิตาลีและระดับโลกตกอยู่ในสถานะที่ยากลำบาก แต่ในขณะที่ แคว้นลอมบาร์เดีย (ถือเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจที่สำคัญที่สุดของอิตาลี) อาจจะยังคงรักษาอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจให้สูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศได้ในปี 2566 ถึงแม้ว่าจะชะลอตัวเมื่อเทียบกับปี 2565 โดยในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2566 ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของแคว้นลอมบาร์เดีย (Regione Lombardia) เพิ่มขึ้นอยู่ที่ 1.3% แต่ยังคงแสดงให้เห็นถึงการเติบโตที่ชะลอตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2565
จากข้อมูลของธนาคารแห่งชาติอิตาลี ระบุว่า เศรษฐกิจแคว้นลอมบาร์เดียยังคงเติบโตอย่างรวดเร็วในปี 2565 อยู่ที่ 3.8% ซึ่งสูงกว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศอิตาลีเล็กน้อย (อยู่ที่ 3.7%) ซึ่งมีปัจจัยสนับสนุนมาจากการฟื้นตัวของภาคการก่อสร้างและภาคบริการต่าง ๆ แต่ในขณะเดียวกัน การรุกรานยูเครนของรัสเซียได้ส่งผลให้การเพิ่มขึ้นของต้นทุนพลังงานและความยากลำบากในการจัดหาวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์ขั้นกลาง ซึ่งส่งผลให้ช่วงครึ่งหลังของปี 2564 เกิดความตึงเครียดและส่งผลให้ภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ เกิดการชะลอตัวลง แต่การเติบโตทางเศรษฐกิจในช่วงปี 2564-2565 ส่งผลให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของแคว้นลอมบาร์เดีย ขยายตัวอยู่ที่ 3.4% ซึ่งเติบโตสูงกว่าระดับ GDP ของปี 2562 สำหรับอัตราเงินเฟ้อของแคว้นลอมบาร์เดียอยู่ที่ 5.3% ต้นทุนเฉลี่ยของสินเชื่อสำหรับธุรกิจกำลังเติบโต อยู่ระหว่าง 5.4% – 6% แต่มีความเสี่ยงสูงต่อความเสี่ยงที่อัตราดอกเบี้ยจะสูงขึ้น โดยในปี 2566 ตามการคาดการณ์ของบริษัทต่าง ๆ ในอิตาลี การลงทุนในภาคอุตสาหกรรมจะลดลง -3.6% เมื่อเทียบกับปี 2565 แต่ในทางกลับกัน ครึ่งปีแรกของปี 2566 การค้าปลีกมีการเติบโต +4.7%
จากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติของอิตาลี (ISTAT) ระบุว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของอิตาลี ในไตรมาสแรกของปี 2566 เพิ่มขึ้นอยู่ที่ 0.6% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า และอยู่ที่ 1.9% เมื่อเทียบกับไตรมาสแรกของปี 2565 แต่ในขณะที่ ไตรมาส 2 ของปี 2566 GDP ของอิตาลี ลดลงอยู่ที่ 0.3% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า และเพิ่มขึ้น 0.6% เมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ของปี 2565 สำหรับคณะกรรมาธิการยุโรป (European Commission) คาดการณ์ว่าปี 2566 GDP ของอิตาลี จะอยู่ที่ +0.9% ในขณะที่ของยูโรโซนจะอยู่ที่ +0.8% สำหรับบริษัทที่ปรึกษาด้านการพัฒนาซอฟต์แวร์ และวิจัยเศรษฐศาสตร์สำหรับธนาคาร บริษัทประกันภัย และธุรกิจต่างๆ ในอิตาลี (Prometeia) ได้ประมาณการว่า GDP ของอิตาลี จะอยู่ที่ 1% ในขณะที่ GDP ของแคว้นลอมบาร์เดียจะเติบโตอยู่ที่ 1.1% สำหรับข้อมูลของ Eurostat ในไตรมาส 2 ของปี 2566 GDP ของยูโรโซนจะเติบโตอยู่ที่ 0.6% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2565 และ GDP ของสหภาพยุโรปจะอยู่ที่ 0.5%
ความสำคัญของแคว้นลอมบาร์เดีย
แคว้นลอมบาร์เดียเป็นแคว้นที่ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของอิตาลี ซึ่งเปรียบเสมือนสะพานที่เชื่อมไปยังทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ประกอบด้วย 12 เมือง ได้แก่ มิลาน เครโมนา โคโม ซอนดรีโย เบรชชา แบร์กาโม ปาวีอา มอนซาและบรีอันซา มันโตวา เลคโค โลดี และวาเรเซ ซึ่งมีพื้นที่ครอบคลุมเกือบ 24,000 ตารางกิโลเมตร และมีประชากรอาศัยอยู่กว่า 10 ล้านคน (นับเป็นอันดับ 3 ในยุโรป) โดยผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของแคว้นลอมบาร์เดีย มีมูลค่าเท่ากับ 368 พันล้านยูโร หรือประมาณ 22% ของ GDP ของอิตาลี โดยจะพบว่าประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจ GDP ของแคว้นลอมบาร์เดียสูงกว่าประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปหลายประเทศ โดยแคว้นลอมบาร์เดียถือเป็นผู้นำด้านบริการทางการเงินในอิตาลี โดย 19.9% ของมูลค่าเพิ่มที่เกิดจากภาคการเงินของอิตาลีมาจากแคว้นลอมบาร์เดีย โดยมีตลาดหลักทรัพย์แห่งชาติ (Borsa Italiana) ตั้งอยู่ในเมือง มิลาน นอกจากนี้ มีบริษัทที่เชี่ยวชาญด้านการวิจัย นวัตกรรม และเทคโนโลยีที่ตั้งอยู่ในแคว้นลอมบาร์เดียกว่า 815,956 แห่ง หรือคิดเป็นประมาณ 16% ของจำนวนบริษัททั้งหมดของประเทศอิตาลี โดยมีจำนวนแรงงานกว่า 4.2 ล้านคน
แคว้นลอมบาร์เดียถือเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่เชี่ยวชาญที่สุดในยุโรปสำหรับผลิตภัณฑ์ที่มีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี มีพนักงานที่ทำงานในภาคการผลิตดังกล่าวกว่า 68,000 คน ซึ่งทำให้แคว้นลอมบาร์เดียกลายเป็นแคว้นที่ใหญ่เป็นอันดับ 5 ในยุโรปในด้านดังกล่าว นอกจากนี้ แคว้นลอมบาร์เดียยังเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์หลักในอิตาลี และเป็นผู้นำในด้านโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงาน พลังงานสุทธิที่ผลิตโดยโรงไฟฟ้าพลังน้ำ การผลิตพลังงานจากแหล่งหมุนเวียนเพิ่มขึ้น 285% ตั้งแต่ปี 2543 โดยปัจจุบัน 36.5% ของกำลังการผลิตพลังงานในแคว้นลอมบาร์เดียมาจากแหล่งพลังงานหมุนเวียน ซึ่งมีส่วนช่วยให้บรรลุเป้าหมายพลังงานของสหภาพยุโรปในปี 2563
ความคิดเห็นของ สคต. มิลาน
จากข้อมูลดังกล่าวข้างต้นแสดงให้เห็นว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของแคว้นลอมบาร์เดีย ในช่วงครึ่งแรกของปี 2566 มีแนวโน้มเติบโตที่ดี แต่อย่างไรก็ตาม จากสถานการณ์ความไม่แน่นอนที่กำลังเกิดขึ้นระหว่างประเทศ ซึ่งยังคงไม่มีท่าสงบลงนั้น อาจส่งผลให้ GDP ของอิตาลี ปี 2566 เติบโตไม่มากนัก ไม่ว่าจะเป็นการที่ประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศเริ่มเพิ่มความระมัดระวังในการใช้จ่ายสินค้า/บริการ การลงทุนของภาคเอกชน และภาครัฐบาลอาจเกิดการชะลอตัว ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยที่ทำการค้า/อยู่ระหว่างตัดสินใจทำการค้ากับประเทศอิตาลี ควรติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจในอิตาลี/ยุโรปอย่างใกล้ชิด ไม่ว่าจะเป็นแนวโน้มความต้องการของผู้บริโภค สถานการณ์การท่องเที่ยวในอิตาลี และตลาดแรงงานในอิตาลี รวมถึงการกำหนดนโยบายหรือแผนกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นและระยะยาวของรัฐบาลอิตาลี ซึ่งปัจจัยเหล่านี้มีความสำคัญและส่งผลโดยตรงต่อ GDP ของอิตาลี โดยอิตาลีเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 9 ของโลก และอันดับ 3 ของสหภาพยุโรป หากสถานการณ์เศรษฐกิจภายในประเทศเกิดความไม่แน่นอนขึ้น ก็อาจมีความเป็นไปได้สูงที่จะส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทย
——————————————————————-
ที่มา: https://www.ilsole24ore.com/art/nel-primo-semestre-2023-pil-lombardo-cresce-dell-13percento-AFsABjOB, https://www.bancaditalia.it/pubblicazioni/economie-regionali/2023/2023-0003/index.html
กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ
กระทรวงพาณิชย์
563 ถนน นนทบุรี ตำบล บางกระสอ
อำเภอเมืองนนทบุรี นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-507-7999
สายตรงการค้าระหว่างประเทศ: 1169
ผู้ใช้ที่กำลังออนไลน์ : 0 คน | จำนวนผู้เข้าชมทั้งหมด : 4443258 คน
สงวนลิขสิทธิ์ © 2023 กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ