เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2566 ที่ผ่านมา รัฐบาลออสเตรเลียจัดให้ชาวออสเตรเลียออกมาลงประชามติเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญออสเตรเลียในการรับรองสิทธิชนพื้นเมืองชาวอะบอริจินและชาวเกาะช่องแคบทอร์เรส (Aboriginal and Torres Strait Islander peoples) เป็นประชาชนกลุ่มแรกหรือชนชาติแรก (First Peoples) และจัดตั้งคณะที่ปรึกษา Aboriginal and Torres Strait Islander Voice (The Voice)  เพื่อให้คำปรึกษาทางกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับชาวอะบอริจินและชาวเกาะช่องแคบทอร์เรสอย่างเป็นอิสระแก่รัฐบาล ซึ่งเป็นการลงคะแนนเสียงระดับชาติและถือว่าเป็นการลงประชามติครั้งประวัติศาสตร์ในรอบเกือบ 25 ปีของออสเตรเลียภายใต้ “Yes” Campaign และเพื่อให้ประชามติผ่าน การลงคะแนนเสียงส่วนใหญ่จำเป็นต้องลงคะแนน “Yes” ทั่วประเทศรวมถึงต้องเป็นคะแนนเสียงจาก 4 ใน 6 รัฐเป็นอย่างน้อย

ผลการนับคะแนนเสียงลงประชามติที่ผ่านมา พบว่า คะแนนเสียงจาก 6 รัฐลงมติ “NO” ไม่รับข้อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อรับรองประชาชนพื้นเมือง และจัดตั้ง The Voice ในการให้คำปรึกษาทางการเมืองแก่รัฐบาล โดยคะแนนเสียงปฎิเสธมีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 60 ฝ่ายผู้สนับสนุน กล่าวว่า การรับรองสิทธิชนพื้นเมืองและจัดตั้งองค์กรที่ปรึกษาในรัฐธรรมนูญจะรวมออสเตรเลียเป็นหนึ่งเดียวกันและนำประเทศไปสู่ยุคใหม่ รวมถึงช่วยจัดการกับความไม่เท่าเทียมที่ฝังรากลึกในชุมชนชาวอะบอริจินและชาวเกาะช่องแคบทอร์เรสที่ยังคงเผชิญอยู่

ทางด้านผู้ต่อต้านระบุว่า เป็นแนวคิดที่ก่อให้เกิดความแตกแยก และจะเกิดการสร้าง “ชนชั้น” พิเศษของประชาชนที่บางคนมีสิทธิมากกว่าคนอื่นๆ และองค์การที่ปรึกษาชุดใหม่ที่จะจัดตั้งขึ้นจะทำให้การตัดสินใจของรัฐบาลช้าลง ด้านนาย Anthony Albanese นายกรัฐมนตรีออสเตรเลียออกมาปราศรัยว่า รัฐบาลเคารพต่อผลลัพท์ที่ได้มาจากการลงประชามติที่เป็นผลของกระบวนการประชาธิปไตย

การลงประชามติครั้งนี้ถือเป็นครั้งที่ 45 ที่ออสเตรเลียพยายามเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมมนู แต่มีเพียง 8 ข้อเสนอเท่านั้นที่ได้รับการนำเสนอ และครั้งนี้เป็นครั้งที่สองในการลงประชามติเสนอประเด็นการรับรองสิทธิชนพื้นเมือง โดยความพยายามครั้งสุดท้ายคือ ในปี 2542 (คศ 1999) ซึ่งพยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้มีการเปลี่ยนระบบการปกครองของประเทศโดยสถาปนาสาธารณรัฐ และเพิ่มคำปรารภ “การยกย่อง” ประชาชนชนพื้นเมือง

ชาวอะบอริจินและชาวเกาะช่องแคบทอร์เรส คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 3.8 ของประชากร 26.4 ล้านคนของประเทศและอาศัยอยู่ในออสเตรเลียมาอย่างน้อย 65,000 ปี แต่ไม่มีการกล่าวถึงในรัฐธรรมนูญ พวกเขาถือเป็นผู้ด้อยโอกาสที่สุดในประเทศ หากวิเคราะห์ตามมาตรการทางเศรษฐกิจและสังคม

………………………………………………………………………..

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ

ที่มา:

www.voice.gov.au

www.pm.gov.au

www.bbc.com

thThai