งานแสดงสินค้าผักผลไม้สเปนมาแรงตีคู่เยอรมัน เตรียมขยายไปเปิดตัวที่อเมริการใต้ต้นปีหน้า
เมื่อวันที่ 3-5 ตุลาคม 2566 ที่ผ่านมา มาดริดจัดงานแสดงสินค้าใหญ่ด้านผักผลไม้ ณ ศูนย์แสดงสินค้า Feria de Madrid ประเทศสเปน เป็นครั้งที่ 15 บนพื้นที่ 64,000 ตร.ม. จำนวน 10 Hall มีผู้เข้าร่วมแสดงสินค้ากว่า 2,000 บริษัทจาก 56 ประเทศ ผู้เข้าชมงานกว่า 90,000 รายจาก 137 ประเทศทั่วโลก งานปีนี้ได้รับคำชมจากผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายว่าประสบความสำเร็จอย่างสูง ทุบทุกสถิติที่ผ่านมาและมีความน่าสนใจมากขึ้นกว่าทุกครั้ง ผู้ประกอบการรายใหม่มาเข้าร่วมมากถึง 316 บริษัท เพิ่มพื้นที่จัดงานร้อยละ 10 โดยประเทศที่เข้าร่วมงานเป็นครั้งแรก 17 ประเทศ ได้แก่ ออสเตรีย เดนมาร์ค ไซปรัส บัลแกเรีย เป็นต้น
Fruit Attraction จัดขึ้นโดยหน่วยจัดงานแสดงสินค้าของมาดริด (IFEMA) ในรูปแบบงานเจรจาธุรกิจตลอด 3 วัน วัตถุประสงค์เพื่อเป็นเวทีสำหรับบุคคลในวงการที่ต้องการขยายตลาด หาสินค้าและนวัตกรรมใหม่ๆ สร้างเครือข่าย ศึกษาแนวโน้ม ตลอดจนเป็นจุดนัดพบในการวางแผนการทำตลาดสำหรับแคมเปญช่วงฤดูใบไม้ร่วง ขณะที่ Fruit Logistica ของเยอรมันเป็นเวทีสำหรับการวางแผนแคมเปญฤดูใบไม้ผลิ โดย IFEMA ได้จัด International Buyers Program คู่ขนานด้วย มีผู้เข้าร่วม 700 รายจาก 70 ประเทศ ประกอบด้วยผู้ซื้อ ผู้นำเข้า และผู้ค้าปลีก ส่วนมากปีนี้มาจากบราซิล สหรัฐ และ แคนาดา ลักษณะของผู้เข้าชมงานแบ่งได้เป็นกลุ่มผู้ผลิตร้อยละ 21 ผู้นำเข้าผู้ส่งออกร้อยละ 21 บรัทการค้าร้อยละ 16 บริษัทขายส่งร้อยละ 14 บริษัทขายปลีกร้อยละ 9 กลุ่มโลจิสติกส์ร้อยละ 7 โฮเรก้าร้อยละ 7 และอุตสาหกรรมอื่นๆ อีกร้อยละ 5
สินค้าและบริการที่จัดแสดงแบ่งได้เป็น 2 ส่วนหลัก ส่วนแรก สินค้าเกษตรสดและแปรรูป (ร้อยละ 70 ของพื้นที่) ขยายตัวร้อยละ 14 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ได้แก่ ผลไม้ ผักสด เนื้อสดและผลิตภัณฑ์จัดเลี้ยง ถั่ว แช่เย็น แช่แข็ง และอบแห้ง ผักและผลไม้แปรรูป สินค้าออร์แกนิก ดอกไม้และพืชมีชีวิต โดยสินค้าดาวเด่นในปีนี้ คือ “ผักสลัด” ส่วนที่สอง จัดแสดงสินค้าและบริการในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง (ร้อยละ 25 ของพื้นที่) ได้แก่ ผู้ให้บริการต่างๆ เมล็ดพืช การขนส่งและโลจิสติกส์ ระบบและอุปกรณ์การเกษตร การจัดเก็บสต๊อกสินค้า ห้องเย็น ระบบอัตโนมัติควบคุมคุณภาพ เครื่องทำความเย็น บรรจุภัณฑ์และการติดสลาก อุปกรณ์สำหรับจุดขยาย ตลอดจนการให้คำปรึกษาและการศึกษา โดยสินค้าและบริการในสาขา Smart Agro เติบโตถึงร้อยละ 20 และสาขาโลจิสติกส์เติบโตขึ้นกว่าร้อยละ 31 นอกจากนี้ ยังมีส่วนจัดแสดงเกี่ยวกับนวัตกรรมและกิจกรรมอื่นๆ ภายในบริเวณงาน อาทิ งานนำเสนอด้านวิชาการ การประชุมนานาชาติ เช่น Biotech Forum, Fresh Food Logistics Summit ครั้งที่ 3, Grape Attraction Congress ครั้งที่ 7, Biotech Attraction Conference, และ Biofruit Congress รวมไปถึงการนำเสนอสถานที่ท่องเที่ยว ดอกไม้และสวนอีกด้วย
ทั้งนี้ จากความสำเร็จ ทำให้ IFEMA กำหนดจะขยายงานไปเปิดตัวที่เซาเปาโล ประเทศบราซิล ในปีหน้าระหว่างวันที่ 16-18 เมษายน 2567 เนื่องจากเล็งเห็นแล้วว่าบราซิลเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดในอเมริกาและกำลังกลายเป็นเวทีสำคัญของบุคลากรในวงการผักและผลไม้ ซึ่งจะช่วยให้งาน Fruit Attraction เป็นงานที่ครอบคลุมห่วงโซ่การผลิตตลอดสายพานได้เป็นอย่างดี
ส่องเทรนด์สินค้าและบริการในงาน : ความยั่งยืน เทคโนโลยี สินค้าคุณภาพสูง
Fruit Attraction สะท้อนถึงแนวโน้มผู้บริโภคที่ให้ความสำคัญกับผลผลิตและบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ไม่สร้างมลพิษ เอื้อประโยชน์ต่อชุมชนท้องถิ่น คืนคุณค่าสูงสังคม มีคุณภาพดี รูปลักษณ์น่าสนใจเตะตา ดังนั้น ผักและผลไม้ที่ได้รับความนิยมจึงเป็นสินค้าที่แลดูอุดมสมบูรณ์ สด ใหม่ มีการนำเสนอที่สื่อถึงแหล่งเพาะปลูกซึ่งเชื่อถือได้ เป็นธรรมชาติ เชื่อมโยงกับชุมชนท้องถิ่น ปล่อยคาร์บอนต่ำ และนำด้วยเกษตรอัจฉริยะ
โอกาสสินค้า และ Soft Power ไทย ท่ามกลางคลื่นความร้อนในสเปน
5 ตุลาคม 2566 เป็นวันที่ 5 ตุลาคมที่ร้อนที่สุดของสเปนตั้งแต่เริ่มมีการบันทึกสถิติเมื่อปี 2493 ส่งผลให้การอุปโภคบริโภคในตลาดสเปนต่างไปจากฤดูกาลปกติ ไม่ว่าจะเสื้อผ้า อาหาร เครื่องดื่ม รวมไปถึงผลไม้ จึงเป็นโอกาสดีของสินค้าไทยที่ช่วยคลายร้อน อาทิ น้ำมะพร้าว ผลไม้กระป๋อง เป็นต้น โดยภายในงาน ผู้นำเข้าน้ำมะพร้าวในผลมะพร้าวของไทย แบรนด์ “Genuine Coconut” เปิดเผยว่า สินค้าของตนเป็นที่นิยมในกลุ่มผู้บริโภคสเปนอย่างต่อเนื่อง เป็นผลโดยตรงจากอากาศที่ดี อบอุ่น มีแสงอาทิตย์ตลอดวัน ขณะนี้จึงมีแผนจะเปิดหน้าร้านบริเวณจุดท่องเที่ยวสำคัญของเมืองมาดริด Plaza Mayor หวังจะปั่นเทรนด์การเดินดื่มน้ำมะพร้าวในผลมะพร้าวในอนาคต นอกจากนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่ามีบริษัทต่างชาติหลายรายนิยมนำการแกะสลักผลไม้ของไทยไปใช้ในการนำเสนอแตงโม แตงซูคีนี และเมลอน ฯลฯ ซึ่งจากการพูดคุยกับพนักงานในคูหาต่างชาติดังกล่าว พบว่าแต่ละรายมีความภาคภูมิใจในฝีมือการแกะสลักและอุปกรณ์การแกะสลักของตนที่ซื้อมาจากเมืองไทย จึงถือได้ว่าการแกะสลักเป็นหนึ่งใน Soft Power ศักยภาพของไทยด้วย
ข้อคิดเห็นของ สคต.
Fruit Attraction กลายเป็นเครื่องมืออ้างอิงทางการค้าสำหรับการตลาดผักและผลไม้ระดับโลก ดังนั้น การเข้าร่วมงานของไทยจะเป็นประโยชน์ทั้งทางการค้า การประชาสัมพันธ์ และเชิงภาพลักษณ์ ผู้ประกอบการไทยอาจพิจารณานำสินค้าหรือบริการที่ตอบโจทย์ด้านความยั่งยืน นวัตกรรม และความแปลกใหม่แตกต่างมาเข้าร่วมจัดแสดงภายในงานเพื่อสร้างการรับรู้ให้กับสินค้าไทยซึ่งยังไม่เป็นที่รู้จักมากนักในกลุ่มผู้บริโภคสเปน
ทั้งนี้ สคต.เห็นว่าสินค้าศักยภาพ ได้แก่ ผักผลไม้แปรรูปและบริการที่เกี่ยวเนื่อง เนื่องจากมีข้อจำกัดน้อยกว่าผักผลไม้สดในด้านอายุสินค้าและโลจิสติกส์ เพราะปัจจุบันไม่มีเที่ยวบินตรงจากไทยมายังสเปนทำให้การขนส่งมีต้นทุนสูงและใช้เวลานาน ส่งผลต่อคุณภาพและความสดใหม่ของสินค้า แต่ผู้ประกอบการไทยจำเป็นต้องมีสื่อ เช่น โบรชัวร์ โปสเตอร์ ที่เล่าเรื่องราวที่มาของสินค้า มีการออกแบบที่ดี มีตราสินค้าและใบรับรองที่เชื่อถือได้ปรากฏอยู่เพื่อสร้างความเชื่อมมั่นและดึงดูดคู่ค้า นอกจากนี้ สคต. เห็นว่าการเข้าร่วมงานในฐานะผู้เข้าชมงานก็จะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาสินค้าไทยให้มีคุณภาพมาตรฐานและมีการนำเสนอที่ทัดเทียมสากล สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคซึ่งให้ความสำคัญต่อการพัฒนาที่ยั่งยืน การยกระดับสินค้าด้วยนวัตกรรม และการสร้างแบรนด์
ที่มา : Ifema, Fresh Plaza, El Pais
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงมาดริด
6 ตุลาคม 2566