หลังจากกการแพร่ระบาดของโควิดที่ผ่านมา ทำให้หลายอย่างเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง โดยเฉพาะภาพรวมของ E-Commerce ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) ที่เข้าสู่การขายของออนไลน์และทำให้การเข้าสู่โลกออนไลน์ของผู้เบริโภคยูเออีเป็นไปได้กับคนทุกกลุ่ม ทุกระดับ
การช็อปปิ้งออนไลน์ของยูเออีคาดว่ามูลค่าจะเกินกว่า 27 พันล้านเหรียญสหรัฐฯในปีนี้ และบัตรเครดิตยังคงเป็นรูปแบบการชําระเงินที่ได้รับความนิยมมากที่สุดคิดเป็นร้อยละ 40.8 อันดับสองคือการชำระเงินผ่านแอปพลิเคชัน เช่น Apple Pay, PayPal และ Google Pay ซึ่งคาดว่าเครื่องมือการชำระเงินเหล่านี้คิดเป็นร้อยละ 27.7 ของธุรกรรมการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมดในปี 2566 อันดับสามและสี่ เป็นการชำระผ่านธนาคารและเงินสด ตามลำดับ
การซื้อสินค้าผ่านแพลตฟอร์ม E-commerce ได้รับความนิยมอย่างมากในช่วงหลังการแพร่ระบาดในยูเออีและในประเทศพัฒนาแล้วอื่น ๆ (advanced economies: AEs) โดยผู้บริโภคซื้อสินค้าและอาหารผ่านทางออนไลน์มากขึ้น เนื่องจากความสะดวก ราคาถูกกว่า และมีสินค้าที่หลากหลายให้เลือกซื้อมากขึ้น ด้วยการคลิกเพียงปุ่มเดียว พฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปมีความคุ้นชินและพึงพอใจในการซื้อสินค้าผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์มากขึ้นจนกลายเป็น new normal ของผู้บริโภค รวมทั้งการมาของเเพลตฟอร์มให้บริการออนไลน์ อาทิ Noon, Souq, Namshi, Talabat, Deliveroo และผู้เล่นอื่นๆ ใน E-commerce ของยูเออีได้ช่วยเพิ่มขนาดของตลาดอย่างมากเช่นกัน
นอกจากนี้ การจัดตั้งเขตปลอดอากรสำหรับบริษัท E-commerce ในดูไบจะช่วยส่งเสริมอุตสาหกรรม E-commerce ท้องถิ่นและดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศที่เพิ่มขึ้น
จากการสำรวจผู้บริโภคด้านบริการทางการเงินประจำปี 2566 ของ GlobalData จัดขึ้นในไตรมาสที่สองของปี 2566 จากผู้ตอบแบบสอบถามประมาณ 50,000 คนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไปใน 40 ประเทศ พบว่าตลาด E-commerce ยูเออีเติบโตขึ้นร้อยละ 18.5 ในปี 2566 เป็นมูลค่า 25 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ เนื่องจากมีผู้บริโภคจำนวนมากขึ้นเปลี่ยนจากการซื้อออฟไลน์ไปสู่การซื้อออนไลน์ คาดว่าจะเติบโตร้อยละ 16.4 เป็น 29.3 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2566 และในช่วงปี 2566-2570 คาดการเติบโตในระดับสูงที่ราว 12%CAGR หรือจะมีมูลค่ากว่า 46.1 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ
E-commerce ในยูเออีมีการเติบโตที่ดีในช่วงห้าปีที่ผ่านมา สาเหตุหลักมาจากการรุกของอินเทอร์เน็ตและสมาร์ทโฟนที่เพิ่มขึ้น ควบคู่ไปกับความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้นในการทำธุรกรรมออนไลน์ นอกจากนี้ การระบาดใหญ่ยังเร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในความต้องการของผู้บริโภคจากหน้าร้านจริงไปสู่ช่องทางออนไลน์ แคมเปญช้อปปิ้งออนไลน์อย่าง Black Friday และ Cyber Monday ช่วยสนับสนุนการเติบโตของ E-commerce อีกด้วย
จากการสำรวจของ GlobalData ยังพบว่าร้อยละ 88 ของผู้บริโภคยูเออีระบุว่ามีการช้อปปิ้งออนไลน์ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา ในขณะที่มีเพียงร้อยละ 5 เท่านั้นที่ระบุว่าไม่เคยซื้อของออนไลน์เลย และผู้บริโภคนิยมใช้บัตรเครดิตในการชำระเงิน เนื่องจากได้รับสิทธิประโยชน์อื่นๆ ตามรายการส่งเสริมการขาย เช่น คะแนนสะสมเพื่อแลกของรางวัล ส่วนลดจากร้านค้า การผ่อนชำระสินค้าแบบปลอดดอกเบี้ย เงินคืนจากการใช้จ่าย (cash back) โปรแกรมสะสมคะแนน และส่วนลด เป็นต้น
ความเห็นของ สคต. ณ เมืองดูไบ
ผู้ประกอบการไทยอาจพิจารณาใช้สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เป็นอีกช่องทางที่สามารถนำสินค้าไทยออกไปขายต่างประเทศ ( Outbound Cross Border ) ผ่านมาร์เก็ตเพลสอย่าง LetsTango, Noon, Souq และ Namshi เป็นต้น เช่น สินค้าประเภทของขวัญของชำร่วย อุปกรณ์และชุดกีฬา (นวมและกางเกงมวยไทย) เสื้อยืด เสื้อผ้าเด็กและสตรี เครื่องสำอาง และอาหารแปรรูป เป็นต้น วิธีการนำสินค้าไปบุกตลาดยูเออี อาจจะมีปัจจัยที่ต้องพิจารณาเพิ่มเติมอย่างเช่น การปฏิบัติตามกฎระเบียบข้ามพรมแดน รับประกันการคุ้มครองผู้บริโภค การสนับสนุนมาตรการรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ ภาษี และการขนส่ง ซึ่งในส่วนนี้ในปัจจุบันแพลตฟอร์มต่าง ๆ ก็มีบริการมาคอยอำนวยความสะดวกให้กับผู้ค้าออนไลน์ต่างชาติอยู่แล้ว
*****************************
ที่มา : Khaleej timers