สหรัฐฯ อาจกำลังเข้าสู่สภาวะเศรษฐกิจแบบใหม่ที่เรียกว่า “Richcession”

จากรายงานของ Bank of America ซึ่งเป็นธนาคารรายใหญ่ของสหรัฐฯ ยอดการใช้จ่ายบัตรเครดิตและเดบิตของชาวอเมริกันในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา เพิ่มขึ้น 0.1% เทียบกับยอดการใช้จ่ายในช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน นับว่าเป็นสัญญาณที่ดี หลังจากที่ยอดการใช้จ่ายบัตรเครดิตและเดบิตของชาวอเมริกันในปีนี้ เทียบกับปีก่อน ได้ติดลบต่อเนื่องกันกว่า 3 เดือน

สหรัฐฯ อาจกำลังเข้าสู่สภาวะเศรษฐกิจแบบใหม่ที่เรียกว่า “Richcession”

นอกจากนี้ จากรายงานของ Bank of America ยังพบว่าการใช้จ่ายของผู้บริโภคนั้นเริ่มแสดงทิศทางที่เป็นบวกกับภาคสินค้ามากขึ้น แม้ว่าการใช้จ่ายด้านบริการจะยังคงแข็งแกร่งในเดือนกรกฎาคม แต่นับว่าการใช้จ่ายของชาวอเมริกันได้ส่งสัญญาณว่ากำลังจะหวนคืนสู่ภาคสินค้ามากยิ่งขึ้น และพฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้บริโภคคาดว่าจะกลับมาสู่ช่วงก่อนเกิดวิกฤตการณ์โควิดในเร็วๆ นี้

สหรัฐฯ อาจกำลังเข้าสู่สภาวะเศรษฐกิจแบบใหม่ที่เรียกว่า “Richcession”

นอกจากพฤติกรรมการใช้จ่ายที่เริ่มมีความเปลี่ยนแปลง รายงานการใช้จ่ายของชาวอเมริกันในเดือนกรกฎาคมยังแสดงให้เห็นถึงความแตกต่างของรายได้ในแต่ละครัวเรือน ทั้งนี้ พบว่ารายได้ของครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำ (มีรายได้น้อยกว่า 50,000 เหรียญสหรัฐฯ ต่อปี) จนถึงรายได้ปานกลาง (รายได้ระหว่าง 50,000 – 125,000 เหรียญสหรัฐฯ ต่อปี) ยังคงมีรายได้และสัดส่วนเงินเก็บที่แข็งแรง แต่สำหรับจำนวนครัวเรือนที่มีรายได้สูง (รายได้มากกว่า 125,000 เหรียญสหรัฐฯ ต่อปี) กลับพบว่ามีการตกงานและได้รับสวัสดิการจากการตกงาน (unemployment benefits) เพิ่มมากขึ้นถึง 60% จากปีก่อน ซึ่งเป็นจำนวนที่เพิ่มขึ้นมากกว่าครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำถึงปานกลางถึงสามเท่า นอกจากนี้ การเติบโตของรายได้หลังหักภาษีของครัวเรือนรายได้สูงนั้นก็ลดลงมากในช่วงที่ผ่านมา แต่สำหรับรายได้ของครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำถึงปานกลาง ยังคงขยายตัวเป็นบวก เพิ่มขึ้น 2-3% จากปีก่อน

 

นอกจากนี้ จากสถิติการใช้จ่ายบัตรเครดิตของ Bank of America ใน 7 เดือนที่ผ่านมาของปี 2566  พบว่ายอดรวมการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตของผู้ที่มีรายได้ต่ำนั้นขยายตัวมากกว่ายอดรวมการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตของผู้ที่มีรายได้สูงถึง 4 เดือนด้วยกัน ทำให้เป็นที่น่าสนใจว่า ตลาดแรงงานของแรงงานรายได้สูงที่ชะลอตัวในช่วงที่ผ่านมา จะส่งผลให้ความเชื่อมั่นและการบริโภคของผู้บริโภคที่มีรายได้สูงลดลง

 

ด้วยเหตุนี้ นักเศรษฐศาสตร์หลายสำนัก จึงได้คาดการณ์ว่า สหรัฐฯ อาจกำลังเข้าสู่สภาวะ “Richcession” ซึ่งเป็นคำศัพท์ใหม่โดยนักข่าวจากหนังสือพิมพ์ The Wall Street Journal หนังสือพิมพ์ชื่อดังในสหรัฐฯ หมายถึงสภาวะที่เศรษฐกิจโดยรวมไม่ได้ชะลอตัวลงตามสถานการณ์ปกติ กล่าวคือ อัตราการว่างงานและการใช้จ่ายของประชากรโดยรวมยังคงดี แต่ประชากรบางกลุ่ม โดยเฉพาะประชากรที่มีรายได้สูง ได้รับผลกระทบจากสภาพเศรษฐกิจดังกล่าวมากกว่าประชากรในกลุ่มอื่นๆ

 

อนึ่ง โดยปกติแล้ว ในสภาวะเศรษฐกิจถดถอย กลุ่มประชากรที่ได้รับผลกระทบมักจะเป็นประชากรในกลุ่มรายได้ต่ำ และดัชนีทางเศรษฐกิจจะมีแนวโน้มชะลอตัวลง ทั้งนี้ เศรษฐกิจสหรัฐฯ ในปัจจุบัน กลับไม่ได้เป็นไปในทิศทางดังกล่าว GDP สหรัฐฯ ในไตรมาสแรกและไตรมาสที่สองของปี 2566 พบว่ายังคงเป็นบวกอย่างต่อเนื่อง โตขึ้น 2% และ 2.4% ตามลำดับ นอกจากนี้ การใช้จ่ายของผู้บริโภค รวมถึงตลาดแรงงานโดยรวม ก็ยังคงแข็งแกร่งอย่างต่อเนื่อง อนึ่ง ตลาดแรงงานของกลุ่มที่มีรายได้สูงนั้น พบว่าชะลอตัวลงในช่วงที่ผ่านมา ทั้งนี้ เมื่อต้นปีที่ผ่านมา บริษัทใหญ่ในสหรัฐฯ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมเทคโนโลยี เช่น Meta Amazon Alphabet และบริษัทอื่นๆ ใน Silicon Valley ได้ปลดพนักงานจำนวนมากโดยรวมกว่า 227,000 ตำแหน่ง และบริษัทด้านการเงิน ไม่ว่าจะเป็น Goldman Sachs Morgan Stanley และ Citigroup นั้นก็ได้ปลดพนักงานกว่า 1,000 ตำแหน่งเช่นกัน ทำให้คาดว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ อาจกำลังเข้าสู่สภาวะ “Richcession” ส่งผลกระทบต่อประชากรที่มีรายได้สูงมากกว่าประชากรในกลุ่มอื่นๆ

 

อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลของ Bank of America พบว่าเงินออมของประชากรสหรัฐฯ ยังคงสูงสำหรับทุกกลุ่มครัวเรือน โดยยอดคงเหลือในบัญชีเงินออมของชาวอเมริกันโดยเฉลี่ยในเดือนกรกฎาคมนั้น ยังคงสูงกว่า 30% ของค่าเฉลี่ยในช่วงก่อนเกิดสถานการณ์โควิดในปี 2562 ทั้งสำหรับครัวเรือนที่มีรายได้มากและรายได้น้อย ทำให้คาดว่าแม้หากเศรษฐกิจสหรัฐฯ เกิดการชะลอตัวลงโดยฉับพลัน การใช้จ่ายของครัวเรือนทุกระดับรายได้ในสหรัฐฯ จะยังคงมีความยืดหยุ่นสูงไปจนถึงช่วงปลายปีของปี 2567 และการใช้จ่ายคาดว่าจะชะลอตัวไม่มากนัก

สหรัฐฯ อาจกำลังเข้าสู่สภาวะเศรษฐกิจแบบใหม่ที่เรียกว่า “Richcession”

ความคิดเห็นของสคต. นิวยอร์ก

เศรษฐกิจสหรัฐฯ มีแนวโน้มที่ดีขึ้น ปัญหาเงินเฟ้อสูงนับว่าได้เริ่มคลี่คลายในช่วงที่ผ่านมา อีกทั้ง GDP ในช่วงครึ่งปีแรก ยังคงเป็นบวก และการใช้จ่ายของผู้บริโภค รวมถึงตลาดแรงงาน นับว่ายังคงมีความแข็งแกร่ง นอกจากนี้ ในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2566 คาดว่าการใช้จ่ายของผู้บริโภคจะเปลี่ยนจากภาคบริการมายังภาคสินค้ามากขึ้น นับว่าเป็นโอกาสของสินค้าส่งออกไทย อย่างก็ตาม มีแนวโน้มสูงว่าผู้บริโภคในกลุ่มรายได้สูงอาจชะลอการใช้จ่ายมากขึ้นในช่วงนี้ ผู้ประกอบการจึงควรติดตามสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ อย่างต่อเนื่องต่อไป

 

ที่มา: Bank of America/ Washington Post/ CNBC

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครนิวยอร์ก

 

 

 

thThai