(ที่มา : สำนักข่าว Yonhap News ฉบับวันที่ 9 สิงหาคม 2566)
ผู้แทนจากกระทรวงเกษตร อาหาร และกิจการชนบทของเกาหลีใต้ กล่าวเมื่อวันพุธที่ 2 สิงหาคมว่า ท่ามกลางการเพิ่มขึ้นของจำนวนครัวเรือนที่เลี้ยงสุนัขหรือแมว เกาหลีใต้มีแผนที่จะขยายขนาดตลาดสินค้าสัตว์เลี้ยงเป็น 15 ล้านล้านวอน (1.147 หมื่นล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ) ภายในปี 2570
จากรายงานของกระทรวงเกษตร อาหาร และกิจการชนบท ตลาดสินค้าสัตว์เลี้ยงเติบโตอย่างรวดเร็ว ในปี 2565 จำนวนครัวเรือนที่เลี้ยงสุนัขหรือแมวอยู่ที่ 6.02 ล้านครัวเรือน และขนาดตลาดมีมูลค่า 8 ล้านล้านวอน ซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างมากจากปี 2555 ซึ่งมีเพียง 3.64 ครัวเรือนที่เลี้ยงสุนัขหรือแมว
กระทรวงฯ ระบุว่า “เพื่อรับมือกับแนวโน้มของตลาดที่กำลังเกิดขึ้น เช่น Pet humanization ซึ่งหมายถึง พฤติกรรมการเลี้ยงของเจ้าของที่เลี้ยงดูสัตว์เลี้ยงของตัวเองเสมือนลูก หรือเป็นหนึ่งในสมาชิกของครอบครัว นวัตกรรมทางเทคโนโลยี และการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร จึงมีความจำเป็นที่จะต้องบ่มเพาะธุรกิจสินค้าสัตว์เลี้ยงที่สามารถสร้างสินค้าใหม่ๆ และสร้างความต้องการที่เพิ่มขึ้นของผู้บริโภคได้”
เพื่อให้สอดคล้องกับแทรนด์ดังกล่าว เกาหลีใต้จึงวางแผนที่จะกำหนดนโยบายใหม่เกี่ยวกับอุตสาหกรรมอาหารสัตว์เลี้ยงให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล ไม่ว่าจะเป็นด้านโภชนาการ บรรจุภัณฑ์ และการโฆษณา เช่นเดียวกับนโยบายในประเทศสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป กระทรวงฯ ระบุว่า ในปี 2570 เกาหลีใต้ตั้งเป้าส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยงมูลค่า 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 149 ล้านดอลลาร์สหรัฐจากปี 2565
นอกจากนี้ เกาหลีใต้จะจัดตั้งสถานที่อำนวยความสะดวก ที่เรียกว่า “One-Welfare Valley” เพื่อให้บริษัทต่างๆ สามารถทดสอบผลิตภัณฑ์ใหม่กับสัตว์เลี้ยงในสถานที่ดังกล่าวได้ ภายใต้เงื่อนไขที่เข้มงวด เพื่อปกป้องความเป็นอยู่ที่ดีของสัตว์เลี้ยง และวางแผนที่จะให้เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำแก่ผู้พัฒนาผลิตภัณฑ์สัตว์เลี้ยงในประเทศเกาหลีใต้ และสนับสนุนโครงการวิจัยและโครงการพัฒนาที่เกี่ยวข้อง
อนึ่ง รัฐบาลเกาหลีใต้จะยกเลิกภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการรักษาโดยสัตวแพทย์ที่จำเป็นสำหรับสัตว์เลี้ยง และกำหนดให้คลินิกสัตวแพทย์แสดงราคาอย่างโปร่งใสสำหรับการรักษาต่างๆ
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโซล พิจารณาแล้วเห็นว่า เทรนด์สัตว์เลี้ยงกำลังเป็นแทรนด์ที่มาแรงในเกาหลีใต้ โดยมีสาเหตุจากการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนไปของชาวเกาหลีใต้ เช่น ครอบครัวเดี่ยว หรือการลดลงของประชากรแรกเกิด หลายครัวเรือนจึงเลือกที่จะเลี้ยงสัตว์เลี้ยงแทนการมีบุตร และเลี้ยงดูสัตว์เลี้ยงเสมือนเป็นสมาชิกในครอบครัว แนวโน้มดังกล่าวส่งผลให้ธุรกิจสัตว์เลี้ยงในเกาหลีใต้ ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมอาหารสัตว์เลี้ยง ของใช้สัตว์เลี้ยง ไปจนถึงการบริการการแพทย์เติบโตมากยิ่งขึ้น และกลายเป็นธุรกิจที่รัฐบาลเกาหลีให้ความสำคัญ ให้การส่งเสริม และเร่งพัฒนาเพื่อขยายตลาด
ในส่วนของผู้ประกอบไทย ควรมองเกาหลีใต้เป็นตลาดที่มีศักยภาพสำหรับสินค้าสัตว์เลี้ยง ซึ่ง สคต. โซล ได้เร่งรัดเจาะตลาดเกาหลีใต้ โดยการหาผู้นำเข้ารายสำคัญต่อเนื่อง รวมถึงเข้าร่วมในงานแสดงสินค้าสัตว์เลี้ยงต่างๆ ที่มีศักยภาพ เพื่อเพิ่มโอกาสให้ผู้ประกอบการไทย ทั้งนี้ ในการพัฒนาสินค้าและบริการสำหรับสัตว์เลี้ยงของไทยสู่ตลาดเกาหลีใต้ ต้องคำนึงถึงสุขภาพสัตว์เลี้ยง ประโยชน์ต่อสัตว์เลี้ยง ความสะดวกสบายในการสวมใส่ ความปลอดภัย รวมถึงความสวยงามด้วย
********************************************************************
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโซล
จัดทำโดย นางสาวศีดา สมานมิตร
ตรวจทานโดย นางสาวชนัญญา พรรณรักษา
ผอ. สคต. ณ กรุงโซล