งานเทศกาล The 2023 Chongqing Nightlife Festival เริ่มต้นขึ้นเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคมที่ผ่านมา ณ อนุสาวรีย์เสรีภาพ (Liberation Monument) คณะผู้จัดงานฯ กล่าวว่าในงานเทศกาลดังกล่าวจะมีการจัดกิจกรรมรวมมากกว่า 200 กิจกรรมยาวไปจนถึงเดือนกันยายน 2566 รวมทั้งมีกิจกรรมส่งเสริมการบริโภคตามธีมเป็นเวลา 5 คืนติดต่อกัน อย่างเทศกาลดนตรี (Music Festivals) และเทศกาลเบียร์ (Beer Culture Festivals) การจัดประชุม China (Chongqing) Night Economy Development Summit Forum ครั้งที่ 4 ตามรายงานที่เผยแพร่ในฟอรั่มฯ คณะกรรมาธิการพาณิชย์เทศบาลมหานครฉงชิ่ง กล่าวว่า มหานครฉงชิ่งถูกจัดให้เป็นเมืองอันดับหนึ่งในด้าน “เศรษฐกิจยามค่ำคืน” ยาวติดต่อกันเป็นปีที่ 4 แล้ว ส่วนเมืองอื่นๆ ที่นับเป็นเมืองเศรษฐกิจยามค่ำคืนในลำดับรองลงมา ได้แก่ เซี่ยงไฮ้ ฉางชา ปักกิ่ง เซินเจิ้น ซีอาน หางโจว กวางโจว เซี่ยเหมิน และหนานจิง
นายเจิ้งอี้ (CEO และหัวหน้านักวิเคราะห์ของ iiMedia) กล่าวว่า มหานครฉงชิ่งได้ผสมผสานการท่องเที่ยวยามค่ำคืนเข้ากับการบริโภค และแสดงสถิติที่น่าประทับใจในส่วนของเศรษฐกิจยามค่ำคืน ทั้งนี้นับตั้งแต่พ.ศ. 2562 เป็นต้นมา หน่วยงานในเมืองต่างๆ ของจีนได้เพิ่มมาตรการเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจยามค่ำคืนและสนับสนุนกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจในยามค่ำคืนในเมืองของตน จากการเปลี่ยนแปลงของวิถีชีวิตคนเมืองแบบเดิมๆ ที่ผู้บริโภคทำงานในตอนกลางวันและพักผ่อนในตอนกลางคืน ซึ่งในปัจจุบันการบริโภคของผู้บริโภคกว่าร้อยละ 60 เกิดขึ้นในช่วงเวลากลางคืน ทำให้การพัฒนาเศรษฐกิจยามค่ำคืนได้กลายเป็นเครื่องมือใหม่ที่จะแสดงให้เห็นถึงความมีชีวิตชีวาของเมือง และช่วยส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจและสร้างแบรนด์ให้แก่เมืองนั้นๆ นอกจากนี้ ยังสามารถส่งเสริมการสร้างมหานครฉงชิ่งให้เป็น “เมืองศูนย์กลางการบริโภคระหว่างประเทศ” ได้อย่างมีประสิทธิภาพ รายงานเกี่ยวกับอิทธิพลทางเศรษฐกิจยามค่ำคืนของเมืองต่างๆ ในจีน (The Night Economic Influence of Chinese Cities) ซึ่งจัดทำขึ้นจากข้อมูล Big Data ของ Tencent และข้อมูลของ Liaowang Institute โดยรายงานฯ ได้เลือกเขตธุรกิจ 153 แห่ง จาก 50 เมืองในจีนแผ่นดินใหญ่ เป็นตัวอย่างสำหรับการวิเคราะห์และประเมินเขตธุรกิจใน 3 มิติ ได้แก่ การจราจร ฐานเศรษฐกิจ และสถานที่สาธารณะสำหรับพักผ่อนหย่อนใจ ทั้งนี้ ผลการศึกษาได้แสดงให้เห็นว่า มหานครฉงชิ่งจัดเป็นเมืองอันดับ 1 จากเมือง Top-10 ที่มีอิทธิพลต่อเศรษฐกิจยามค่ำคืนมากที่สุดของจีน โดยในปีนี้ รัฐบาลมหานครฉงชิ่งได้ดำเนินการวางแผนที่จะปฏิรูปโครงสร้างด้านอุปทานทางด้านวัฒนธรรมและการท่องเที่ยว โดยมุ่งเน้นที่การท่องเที่ยวขนาดใหญ่ที่มีคุณภาพสูงขึ้น และพัฒนาแบรนด์ในด้านวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวของเมือง อย่างเช่น ช่องเขาซานเสีย (The Three Gorges on the Yangtze River) และอุทยานแห่งชาติอู่หลง ทั้งยังมีแผนจะพัฒนาเศรษฐกิจยามค่ำคืนอย่างจริงจัง เพื่อให้การท่องเที่ยวในเขตเมืองหลักแข็งแกร่งขึ้น
มหานครฉงชิ่งมุ่งเน้นที่จะส่งเสริม/สร้าง “การเป็นเมืองศูนย์กลางการบริโภคระหว่างประเทศ” โดยพัฒนาเศรษฐกิจยามค่ำคืนอย่างจริงจัง ทั้งด้านอาหาร ที่พัก การเดินทาง การท่องเที่ยว การช้อปปิ้ง และความบันเทิง รวมไปถึงการขยายการบริโภคด้านเศรษฐกิจยามค่ำคืน จากข้อมูลตัวเลขในปี 2562 มูลค่าเพิ่มของอุตสาหกรรมบริการของมหานครฉงชิ่งเติบโตเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.4 ซึ่งมีส่วนสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจ สูงถึงร้อยละ 51.3 และรายได้จากการท่องเที่ยวรวมกว่า 570,000 ล้านหยวน (ประมาณ 2.85 ล้านล้านบาท) ทำให้เศรษฐกิจยามค่ำคืนของมหานครฉงชิ่งกลายเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงความมีชีวิตชีวาของเมือง นอกจากนี้ ข้อมูลของสมาคม Chongqing Hotpot Association ระบุว่า ปัจจุบันมีพนักงานราวๆ 560,000 คน ที่ทำงานในร้านอาหารหม้อไฟฉงชิ่ง และมีร้านหม้อไฟฉงชิ่งรวมกว่า 26,000 แห่ง ทำให้มูลค่าการบริโภคต่อปี (เฉพาะในส่วนของธุรกิจอาหารหม้อไฟฉงชิ่ง) สูงประมาณ 50,000 ล้านหยวน ทำให้ “อาหารหม้อไฟฉงชิ่ง” กลายสิ่งดึงดูดอีกอย่างหนึ่งที่ทำให้นักท่องเที่ยวจากทั่วทุกมุมโลกเดินทางมายังมหานครฉงชิ่ง สำหรับเทศกาล The 2023 Chongqing Nightlife Festival ที่จัดขึ้นในปีนี้ มีเป้าหมายเพื่อกระจายรูปแบบการบริโภคยามค่ำคืน กระตุ้นบรรยากาศการบริโภคยามค่ำคืน หนุนการพัฒนาเศรษฐกิจยามค่ำคืน และทำให้แบรนด์ “Chongqing Never Sleeps” ของมหานครฉงชิ่ง มีชื่อเสียงและเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางยิ่งขึ้น
ข้อมูลเพิ่มเติม/ผลกระทบ/ข้อคิดเห็นของ สคต.
การประชุม China (Chongqing) Night Economy Development Summit Forum ครั้งที่ 4 มีเป้าหมายเพื่อรวบรวมตัวแทนจากเมืองต่างๆ เช่น ปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ เฉิงตู กุ้ยหยาง เป็นต้น ตลอดจนผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมและนักลงทุน เพื่อสำรวจแนวโน้มการพัฒนาเศรษฐกิจยามค่ำคืนร่วมกัน
เดิมในอดีต ผู้คนจะเห็นว่ามหานครฉงชิ่งมุ่งเน้น/นำเสนอเมืองของตนเองในด้านธรรมชาติ ได้แก่ ภูเขา แม่น้ำ ตัวเมือง และสะพานเป็นหลัก แต่ปัจจุบันได้มีการพัฒนาจากรากฐานเดิมที่มีอยู่ และผสมผสานองค์ประกอบทางวัฒนธรรมผ่านการออกแบบสภาพแวดล้อมด้วยแสง/สี/เสียง เพื่อแสดงเสน่ห์ของทิวทัศน์ในยามค่ำคืน สร้างความตื่นตาตื่นใจ การมีเอกลักษณ์ และลักษณะที่โดดเด่นเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มากขึ้น
ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้มหานครฉงชิ่งไม่เพียงแต่ดึงดูดนักท่องเที่ยวเท่านั้น แต่ยังมีการดึงดูดนักลงทุนเข้ามาลงทุนที่ฉงชิ่งเพิ่มขึ้นด้วย เนื่องจากมหานครฉงชิ่งนับเป็นเมืองใหญ่และมีความสำคัญมากอีกแห่งหนึ่งของจีน ซึ่งตั้งอยู่ทางตอนบนของแม่น้ำแยงซี โดยในปี 2565 เศรษฐกิจของมหานครฉงชิ่งจัดอยู่ในอันดับที่ 4 ของจีน ด้วยผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศที่มีมูลค่าถึง 2.91 ล้านล้านหยวน (ประมาณ 14.55 ล้านล้านบาท) รวมถึงศักยภาพในการบริโภคของประชากรที่มีรายได้เฉลี่ยต่อหัวต่อปี 35,666 หยวน (ประมาณ 178,330 บาท) มหานครฉงชิ่งนับเป็นเมือง/ตลาดที่มีศักยภาพสูงอีกแห่งหนึ่ง โดยเฉพาะธุรกิจร้านอาหาร ธุรกิจบริการ และธุรกิจเกี่ยวกับความบันเทิง
——————————————————————
แหล่งที่มา:
https://www.chinadaily.com.cn/a/202307/13/WS64afa3caa31035260b8163f0.html
แปลและเรียบเรียงโดยสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครเฉิงตู