เริ่มแล้ว การชำระค้าสินค้าระหว่างบังกลาเทศและอินเดียด้วยเงินรูปีอินเดีย

เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2566 บังกลาเทศและอินเดียได้จัดงานเปิดตัวการชำระค่าสินค้านำเข้าและการส่งออกด้วยเงินสกุลรูปี โดยการริเริ่มของทั้งสองประเทศ ที่ต้องการลดการพึ่งพาเงินเหรียญ สรอ. โดยเฉพาะบังกลาเทศที่มีปริมาณเงินเหรียญ สรอ. อย่างจำกัด อย่างไรก็ตาม การชำระเงินค่าสินค้าส่งออก-นำเข้าสินค้าด้วยเงินรูปีนี้ จะเป็นธุรกรรมการค้าเพียงบางส่วน  และทั้งสองประเทศยังคงต้องติดตามว่าจะประสบกับปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินการเช่นไร

ในการชำระค่าสินค้า ทั้งสองประเทศได้อนุญาตให้ธนาคารของแต่ละฝ่ายเปิดบัญชีพิเศษที่จะมีเฉพาะธุรกรรมที่เกิดขึ้นภายใต้การค้าด้วยเงินรูปีเท่านั้น โดยบังกลาเทศได้อนุมัติให้ธนาคาร Sonali Bank และธนาคาร Eastern Bank Limited (EBL) เปิดบัญชี nostro ในสกุลเงินรูปีอินเดียกับธนาคาร State Bank of India และ ICICI Bank ของอินเดีย

บัญชี nostro นี้จะมีธุรกรรมทางการค้า ได้แก่ รายรับ (Credit) สกุลเงินรูปีจากการส่งออกสินค้าและบริการของบังกลาเทศ และรายการหัก (Debit) เพื่อชำระค่าสินค้าและบริการที่นำเข้าจากอินเดีย

บริษัท Tamim Agro และ Shahjahan Mia เป็น 2 บริษัทแรกของบังกลาเทศ ที่เปิด L/C เพื่อการส่งออกสินค้าไปยังอินเดียจำนวน 2 ฉบับมีมูลค่ารวม 28 ล้านรูปี และบริษัท Nita Company และ Abdul Matlub Ahmad เป็น 2 บริษัทแรกของบังกลาเทศ ที่เปิด L/C เพื่อการนำเข้าสินค้าจากอินเดียจำนวน 2 ฉบับมีมูลค่ารวม 12 ล้านรูปี L/C ทั้ง 4 ฉบับ จะได้รับการจัดการโดยธนาคารที่เข้าร่วมทั้งสี่แห่ง — Sonali Bank, Eastern Bank of Bangladesh ของบังกลาเทศ และ India’s State Bank of India และ ICICI Bank ของอินเดีย

สถานการณ์ทุนสำรองเงินตราต่างประเทศของบังกลาเทศ

ทุนสำรองเงินตราต่างประเทศของบังกลาเทศขณะนี้ (16 กรกฎาคม 2566) อยู่ที่ 23.567 พันล้านเหรียญ สรอ. ซึ่งเป็นตัวเลขทุนสำรองที่คำนวณใหม่ตามสูตรของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และตัวเลขใหม่นี้ธนาคารกลางบังกลาเทศประกาศเผยแพร่เป็นทางการเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา (หากคำนวณด้วยวิธีการดั้งเดิมของธนาคารกลางบังกลาเทศทุนสำรองเงินตราต่างประเทศจะอยู่ที่ 29.97 พันล้านเหรียญ สรอ.) วิธีการคำนวณแบบใหม่ที่ IMF เสนอนี้ ให้ตัดเงินกู้และเงินช่วยเหลืออื่นๆ ออกไปจากทุนสำรองสุทธิ

อนึ่ง บังกลาเทศประสบปัญหาการขาดแคลนเงินตราต่างประเทศ ซึ่งเกิดจากวิกฤติเศรษฐกิจโลกชะลอ ซึ่งเริ่มต้นจากโรคระบาดและสงครามยูเครน-รัสเซีย ส่งผลต่อรายได้จากการส่งออกสินค้าของบังกลาเทศ (ร้อยละ 80 มาจากการส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูป) และเงินรายได้เงินตราต่างประเทศจากแรงงานโพ้นทะเล ส่งผลให้ทุนสำรองเงินตราต่างประเทศลดลง

ผลจากการขาดแคลนทุนสำรองเงินตราต่างประเทศ ทำให้บังกลาเทศพยายามสกัดการไหลออก โดยวิธีการต่างๆ เช่น การจำกัดการออก  L/C และการกำหนด L/C Margin สินค้านำเข้าจากต่างประเทศ ส่งผลให้เกิดการชะลอตัวของการนำเข้าสินค้า เนื่องจาก ผู้นำเข้าไม่สามารถขอ L/C จากธนาคารได้ รวมทั้งต้องเพิ่มต้นทุนการนำเข้าจากการเรียกเก็บ L/C Margin

การนำวิธีการค้าแบบใช้เงินท้องถิ่นจึงเป็นวิธีเดียวในการหลีกเลี่ยงปัญหาการขาดแคลนทุนสำรองเงินตราต่างประเทศ ดังนั้น บังกลาเทศจึงหันไปเจรจากับอินเดียเพื่อขอชำระค่าสินค้าเป็นสกุลเงินรูปี-ตากา โดยในระยะแรกทั้งสองฝ่ายตกลงให้ใช้สกุลเงินรูปีเพียงสกุลเดียวก่อน เพื่อศึกษาร่วมกันว่า มีปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินการอย่างไรบ้าง

อย่างไรก็ตาม นักธุรกิจและนักวิเคราะห์ชาวบังกลาเทศได้แนะนำให้ดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องนี้ด้วยความระมัดระวัง และกล่าวว่าข้อตกลงนี้อาจสร้างปัญหาใหม่ให้กับบังกลาเทศ เนื่องจากแต่ละปีบังกลาเทศขาดดุลการค้าจำนวนมากกับอินเดีย ดังนั้นจึงอาจมีความเสี่ยงในการซื้อขายโดยใช้เงินรูปี อาจทำให้บังกลาเทศต้องหาเงินเหรียญ สรอ. มาแลกให้เป็นรูปีเพื่อจ่ายเงินค่าสินค้าให้กับอินเดีย

ความเห็นสำนักงาน

  1. ผลจากการขาดแคลนทุนสำรองเงินตราต่างประเทศ ทำให้บังกลาเทศประสบปัญหาในการสั่งซื้อสินค้าจากต่างประเทศ และปัญหาการชำระเงินล่าช้า
  2. ขณะนี้ สถานการณ์การขาดแคลนทุนสำรองเงินตราต่างประเทศยังไม่ดีขึ้น เมื่อบังกลาเทศต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขการคำนวณทุนสำรองเงินตราต่างประเทศแบบใหม่ ส่งผลให้ทุนสำรองปัจจุบันเหลือเพียง 567 พันล้านเหรียญ สรอ. แทนที่จะเป็น 29.97 พันล้านเหรียญ สรอ. ส่งผลให้รัฐบาลบังกลาเทศมีแรงกดดันเพิ่มมากขึ้น
  3. การนำเงินสกุลท้องถิ่นมาชำระค่าสินค้าส่งออกนำเข้า เป็นการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนเงินตราต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม เนื่องจากบังกลาเทศขาดดุลการค้าเป็นจำนวนมากกับอินเดีย วิธีการนี้อาจเป็นการสร้างปัญหาใหม่ หลายฝ่ายในบังกลาเทศจึงประเมินว่า เพื่อหลีกเลี่ยงข้อกังวลต่างๆ อย่างน้อยควรส่งสินค้าออกไปอินเดียและนำเข้าสินค้าจากอินเดียมูลค่าเท่ากับปริมาณส่งออกสินค้า-นำเข้าสินค้าของบังกลาเทศ
  4. วิธีการชำระค่าสินค้าด้วยเงินของคู่ค้าแต่ละฝ่าย อาจช่วยลดการพึ่งพาเงินสกุลหลักของโลก ในระยะสั้น จึงต้องติดตามสถานการณ์การค้าในรูปแบบใหม่นี้ว่าจะประสบปัญหาอุปสรรคใดๆ หรือไม่ ในระยะยาว หากผลการดำเนินการเป็นไปได้ด้วยดี อาจมีการเปิดช่องทางการชำระเงินค่าสินค้าระหว่างกันหลายประเทศมากขึ้น
  5. ปีงบประมาณ 2566-67 รัฐบาลบังกลาเทศจัดทำงบประมาณแบบขาดดุล ส่งผลให้รัฐบาลต้องเพิ่มช่องทางการหารายได้เพิ่มมากขึ้น ตามเอกสารงบประมาณ วิธีการที่รัฐบาลบังกลาเทศวางแผนไว้ได้แก่ การเพิ่มภาษีนำเข้าสินค้านำเข้า การเรียกเก็บเพิ่มมูลค่าสินค้านำเข้าขั้นต่ำ การเพิ่มจำนวนและฐานผู้เสียภาษี เป็นต้น

——————–

ที่มา หนังสือพิมพ์ท้องถิ่น

เริ่มแล้ว การชำระค้าสินค้าระหว่างบังกลาเทศและอินเดียด้วยเงินรูปีอินเดีย

thThai