สัญญาณผู้บริโภคแคนาดาจับจ่ายสินค้าอาหารลดลง ท่ามกลางภาวะเงินเฟ้อ
ตัวเลขล่าสุดจากหน่วยงานสถิติแคนาดาได้สะท้อนถึงพฤติกรรมผู้บริโภคชาวแคนาดา ที่มีการจับจ่ายสินค้าอาหารลดลงท่ามกลางภาวะเงินเฟ้อ ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาจากตัวเลขสถิติมูลค่าการจับจ่ายสินค้าอาหารต่อหัว (Food Spending per capita) ของชาวแคนาดา เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงก่อนโควิด โดยในเดือนมีนาคมปี 2562 มีการจับจ่ายเฉลี่ยมูลค่า 256 เหรียญแคนาดา/คน/เดือน (6,656 บาท/คน/เดือน) ต่อมาในเดือนมีนาคม 2563 มูลค่าได้เพิ่มขึ้นที่ระดับ 309 เหรียญแคนาดา (8,034 บาท) ในช่วงโควิดนั้น คนส่วนใหญ่ล็อกดาวน์ กักตัวอยู่บ้าน ทำให้เป็นช่วงพีคของยอดจำหน่ายสินค้าอาหารผ่านช่องทางค้าปลีก หลังจากนั้นมูลค่าเริ่มลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยในเดือนมีนาคม 2564 อยู่ที่ระดับ 277 เหรียญแคนาดา (7,202 บาท) และในเดือนมีนาคม 2565 ลดลงอยู่ที่ระดับ 256 เหรียญแคนาดา (6,656 บาท) โดยตัวเลขล่าสุดในเดือนมีนาคม 2566 ลดลงมาที่ระดับ 237 เหรียญแคนาดา (6,162 บาท) ซึ่งเป็นตัวเลขการจับจ่ายสินค้าอาหารที่ต่ำกว่าช่วงก่อนโควิดเสียอีก นอกจากนี้ ตัวเลขสถิติจากบริษัท NIQ ที่มีการจัดเก็บตัวเลขข้อมูลจากห้างค้าปลีกทั่วประเทศในแคนาดาเห็นถึงยอดจำหน่ายสินค้าอาหารในเชิงปริมาณที่ได้ลดลงร้อยละ 2 ในปีที่ผ่านมา ตอกย้ำถึงแนวโน้มยอดจำหน่ายและการบริโภคที่เริ่มลดลง
นักวิเคราะห์มองว่าเทรนด์ของยอดจำหน่ายสินค้าในห้างค้าปลีกที่ลดลงนั้น อาจมาจากหลายปัจจัย ตั้งแต่ทางเลือกของการบริโภคอาหารที่มากขึ้น ที่มาจากธุรกิจรับส่งอาหาร (Food Delivery & Takeout) คนรุ่นใหม่ใช้เวลาไปกับกิจกรรมอื่นๆ มากกว่าการปรุงอาหารที่บ้าน ที่เน้นซื้ออาหารมารับประทานที่บ้าน รวมถึงพฤติกรรมที่คนประหยัดมากขึ้น ลดปริมาณการบริโภค (ร้อยละ 62) หันไปจับจ่ายสินค้า Private Label มากขึ้น (ร้อยละ 46) ลดการบริโภคเนื้อสัตว์ (ร้อยละ 35) หรือลดการบริโภคผักผลไม้ที่มีราคาแพง (ร้อยละ 21) ที่ทำให้ยอดจำหน่ายของห้างค้าปลีกอาหารในภาพรวมลดลง ถึงแม้ว่ารายได้ของห้าง Loblaws ซึ่งเป็นห้างค้าปลีกอาหารใหญ่อันดับ 1 ของแคนาดา มียอดจำหน่ายเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.1 ในไตรมาสแรกของปี 2566 แต่ก็เป็นตัวเลขที่ต่ำกว่าอัตราเงินเฟ้อของราคาอาหารที่ระดับร้อยละ 9.1 ในช่วงไตรมาสเดียวกัน ปัญหาในปัจจุบันที่ชาวแคนาดาต้องเผชิญมาจากความสามารถในการจ่ายสินค้าอาหาร (Food Affordability) ที่ภาวะเงินเฟ้อที่ได้ส่งผลให้ค่าครองชีพสูงขึ้น โดยค่าใช้จ่ายของผู้คนส่วนใหญ่ในแต่ละเดือนจะหมดไปกับค่าอาหาร (Food Cost) และค่าที่พัก (Shelter Cost) เป็นหลัก ในขณะที่รายได้ของผู้คนส่วนใหญ่ไม่ได้ปรับเพิ่มขึ้นตามอัตราเงินเฟ้อในปัจจุบัน ทำให้มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคสินค้า ซึ่งรวมถึงการลดการบริโภคและการจับจ่ายสินค้าอาหาร ทั้งในเชิงมูลค่าและปริมาณ
ความเห็นของ สคต.
สถานการณ์เงินเฟ้อล่าสุดในแคนาดาในเดือนเมษายน 2566 (ประกาศเดือนพฤษภาคม 2566) อยู่ที่ระดับ 4.4 ขยับเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 4.3 ในเดือนมีนาคม 2566 โดยเป็นการปรับเพิ่มขึ้นครั้งแรกหลังจากที่ทยอยปรับลดติดต่อกัน 9 เดือน (อัตราเงินเฟ้อเคยอยู่ในระดับสูงสุดในเดือนมิถุนายน 2565 ที่ระดับร้อยละ 8.1) โดยตัวเลขเงินเฟ้อล่าสุดในเดือนเมษายน 2566 เพิ่มขึ้นมาจากค่าใช้จ่าย ค่าที่พัก (Shelter Cost ) อาทิ ค่าเช่าหรือค่าผ่อนบ้านที่สูงขึ้น และราคาพลังงานที่ได้เริ่มปรับสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม อัตราเงินเฟ้อจากราคาสินค้าอาหารเริ่มชะลอตัวที่ระดับร้อยละ 9.1 ในเดือนเมษายน 2566 ลดลงจาก 9.7 ในเดือนมีนาคม 2566 แต่ก็ยังคงอยู่ในระดับสูง ผลกระทบของเงินเฟ้อได้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคสินค้าอาหาร ที่เริ่มส่งผลให้ยอดจำหน่ายเริ่มชะลอตัวและอาจมีการปรับลดลงอย่างมีนัยสำคัญมากขึ้นในอนาคต ที่อาจส่งผลกระทบต่อการนำเข้าและส่งออกสินค้าอาหารจากไทย ที่ผู้คนต้องหันมารัดเข็มขัดมากขึ้น ท่ามกลางสถานการณ์ที่ค่าใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้นแต่รายได้ไม่ได้ปรับเพิ่มขึ้นตามสัดส่วนของค่าใช้จ่ายที่เพิ่ม
สินค้า Private Label เป็นหนึ่งในกลุ่มสินค้าที่เงินเฟ้อผลักดันให้ผู้บริโภคหันมาจับจ่ายกับสินค้าดังกล่าวเพิ่มมากขึ้น หรือพฤติกรรม Brand Switching ที่ผู้บริโภคมองหาแบรนด์สินค้าราคาประหยัดมากขึ้น ที่อาจเป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการไทยในเจาะกลุ่มสินค้าใหม่ๆ ในแคนาดา
โปรดติดตามความเคลื่อนไหวในการค้าระหว่างประเทศผ่าน ช่องทางต่างๆ ของกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ www.ditp.go.th และ www.thaitrade.com หรือโทรปรึกษาเรื่องการค้าระหว่างประเทศที่กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ โทร.1169 (หากโทรจากต่างประเทศ โปรดติดต่อที่ โทร. +66 2792 6900)
——————————————————————-