ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ชาวจีนให้ความสำคัญกับขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมมาโดยตลอด ซึ่งการให้และรับของขวัญถือเป็นธรรมเนียมเก่าแก่ของจีน เพราะเป็นการแสดงความรัก สานสัมพันธ์ไมตรีและการขอบคุณรูปแบบหนึ่ง จึงได้เกิดเป็น “เศรษฐกิจของขวัญ (Gift Economy)”

จากการบูรณาการ “เศรษฐกิจของขวัญ (Gift Economy)” ร่วมกับแพลตฟอร์ม E- Commerce ได้อำนวยความสะดวกสบายในการเลือกซื้อของขวัญให้แก่ผู้บริโภคจีนมากขึ้น และยังเพิ่มความถี่ในการส่งมอบของขวัญสำหรับเทศกาลใหม่ๆ อีกด้วย ทำให้มูลค่าตลาดเศรษฐกิจของขวัญในจีนขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

1. มูลค่าตลาดเศรษฐกิจของขวัญในจีน

จากข้อมูลการสำรวจพบว่า มูลค่าตลาดเศรษฐกิจของขวัญในจีนขยับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2561 มูลค่าตลาดเศรษฐกิจของขวัญในจีนมีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 800,000 ล้านหยวน และขยับเพิ่มขึ้นเป็น 1,226,200 ล้านหยวนในปี 2565 และคาดว่าในปี 2570 มูลค่าตลาดดังกล่าวจะมีรวมทั้งสิ้น 1,619,700 ล้านหยวน ผู้เชี่ยวชาญของ iiMedia Research เผยว่า จากการขับเคลื่อนการพัฒนาเทคโนโลยี การอัปเดตโครงสร้างการบริโภค และการชอปปิงออนไลน์อย่างต่อเนื่อง ทำให้ขนาดตลาดการค้าปลีกออนไลน์ของจีนขยายตัวอย่างก้าวกระโดด และเศรษฐกิจของขวัญของจีนมีการพัฒนาไปอีกระดับ คาดว่าในอนาคตจะมีผู้เล่น/นักลงทุนในเศรษฐกิจของขวัญของจีนมากยิ่งขึ้น

จับตามอง Gift Economy ของจีน ปี 2566

2. ภูมิหลังของการบริโภค

เทศกาลต่าง ๆ มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจของขวัญในจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเทศกาลแบบดั้งเดิมและเทศกาลของฝั่งตะวันตก ล้วนเป็นการส่งมอบของขวัญแทนความรักและความหวังดีให้กันและกัน

จับตามอง Gift Economy ของจีน ปี 2566

3. ช่องทางการซื้อของขวัญของผู้บริโภคจีน

ข้อมูลจาก iiMedia Research แสดงให้เห็นว่า ผู้บริโภคจีนเลือกซื้อของขวัญบนแพลตฟอร์ม E-Commerce (Taobao, Jingdong) คิดเป็นร้อยละ 73.2 ห้างสรรพสินค้า/ร้านจำหน่ายของที่ระลึก คิดเป็นร้อยละ 61.9 แพลตฟอร์มออนไลน์สำหรับร้านของขวัญ/ของที่ระลึกคิดเป็นร้อยละ 39.0 นักวิเคราะห์ของ iiMedia Research เผยว่าผู้บริโภคจีนส่วนใหญ่นิยมซื้อของขวัญบนแพลตฟอร์ม E-Commerce เนื่องจากประหยัดเวลา สะดวกสบายและมีความคุ้มค่า อีกทั้งสามารถส่งสินค้า (ของขวัญ) ไปถึงปลายทางผู้รับได้อย่างรวดเร็ว

จับตามอง Gift Economy ของจีน ปี 2566

4. พฤติกรรมผู้บริโภค

          4.1 กลุ่มผู้บริโภค

จับตามอง Gift Economy ของจีน ปี 2566

          4.2 ราคา

จากข้อมูลแสดงให้เห็นว่า สัดส่วนราคาในการส่งมอบของขวัญของผู้บริโภคชาวจีนในปี 2566 ค่อนข้างกระจัดกระจาย โดยผู้บริโภคจีนที่เลือกซื้อของขวัญราคาประมาณ 100-5,000 หยวนคิดเป็นร้อยละ 90.2 โดยนักวิเคราะห์ของ iiMedia Research เผยว่า จากการยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้บริโภคชาวจีน ในอนาคตแนวโน้มการเลือกซื้อของขวัญจะมีราคาเพิ่มสูงขึ้น

จับตามอง Gift Economy ของจีน ปี 2566

          4.3 ของขวัญที่ผู้บริโภคชาวจีนนิยมซื้อ

จากข้อมูลแสดงให้เห็นว่า ในกลุ่มผู้บริโภค “เศรษฐกิจของขวัญจีน” ของขวัญยอดนิยมที่ผู้บริโภคชาวจีนนิยมส่งมอบให้แก่ญาติผู้ใหญ่และมิตรสหาย ได้แก่ ขนมไหว้พระจันทร์ ขนมบ๊ะจ่าง คิดเป็น  ร้อยละ 43.4 รองลงมาคือบุหรี่ สุราและชา คิดเป็นร้อยละ 42.2 อาหารว่างคิดเป็นร้อยละ 35.5 และอั่งเปา คิดเป็นร้อยละ 32.5 เป็นต้น

จับตามอง Gift Economy ของจีน ปี 2566

5. ของขวัญที่ผู้บริโภคชาวจีนนิยมส่งมอบให้กัน

จับตามอง Gift Economy ของจีน ปี 2566

6. แนวโน้มของอุตสาหกรรม

นักวิเคราะห์ของ iiMedia Research เผยว่า เศรษฐกิจของขวัญของจีนมีแนวโน้มในการพัฒนาที่สำคัญดังนี้

6.1 เศรษฐกิจของขวัญในตลาดจีนมีการบูรณาการร่วมกันกับธุรกิจดอกไม้ E- Commerce การ Live Streaming และ E- Commerce แบบใหม่ผสานรวมกัน

6.2 ผู้ประกอบการที่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับ “ของขวัญ” มุ่งเน้นการสร้างสรรค์ในการออกแบบและปรับปรุงผลิตภัณฑ์อย่างสม่ำเสมอ มีการใช้งานได้จริงและยกระดับคุณภาพ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่อง

6.3 กำหนดเป้าหมายของกลุ่มผู้บริโภคและกลยุทธ์การตลาดของแบรนด์ อาทิ ตอบสนความต้องการของผู้บริโภคที่เกิดในยุค 80 และยุค 90 ยกระดับกระแสนิยมและนวัตกรรมใหม่

6.4 กำหนดการให้บริการในระดับที่สูงขึ้น เน้นความเป็นส่วนบุคคล

ความคิดเห็น สคต.

ชาวจีนให้ความสำคัญกับเทศกาลดั้งเดิมและโอกาสพิเศษต่างๆ เป็นอย่างมาก และวัฒนธรรมการมอบของขวัญในช่วงเทศกาลเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้สำหรับชาวจีน โดยเฉพาะเมื่อถึงเทศกาลต่าง ๆ เช่น วันตรุษจีน วันวาเลนไทน์ วันไหว้พระจันทร์ เทศกาลบ๊ะจ่าง เป็นต้น ซึ่งปัจจุบันการมอบของขวัญให้แก่ญาติผู้ใหญ่และมิตรสหายทำได้ทั้งออนไลน์และออฟไลน์ โดยการให้ของขวัญผ่านช่องทางออนไลน์ส่วนใหญ่เป็น  เทรนด์แจก อั่งเปาตามตัวเลขมงคลและมีความหมายแฝงที่ดีผ่านทางวีแชทหรืออาลีเพย์ นิยมให้ในช่วงวันตรุษจีน เทศกาล 5.20 (ตรงกับวันที่ 20 พฤษภาคม พ้องเสียงหว่ออ้ายหนี่) วันเกิด วันพ่อและวันแม่ เป็นต้น เพื่อเป็นการแสดงความรักอีกรูปแบบหนึ่ง ขณะที่ช่องทางออฟไลน์ส่วนใหญ่เป็นการส่งมอบชา บุหรี่ สุรา รังนก เครื่องประดับและอัญมณี สกินแคร์และเครื่องสำอาง เป็นต้น

ดังนั้น การทำ Seasonal Marketing หรือการตลาดตามเทศกาล เป็นอีกหนึ่งช่องทางการตลาดที่มีศักยภาพในการขยายฐานสินค้าไทยไปยังจีน โดยผู้ประกอบการไทยที่มีความสนใจในการเจาะตลาดกลุ่มสินค้าของขวัญ ควรจับตามองพฤติกรรมและเทรนด์ตลาดในช่วงเทศกาลต่าง ๆ ของจีนอย่างใกล้ชิด อาทิ ปีนักษัตร เทรนด์สีและการสอดแทรกวัฒนธรรม เป็นต้น เนื่องจากผู้บริโภคจีนมีอัตราการบริโภคสินค้าดังกล่าวค่อนข้างสูง และผู้ประกอบการไทยแบรนด์ต่าง ๆ ควรใส่ใจในการเพิ่มนวัตกรรมใหม่ สร้างความแตกต่างด้านจุดเด่นและจุดขายให้ชัดเจน โดยคิดเคมเปญการตลาดตามเทศกาล ดึงดูดกระแสผู้บริโภคผ่านช่องทางออนไลน์เพื่อขยายฐานลูกค้าในวงกว้าง และส่งเสริมการขายบนแพลตฟอร์มออนไลน์ของจีนในช่วงใกล้เทศกาลต่างๆ เพื่อเพิ่มตัวเลือกการเลือกซื้อของขวัญให้มีความหลากหลายจนเกิดเป็นกระแสซื้อตาม คาดว่าในอนาคต “เศรษฐกิจของขวัญ” ในตลาดจีนจะมีสินค้าไทยเข้ามาครองส่วนแบ่งตลาดได้อย่างแน่นอน

*****************************************

แหล่งที่มา : https://mp.weixin.qq.com/s/YLZ0YUnbrXSPQVyWCxat2Q

https://mp.weixin.qq.com/s/P33OdXkDpZyVgYdXoyucGg

https://mp.weixin.qq.com/s/NrMbL2x8UG83yzceqNKTQg

https://www.cea.or.th/th/single-statistic/gift-economy

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครคุนหมิง

thThai