นิสสันปรับโครงสร้างครั้งใหญ่หลังขาดทุนหนัก ตั้งเป้าลดต้นทุน 400,000 ล้านเยน ภายในปี 2569 ส่งผลเลิกจ้างกว่า 20,000 ตำแหน่งในช่วงปีงบประมาณ 2567 – 2570 ซึ่งรวมถึง 9,000 ตำแหน่งก่อนหน้านี้
เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2568 นิสสัน ผู้ผลิตยานยนต์อันดับ 3 ของญี่ปุ่น ประกาศแผนปรับโครงสร้างครั้งใหญ่ หลังผลประกอบการปีงบประมาณ 2567* ขาดทุนสูงถึง 750 พันล้านเยน เนื่องจากยอดขายทั่วโลก โดยเฉพาะในตลาดหลักอย่างจีน และสหรัฐอเมริกา ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ บริษัทฯ ตั้งเป้าพลิกฟื้นธุรกิจ โดยการลดต้นทุน 400,000 ล้านเยน ภายในปีงบประมาณ 2569 และขับเคลื่อนการเติบโตของรายได้รวมผ่านผลิตภัณฑ์ที่มีความสามารถในการแข่งขัน ด้วยกลยุทธ์ในการกำหนดสินค้าเฉพาะแต่ละตลาดเป้าหมาย อาทิ เจาะตลาดรถไฮบริด และส่งเสริมแบรนด์ Infinity ในสหรัฐฯ รถ SUV ขนาดเล็ก (B และ C segment) ในยุโรป และ SUV ขนาดใหญ่สำหรับตลาดตะวันออกกลาง
แผนปรับโครงสร้างของนิสสันครั้งนี้ ส่งผลต่อการลดอัตราพนักงานทั่วโลกร้อยละ 15 จำนวนกว่า 20,000 ตำแหน่ง โดยเฉพาะพนักงานประจำสำนักงาน (indirect employees) นอกจากนี้ มุ่งปรับโครงสร้างฐานการผลิต โดยลดกำลังการผลิตทั่วโลก รวมถึงในสหรัฐฯ และจีน ลงร้อยละ 20 ทั้งนี้ ในส่วนของโรงงานในไทย มีการปรับเปลี่ยนจากการผลิตรถยนต์ในโรงงานแห่งที่ 1 เป็นการขึ้นรูปและประกอบตัวถัง และ โลจิสติกส์ และนำไลน์ผลิตรถยนต์บางรุ่นไปรวมกับโรงงานแห่งที่ 2 ซึ่งเดิมผลิตรถปิกอัพเป็นหลัก
เมื่อเดือนเมษายน ศกนี้ บริษัทประกาศยกเลิกการลงทุนตั้งโรงงานผลิตแบตเตอรี Lithium Iron Phosphate (LFP) สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า ที่เมืองคิตะคิวชู ฟูกูโอกะ ซึ่งมีจุดมุ่งหมายในการนำนิสสันสู่การเป็นผู้เล่นสำคัญในตลาดรถยนต์ไฟฟ้า ด้วยเงินลงทุนสูงถึง 153.3 พันล้านเยน (1.06 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) และสร้างงานกว่า 500 ตำแหน่ง
ทั้งนี้ เมื่อเดือนธันวาคม 2567 มีความพยายามในการจัดทำแผนควบรวมธุรกิจครั้งประวัติศาสตร์ของกลุ่มผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ ประกอบด้วย โตโยต้า ฮอนด้า และนิสสัน เพื่อมุ่งยกระดับศักยภาพในการแข่งขันในตลาดรถยนต์ไฟฟ้า หากแต่การเจรจาไม่ประสบความสำเร็จ
*หมายเหตุ : ปีงบประมาณญี่ปุ่น คือ เมษายน – มีนาคมของปีถัดไป โดยปีงบประมาณ 2567 สิ้นสุด ณ เดือนมีนาคม 2568