ปี 2568 นับเป็นปีแห่งการพัฒนาของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ โดย “DeepSeek” กลายเป็นกระแสที่ได้รับความนิยมอย่างรวดเร็วทั่วมณฑลส่านซีหลังการเปิดตัวภายในช่วงระยะเวลาเพียงสองเดือน บริษัทและองค์กรต่างๆ ได้เริ่มนำ AI ไปปรับใช้ในหลากหลายสาขา อาทิ ห้องปฏิบัติการการวิจัย เวิร์กช็อปการผลิต การแพทย์ทางไกล และการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ซึ่งช่วยปลดล็อกศักยภาพทางอุตสาหกรรมและยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของภูมิภาค
ปัญญาประดิษฐ์นวัตกรรมในอุตสาหกรรมไฮเทค
นายหลิว เว่ย ประธานและผู้จัดการทั่วไปของบริษัท Xi’an Zhongke Lide Infrared Technology Co., Ltd. ซึ่งเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมโฟโตนิกส์ของส่านซี และมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาอุปกรณ์อัจฉริยะด้านออปโตอิเล็กทรอนิกส์ เปิดเผยว่า ” AI กลายเป็นกุญแจสำคัญในการขับเคลื่อนงานวิจัยและการพัฒนา
ให้รวดเร็วขึ้น งานที่เคยซับซ้อนและใช้เวลานาน บัดนี้สามารถดำเนินการได้ภายใน 1-2 วัน” ย้อนกลับไปในปี 2561 บริษัทฯ ได้จัดตั้งสถาบันวิจัยเทคโนโลยีออปโตอิเล็กทรอนิกส์ปัญญาประดิษฐ์เพื่อนำเทคนิคการเรียนรู้ของเครื่องจักรแบบออนไลน์และการจำลองตัวเองมาพัฒนานวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง การผสาน DeepSeek เข้ากับระบบของบริษัทช่วยให้สามารถคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ ได้อย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งรักษาความเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมได้อย่างมั่นคง
พลิกโฉมระบบการแพทย์ดิจิทัล
DeepSeek ไม่เพียงแต่สร้างจุดเปลี่ยนในอุตสาหกรรมไฮเทค แต่ยังขยายบทบาทเข้าสู่วงการแพทย์ บริษัท Xi’an Buzz Lightyear Software Technology Co., Ltd. ประสบความสำเร็จในการบูรณาการระบบ DeepSeek+ เข้ากับแผนกศัลยกรรมตับและทางเดินน้ำดีของโรงพยาบาลในเครือมหาวิทยาลัย Xi’an Jiaotong เพื่อพัฒนาระบบแพทย์ทางไกลอัจฉริยะ นายมู่ หย่งเฟิง ผู้จัดการทั่วไปของบริษัทฯ กล่าวว่า “เทคโนโลยีของเราช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการแลกเปลี่ยนข้อมูลทางการแพทย์ ทำให้การวินิจฉัยและรักษาผู้ป่วยทางไกลแม่นยำและรวดเร็วยิ่งขึ้น” โดยบริษัทวางแผนจะพัฒนาแพลตฟอร์มให้สมบูรณ์แบบภายใน 3 – 6 เดือนข้างหน้า ซึ่งจะเป็นก้าวสำคัญในการปฏิวัติระบบการแพทย์ดิจิทัลของมณฑลส่านซี
เสริมพลังอุตสาหกรรมท่องเที่ยวด้วย AI
มณฑลส่านซีเป็นจุดหมายปลายทางด้านวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวที่สำคัญ โดยเฉพาะนครซีอาน ซึ่งมีแหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมสูง เช่น พิพิธภัณฑ์สุสานจิ๋นซีฮ่องเต้ กำแพงเมืองซีอาน และพระราชวังหัวชิง ในช่วงเทศกาลตรุษจีนปี 2568 แหล่งท่องเที่ยวเหล่านี้ได้เปิดตัวโครงการท่องเที่ยวเชิงโต้ตอบด้วย AI เพื่อเพิ่มประสบการณ์ของนักท่องเที่ยว บริษัท Shaanxi Yun Chuang Network Technology Co., Ltd. ได้ร่วมมือกับกระทรวงวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวมณฑลส่านซีเพื่อพัฒนาแพลตฟอร์มตรวจสอบอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวอัจฉริยะและระบบสั่งการฉุกเฉิน ซึ่งเชื่อมต่อข้อมูลจากสถานที่ท่องเที่ยวระดับ A1 ไปจนถึง A5 กว่า 300 แห่งทั่วมณฑล ช่วยให้การจัดการภาวะฉุกเฉินมีประสิทธิภาพมากขึ้น
นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังเป็นเจ้าของแพลตฟอร์ม “Visit Shaanxi” ซึ่งรวบรวมข้อมูลด้านการเดินทาง การจองตั๋ว และบริการแนะนำร้านอาหาร ตั้งแต่เปิดตัวในปี 2563 แอปพลิเคชันดังกล่าวมีผู้ใช้งานสะสมกว่า 4 ล้านราย และได้รับเลือกให้เป็นแพลตฟอร์มท่องเที่ยวอัจฉริยะระดับประเทศในปี 2567 และสำหรับในปี 2568 นี้แพลตฟอร์มดังกล่าวได้เปิดตัว AI Intelligent Customer Service เพื่อให้บริการตอบคำถามเกี่ยวกับการเดินทาง และวางแผนพัฒนานวัตกรรมด้านการตลาด การจัดการเหตุฉุกเฉิน และการให้บริการทางการเงินโดยใช้ AI
(ภาพและแหล่งที่มา https://govt.chinadaily.com.cn/ /National Supercomputing Center in Xi’an partners with DeepSeek)
ศูนย์ซูเปอร์คอมพิวเตอร์: พลังขับเคลื่อน DeepSeek
DeepSeek กำลังได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายทั่วทุกมุมโลก โดยมีศูนย์ซูเปอร์คอมพิวเตอร์แห่งชาติซีอานเป็นศูนย์กลางด้านการจัดเก็บข้อมูลและประมวลผลที่สำคัญของมณฑลส่านซี ศูนย์แห่งนี้ตั้งอยู่บนพื้นที่กว่า 51 หมู่ (ประมาณ 34 ไร่) มีพื้นที่ใช้งานมากถึง 65,000 ตารางเมตร และมีศักยภาพด้านการคำนวณที่ทันสมัยระดับโลก นายหยวน หยูเฟิง ผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการของศูนย์ กล่าวว่า ปัจจุบันมีองค์กรและสถาบันจำนวนมากที่หันมาพัฒนาแอปพลิเคชัน AI โดยใช้โมเดล DeepSeek ซึ่งต้องอาศัยการประมวลผลและปริมาณข้อมูลที่มหาศาล เพื่อรองรับความต้องการดังกล่าว ศูนย์ฯ จึงได้ร่วมมือกับ National Supercomputing Internet Platform ในการสร้างฐานจัดเก็บข้อมูลและประมวลผล สำหรับโมเดล AI ขนาดใหญ่ในประเทศจีน
อนาคตของ AI ในส่านซี
มณฑลส่านซีได้กำหนดแผนปฏิบัติการเพื่อเร่งพัฒนาอุตสาหกรรม AI โดยคาดว่าภายในปี 2569 มูลค่าอุตสาหกรรม AI จะทะลุระดับพันล้านหยวน พร้อมทั้งขยายการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี AI ในภาคอุตสาหกรรม นาย จาง หง ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเศรษฐกิจดิจิทัลตะวันตก กล่าวเสริมว่า “DeepSeek กำลังเปลี่ยนโครงสร้างระบบนิเวศอุตสาหกรรมของมณฑลส่านซี เราต้องใช้โอกาสนี้ในการสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างภาคอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัย และงานวิจัย เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลอย่างยั่งยืน” DeepSeek ได้พิสูจน์แล้วว่า AI ไม่ใช่เพียงแค่เทคโนโลยี แต่เป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของอุตสาหกรรม และมณฑลส่านซีกำลังใช้โอกาสนี้ในการก้าวขึ้นเป็นศูนย์กลางของนวัตกรรมในประเทศจีน
ข้อเสนอแนะ สคต. ณ นครเฉิงตู
ในยุคปัจจุบัน เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) ได้กลายเป็นปัจจัยสำคัญที่มีบทบาทช่วยผลักดันเศรษฐกิจและภาคธุรกิจทั่วโลก ผู้ประกอบการไทยจำเป็นต้องปรับตัวให้เท่าทัน โดยสามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี AI ในการเพิ่มประสิทธิภาพ ลดต้นทุน และเปิดโอกาสทางการตลาดใหม่ ๆ ข้อมูลจากสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) ระบุว่าร้อยละ 17.8 ขององค์กรไทยได้เริ่ม
ใช้งาน AI แล้ว ในขณะที่ร้อยละ 73.3 วางแผนจะนำมาใช้งานในอนาคต นอกจากนี้ยังพบว่ามีผู้ใช้งาน AI ในประเทศไทยถึงร้อยละ 62 ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ข้อมูลนี้สะท้อนให้เห็นว่าการนำ AI มาปรับใช้ในธุรกิจไทยไม่ได้เป็นเพียงทางเลือกอีกต่อไป แต่เป็นสิ่งจำเป็นเพื่อเสริมศักยภาพและความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจ รวมถึงสร้างความเติบโตในระยะยาว
ทั้งนี้ AI ได้กลายเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคธุรกิจ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมด้านการเงิน การแพทย์ การเกษตร รวมไปถึงด้านโลจิสติกส์และอีคอมเมิร์ซ ตัวอย่างการใช้ AI ในการเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจ เช่น ระบบอัตโนมัติในกระบวนการผลิตที่ช่วยลดต้นทุนแรงงาน การนำ AI วิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) เพื่อปรับปรุงกระบวนการทำงาน และการใช้ระบบแชตบอท (Chatbot) ในการให้บริการลูกค้า ลดภาระงานของพนักงานและช่วยตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างรวดเร็ว ด้านการวิเคราะห์ AI สามารถช่วยผู้บริหารตัดสินใจได้รวดเร็วขึ้น เช่น การวิเคราะห์แนวโน้มตลาด การพยากรณ์ยอดขาย หรือการบริหารความเสี่ยงทางธุรกิจ ส่วนด้านการเงินใช้ AI ในการวิเคราะห์ข้อมูลลูกค้าเพื่อเสนอผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสม รวมถึงการตรวจจับการฉ้อโกงที่มีความซับซ้อน ในด้านการแพทย์ AI ถูกนำมาช่วยวิเคราะห์ภาพถ่ายเอกซเรย์และวินิจฉัยโรคอย่างแม่นยำ ลดภาระงานของแพทย์และเพิ่มโอกาสในการรักษาผู้ป่วยได้อย่างทันท่วงที ขณะที่อุตสาหกรรมค้าปลีกและอีคอมเมิร์ซมีการใช้ AI วิเคราะห์พฤติกรรมผู้บริโภค เพื่อเสนอสินค้าและบริการที่ตรงกับความต้องการของลูกค้ามากยิ่งขึ้น
แม้ว่าการนำ AI มาใช้ในธุรกิจจะช่วยลดต้นทุนและเพิ่มผลกำไร แต่สิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันคือการพัฒนาทักษะของบุคลากรให้สามารถใช้ AI ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผู้ประกอบการควรส่งเสริมการเรียนรู้และฝึกอบรมด้าน AI ให้กับพนักงาน รวมถึงสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยี AI ภายในองค์กร และการนำ AI มาใช้ในธุรกิจต้องคำนึงถึงกรอบกฎหมายและจริยธรรม เช่น การปกป้องข้อมูลส่วนบุคคล (PDPA) และแนวปฏิบัติด้าน AI ที่เป็นธรรม ผู้ประกอบการไทยควรศึกษาและปฏิบัติตามข้อกำหนดเหล่านี้ เพื่อป้องกันปัญหาทางกฎหมายและสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้า
————————————————–
成都の海外貿易促進オフィス
มีนาคม 2568
แหล่งข้อมูล :
https://mp.weixin.qq.com/s/7KrrIKMBs4wrsZt5EYHgxQ
https://www.etda.or.th/th/pr-news/AI_SurveyxETDA.aspx?utm_source=chatgpt.com
https://www.idc.com/getdoc.jsp?containerId=prAP52307424
https://www.weforum.org/stories/2018/09/4-ways-ai-artificial-intelligence-impact-financial-job-market