ชาวเยอรมันให้ความสำคัญกับฉลากมาตรฐานสวัสดิภาพสัตว์และฉลากออร์แกนิกมากขึ้น

ชาวเยอรมันให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าอาหารที่พวกเขาซื้อ เช่น ฉลากมาตรฐานสวัสดิภาพสัตว์ (Tierwohl) ฉลากออร์แกนิก (Biosiegel) และฉลากแสดงระดับคุณค่าทางโภชนาการ (Nutri-Score) เป็นต้น ซึ่งถือว่ามีอิทธิพลต่อการตัดสินใจซื้อสินค้าของผู้บริโภคชาวเยอรมันมากขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา

กระทรวงอาหารและการเกษตรแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (BMEL) ได้เผยแพร่รายงานโภชนาการ “เยอรมนี บริโภคอย่างไร ปี 2024” โดยสถาบันวิจัย Forsa ได้ทำการสำรวจพฤติกรรมการบริโภคของชาวเยอรมันอายุ 14 ปีขึ้นไป จำนวน 1,000 คน พบว่า ผู้บริโภคชาวเยอรมัน ให้ความสำคัญกับฉลากมาตรฐานสวัสดิภาพสัตว์ (Tierwohl) ในการเลือกซื้ออาหาร กว่าร้อยละ 65 ซึ่งเพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่าเมื่อเทียบกับปี 2015 (ปี 2015: ร้อยละ 36) ผู้บริโภคชาวเยอรมันกว่าร้อยละ 59 ให้ความสำคัญกับฉลากออร์แกนิก (Biosiegel) นอกจากนี้ ผู้บริโภคชาวเยอรมันกว่าร้อยละ 88 สังเกตฉลากแสดงระดับคุณค่าทางโภชนาการ (Nutri-Score) บนสินค้า เพิ่มมากขึ้นเป็น 2 เท่าเมื่อเทียบกับปี 2021 (ปี 2021: ร้อยละ 44) และผู้บริโภคกว่าร้อยละ 37 มักเปรียบเทียบระดับคุณค่าทางโภชนาการในการตัดสินใจเลือกซื้อสินค้า

ผู้บริโภคเยอรมันให้ความสำคัญกับรสชาติเป็นอันดับแรก

ชาวเยอรมันให้ความสำคัญกับฉลากมาตรฐานสวัสดิภาพสัตว์และฉลากออร์แกนิกมากขึ้น
ที่มา Bundesministerium für Ernährung und Landwirtschaft

นอกจากรสชาติอาหารที่ผู้บริโภคชาวเยอรมันให้ความสำคัญเป็นอันดับแรกแล้ว (ร้อยละ 99) อาหารเพื่อสุขภาพยังถือเป็นปัจจัยสำคัญต่อการตัดสินใจซื้ออาหารของผู้บริโภคถึงร้อยละ 91 โดยเฉพาะผู้บริโภคผู้หญิง (ร้อยละ 97) ที่นิยมรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพมากกว่าผู้ชาย (ร้อยละ85) อย่างมีนัยสำคัญ รองลงมาคืออาหารที่สะดวกใช้เวลาปรุงอาหารรวดเร็ว (ร้อยละ 56)

พฤติกรรมการบริโภคเนื้อสัตว์ในเยอรมนียังไม่เปลี่ยนแปลงจากปีที่แล้ว

นับตั้งแต่ที่มีการทำรายงานสำรวจ พบว่า ชาวเยอรมันรับประทานเนื้อสัตว์หรือไส้กรอกน้อยลงทุกวัน และเลือกซื้อผลิตภัณฑ์เนื้อทางเลือกที่เป็นมังสวิรัติหรือวีแกนแทน โดยในปี 2015 มีการบริโภคเนื้อสัตว์อยู่ที่ร้อยละ 34 ซึ่งมากกว่าในปีปัจจุบันถึงร้อยละ 11 โดยผู้บริโภคชาวเยอรมันร้อยละ 39 มักจะซื้อผลิตภัณฑ์เนื้อทางเลือกที่เป็นมังสวิรัติหรือวีแกนแทนผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์ (ในปี 2020 : ร้อยละ 29) โดยเหตุผลหลักในการเลือกซื้ออาหารมังสวิรัติหรือวีแกน ได้แก่ (1) ต้องการทดลองอาหารใหม่ (ร้อยละ 69) (2) รสชาติ (ร้อยละ 64) (3) สวัสดิภาพสัตว์ (ร้อยละ 63) (4) ปกป้องสิ่งแวดล้อม (ร้อยละ 60) (5) เพื่อสุขภาพ (ร้อยละ 52)

อย่างไรก็ตาม ผักและผลไม้ยังคงเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันของชาวเยอรมัน โดยร้อยละ 71 ของผู้ตอบแบบสำรวจรับประทานผักและผลไม้อย่างน้อยวันละ 1 ครั้ง ซึ่งนอกจากฉลากต่างๆ ที่ชาวเยอรมันให้ความสำคัญแล้ว ชาวเยอรมันยังนิยมเลือกซื้อผักและผลไม้ตามฤดูกาลกว่าร้อยละ 80 และร้อยละ 77 มักจะเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่มาจากภูมิภาคของของตน นอกจากนี้ ผลิตภัณฑ์นม เช่น โยเกิร์ตหรือชีส มีอยู่ในเมนูประจำวันถึงร้อยละ 62 ในส่วนของการบริโภคเนื้อสัตว์หรือไส้กรอกอยู่ที่ร้อยละ 23 ซึ่งแทบไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว

Tierhaltungskennzeichnung
ที่มา Bundesministerium für Ernährung und Landwirtschaft
Herkunftskennzeichnung
ที่มา Bundesministerium für Ernährung und Landwirtschaft

นอกจากนี้ จากรายงานการสำรวจพบว่า ชาวเยอรมันต้องการทราบข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับเนื้อสัตว์ที่บริโภค เช่น วิธีการเลี้ยงสัตว์ หรือแหล่งที่มา โดยกระทรวงอาหารและการเกษตรแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี กำลังกำหนดให้มีการบังคับใช้กฎหมายติดฉลากบ่งบอกวิธีการเลี้ยงสัตว์ (Tierhaltungskennzeichnung) ซึ่งจะบังคับใช้กับผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องในปีหน้า ทั้งนี้ ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2024 ได้มีการบังคับใช้กฎระเบียบฉลากระบุแหล่งที่มาของเนื้อสัตว์แล้ว (Herkunftskennzeichnung) ทั้งที่จำหน่ายในบรรจุภัณฑ์และเนื้อสัตว์ที่ไม่ได้บรรจุในบรรจุภัณฑ์ เพื่อให้ผู้บริโภคทราบแน่ชัดว่าเนื้อสัตว์มาจากไหน

ที่มา:

tagesschau

Bundesministerium für Ernährung und Landwirtschaft

jaJapanese