เยอรมนีกำลังขาดแคลนสินค้าทางการแพทย์จนต้องเลื่อนการผ่าตัด

ขณะนี้โรงพยาบาลต่าง ๆ กำลังประสบปัญหา Supply Chain การจัดหาเวชภัณฑ์ยา โดยเฉพาะน้ำเกลือ สารน้ำ ยาระงับความรู้สึก และยาแก้ปวด ซึ่งเป็นทรัพยากรที่สำคัญในสถานพยาบาลเป็นอย่างมาก โดยปัญหานี้กระทบต่อผู้ป่วยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ด้านภาคอุตสาหกรรมสินค้าทางการแพทย์กังวลว่า มีความเป็นไปได้ ที่ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้าการผ่าตัดอาจต้องถูกเลื่อนหรือยกเลิกเป็นจำนวนมาก ซึ่งสมาคมโรงพยาบาลแห่งเยอรมนี (DKG – Die Deutsche Krankenhaus-gesellschaft) เปิดเผยว่า ตั้งแต่ช่วงกลางเดือนมิถุนายน 2567 เป็นต้นมา โรงพยาบาลบางแห่งได้ออกมาประกาศว่า จะยกเลิกการดำเนินงานในสถานพยาบาล เนื่องจากขาดแคลนน้ำเกลือ ด้านนาย Edith Bennack หัวหน้าเภสัชกรประจำโรงพยาบาล St. Elisabeth ในเมือง Köln-Hohenlind ได้ออกมาเตือนว่า “เราเกรงว่าในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้าการผ่าตัดอาจถูกยกเลิกเนื่องจากปัญหาดังกล่าว และในช่วงฤดูหนาวนี้ เราอาจก้าวสู่สถานการณ์ที่เลวร้ายและเต็มไปด้วยปัญหา หากเราไม่ทำอะไรหรือไม่หามาตรการรองรับกับปัญหานี้” ยกตัวอย่างเช่น โรงพยาบาลมีความจำเป็นต้องใช้น้ำเกลือที่ขนาดบรรจุภัณฑ์ 3 – 5 ลิตร ในภาคศัลยศาสตร์ทางเดินปัสสาวะ เพื่อใช้เพื่อล้างกระเพาะปัสสาวะของผู้ป่วยหลังการผ่าตัดหากมีเลือดออก ในขณะที่ น้ำเกลือขนาดเล็กประมาณ 100 มิลลิลิตร ก็มีความจำเป็นเช่นกัน โดยจะใช้ในการละลายยาหรือสารละลายอื่น ๆ เป็นต้น เมื่อปลายเดือนกันยายน 2567 บริษัท B. Braun ได้ส่งจดหมายแจ้งไปยังลูกค้าว่า ภายในสิ้นปีนี้ น้ำเกลือและสารน้ำ สำหรับฉีดอาจขาดแคลนได้ และยังคาดว่าน้ำเกลือโซเดียมคลอไรด์ในขวดขนาด 100 มิลลิลิตร จนถึงสิ้นปีลูกค้าจะได้รับสินค้าเพียงครึ่งหนึ่งของความต้องการรายเดือนโดยเฉลี่ย สำหรับสินค้าประเภทอื่น ๆ บริษัทคาดว่า ลูกค้าจะได้รับสินค้าครั้งต่อไป ในช่วงกลางเดือนพฤศจิกายนหรือหลังจากนั้น นาย Bennack กล่าวว่า “หาก Braun ลดปริมาณการจัดส่งสินค้าลงครึ่งหนึ่ง ผู้ผลิตรายอื่น ๆ จะไม่สามารถทดแทนได้” เนื่องจากปัจจุบันมีผู้ผลิตน้ำเกลีอมีเพียงไม่กี่รายเท่านั้น จากการสอบถามโดยหนังสือพิมพ์ Handelsblatt บริษัท Braun ซึ่งเป็นบริษัทกลุ่มเทคโนโลยีทางการแพทย์เปิดเผยว่า บริษัทฯ ได้เพิ่มปริมาณส่งสินค้า เนื่องจากความต้องการสินค้าเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะจากลูกค้าใหม่ ด้วยเหตุนี้บริษัท Braun จึงสามารถส่งมอบผลิตภัณฑ์ไปยังตลาดเยอรมนีในปริมาณที่สูงขึ้นมากกว่าช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา บริษัทกล่าวว่า “เพื่อที่จะจัดการปริมาณความต้องการน้ำเกลือ สารน้ำ สำหรับฉีดที่มีอยู่ภายในสิ้นปี และจัดหาสินค้าดังกล่าวให้กับลูกค้าให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ลูกค้าปัจจุบันจะทยอยได้รับสินค้าในปริมาณที่พวกเขาสั่งซื้อเรื่อย ๆ” ในขณะที่ บริษัท Fresenius Kabi บริษัทเกี่ยวกับธุรกิจดูแลสุขภาพยังได้รายงานถึงปัญหาคอขวดในการจัดหาน้ำเกลือโซเดียมคลอไรด์ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2567 โดยบริษัทให้เหตุผลถึงปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นจากความต้องการที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในตลาด “ทำให้เราไม่สามารถตอบสนองความต้องการได้เต็มที่จากกำลังการผลิตที่เรามีอยู่ในปัจจุบัน” นอกจากนี้สถานการณ์สินค้าน้ำเกลือชนิดฉีดยังคงความตึงเครียดอยู่ นับตั้งแต่การแพร่ระบาดของโควิด-2019 สิ้นสุดลง (1) ความต้องการสินค้าก็เพิ่มขึ้นอย่างหนัก ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาผู้ให้บริการรายอื่นได้ (2) ลดการจัดส่งไปยังประเทศเยอรมนี หรือ (3) ไม่ขยายกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นตามความต้องการ ส่งผลให้มีคำสั่งซื้อกับบริษัท Fresenius Kabi เพิ่มขึ้นตาม

 

บริษัท Fresenius กล่าวว่า “เนื่องจากกำลังการผลิตน้ำเกลือชนิดฉีดในปัจจุบันของเราเต็มกำลังการผลิต เราจึงไม่สามารถตอบสนองความต้องการเพิ่มเติมได้อีก” นาย Joachim Odenbach จาก DKG กล่าวว่า กำลังการผลิตในประเทศไม่สามารถตอบสนองความต้องการน้ำเกลือชนิดฉีดภายในประเทศได้ “ปัจจุบันโรงพยาบาลจำนวนมากต่างก็ต้องนำเข้าน้ำเกลือชนิดฉีดเพิ่มขึ้นเช่นกัน แต่การนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศก็ทำให้ต้นทุนที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก” ซึ่งสิ่งที่กล่าวมาข้างต้นนี้ได้รับการยืนยันจากนาย Thomas Preis ประธานสมาคมเภสัชกรภูมิภาค Nordrhein ว่า “โรงพยาบาลเหล่านี้ ต้องซื้อสินค้าจากต่างประเทศมาระยะหนึ่งแล้ว” ตัวอย่างในกรณีที่เลวร้ายที่สุดโดยอ้างอิงจากข้อมูลของหัวหน้าเภสัชกรประจำโรงพยาบาล St. Elisabeth ในเมือง Köln-Hohenlind ว่า โรงพยาบาลอาจต้องเลื่อนการผ่าตัดออกไป และสามารถรองรับคนไข้ในกรณีเร่งด่วนเท่านั้น โดยโรงพยาบาลกล่าวถึงสถานการณ์ดังกล่าวว่า “ส่งผลให้เราไม่สามารถดูแลผู้ป่วยได้อย่างเหมาะสม” จากการประเมินสถานการณ์โดยนาย Preis ในไม่ช้าการขาดแคลนดังกล่าวจะให้เห็นได้ชัดเจนกับร้านขายยาทั่วไป ซึ่งร้านขายยาเหล่านี้ปกติจะเป็นสถานที่ที่แพทย์ใช้สั่งยาสำหรับผู้ป่วยนอก และสถานพยาบาลบางประเภท (บ้านพักคนชรา บ้านพักดูแลผู้ป่วยระยะยาว ฯลฯ) ที่มีความต้องการการใช้งานน้ำเกลือสูงมากเช่นกัน ไม่เพียงแต่น้ำยาเกลือธรรมดา และแบบฉีดจะขาดแคลนทั่วประเทศเยอรมนี แต่ยังมียาสำคัญอื่น ๆ จำนวนมากที่ยังขาดแคลนอีกด้วย ขณะนี้สถาบันหลักด้านสินค้าเวชภัณฑ์ยา และสินค้าทางการแพทย์ (BfArM – Bundesinstitut für Arzneimittel und Medizinprodukte) รายงานให้ทราบถึงปัญหาคอขวดในการจัดส่งสินค้าทางการแพทย์ 502 รายการ โดยขนาดบรรจุภัณฑ์ และรูปแบบเวชภัณฑ์ยาที่แตกต่างกันจะไม่ถูกนำมาพิจารณาร่วม โดยระบบการเบิกจ่ายค่ายาในเยอรมนีมีความซับซ้อน และข้อตกลงเรื่องส่วนลดกับบริษัทประกันสุขภาพยังคงลดผลกำไรของบริษัทยา เหตุผลนี้เองที่ทำให้บริษัทยาบางรายจึงถอนตัวออกจากตลาดเยอรมัน ซึ่งทำให้สถานการณ์เลวร้ายยิ่งขึ้น นอกจากน้ำเกลือแล้วจากรายงานของ BfArM อย่างเป็นทางการ สินค้าทางการแพทย์รายการอื่น ๆ ที่มีความสำคัญสำหรับการใช้งานในโรงพยาบาลก็ยังขาดแคลนอีกด้วย ตัวอย่างเช่น ปัจจุบันมีปัญหาคอขวดในการจัดหารีมิเฟนทานิล (Remifentanil) นาย Bennack เปิดเผยว่า เภสัชกรของโรงพยาบาลฯ กล่าวว่า Remifentanil มียาบรรเทาปวดอยู่ 5 รายการ ที่มีความจำเป็นอย่างยิ่งในระหว่างการดมยาสลบ  และอีกรายการยาหนึ่งที่ขาดแคลนก็คือ ซูเฟนทานิล (Sufentanil) ซึ่งเป็นยาที่ถูกจัดอยู่ในกลุ่มยาบรรเทาปวดประเภทโอปิออยด์ในหลายประเทศใช้ชื่อว่า Sufentanyl นอกจากนี้ยาไฮโดรมอร์โฟน (Hydromorphone) แบบ analogon มอร์ฟีน (morphine) ซึ่งมีไว้เพื่อใช้รักษาอาการปวดอย่างรุนแรงก็ขาดแคลนเช่นกัน ขณะนี้มีมีการรายงานว่ายาดังกล่าวมีปัญหาคอขวดในการจัดส่งถึง 26 รายการ และยาแก้ปวดประเภท Metamizole ก็ขาดแคลนเช่นกัน ซึ่งเป็นยาแก้ปวดที่โรงพยาบาลเยอรมันมักให้สำหรับบรรเทาอาการปวดแบบปานกลาง

 

จาก Handelsblatt 1 พฤศจิกายน 2567

jaJapanese