สภาธุรกิจยานยนต์ของแอฟริกาใต้ (Naamsa – The Automotive Business Council) รายงานว่า เดือนกันยายน 2567 ยอดขายรถยนต์ใหม่ภายในประเทศ จำนวน 44,081 คัน ลดลงร้อยละ 4.1 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน (ยอดขาย 9 เดือนที่ผ่านมา จำนวน 401,169 คัน ลดลงร้อยละ 5.8 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันกับปีก่อน) ทั้งนี้ ร้อยละ 79 เป็นยอดขายจากตัวแทนจำหน่าย ร้อยละ 15 เป็นยอดขายสำหรับธุรกิจรถเช่า ร้อยละ 3 เป็นยอดขายสำหรับภาครัฐ และ ร้อยละ 2 เป็นยอดขายสำหรับบริษัท
สำหรับยอดขายรถยนต์ภายในประเทศ แบรนด์โตโยต้า มียอดขายสูงที่สุด (10,890 คัน) รองลงมาคือ โฟล์คสวาเก้น (5,885 คัน) ซูซูกิ (5,023 คัน) ฮุนได (2,841คัน) ฟอร์ด (2,823 คัน)
อย่างไรก็ตาม ภาพรวมการส่งออกรถยนต์ลดลงมากกว่ายอดขายในประเทศ กล่าวคือ ยอดส่งออกรถยนต์เดือนกันยายน 2567 จำนวน 21,964 คัน ลดลงร้อยละ 38.1 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันกับปีก่อน (เดือนกรกฎาคม และสิงหาคม ลดลงร้อยละ 34 และ 33 ตามลำดับ) ในขณะที่ยอดส่งออก 9 เดือน จำนวน 289,198 คัน ลดลงร้อยละ 19.7 สาเหตุหลักที่ยอดส่งออกรถยนต์ลดลงเนื่องจากความต้องการที่ลดลงสำหรับรถยนต์รุ่นที่ใกล้สิ้นสุดการผลิต (ขณะนี้ BMW ได้ยุติการผลิต X3 รุ่นที่ 3 และจะผลิตรุ่นใหม่สำหรับส่งออก โดยเดือนกันยายนส่งออก X3 เพียง 1 คัน ที่ผ่านมาส่งออกโดยเฉลี่ย 6,000 คันต่อเดือน) ประกอบกับการออกกฎหมายการปล่อยมลพิษที่เข้มงวดขึ้นในตลาดคู่ค้าสำคัญ อาทิ ยุโรป
สภาธุรกิจยานยนต์ของแอฟริกาใต้ คาดว่า การส่งออกรถยนต์ที่ลดลงของแอฟริกาใต้ น่าจะเป็นสถานการณ์ชั่วคราว โดยในระยะยาวผู้ผลิตจะต้องปรับการผลิตให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้นเพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของคู่ค้าสำคัญ อาทิ ยุโรป อนึ่ง การส่งออกไปตลาดสหรัฐฯ ในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา เพิ่มขึ้นร้อยละ 132 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน นอกจากนี้ คาดว่าในอนาคตจะมีปัจจัยเชิงบวกในประเทศช่วยกระตุ้นยอดขายรถยนต์ อาทิ การลดอัตราดอกเบี้ยเป็นครั้งแรกในรอบ 4 ปี เงินแรนด์แข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ อัตราเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มลดลง ราคาน้ำมันลดลง ซึ่งจะช่วยลดความกดดันทางการเงินให้แก่ผู้บริโภค อาจนำไปสู่การซื้อรถยนต์เพิ่มขึ้น
ข้อมูลเพิ่มเติมและความเห็นของสำนักงานฯ : ข้อมูลจาก S&P Global (ประมวลจาก South African Revenue Service) ระบุว่า เดือนมกราคม – สิงหาคม 2567 แอฟริกาใต้ส่งออกรถยนต์ (HS Code 8703 : Motor Cars And Other Motor Vehicles Designed To Transport People (Other Than Public-Transport Type), Including Station Wagons And Racing Cars) มูลค่ารวม 3,595.79 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.81 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันกับปีก่อน) โดยส่งออกไปเยอรมนีมากที่สุด (ร้อยละ 44.45 ของมูลค่าการส่งออกรถยนต์ทั้งหมด) รองลงมาคือ สหรัฐฯ (ร้อยละ 24.87) สหราชอาณาจักร (ร้อยละ 10.42) เบลเยี่ยม (ร้อยละ 2.56) ออสเตรเลีย (ร้อยละ 2.40) ตามลำดับ
การนำเข้ารถยนต์ของแอฟริกาใต้ช่วงเดือนมกราคม – สิงหาคม 2567 มูลค่ารวม 2,061.743 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ลดลงร้อยละ 32.53 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันกับปีก่อน) โดยนำเข้าจากอินเดียมากที่สุด (ร้อยละ 31.36 ของมูลค่าการนำเข้ารถยนต์ทั้งหมด) รองลงมาคือ จีน (ร้อยละ 18.53) เยอรมนี (ร้อยละ 13) ญี่ปุ่น (ร้อยละ 8.71) สหรัฐฯ (ร้อยละ 3.6) สโลวาเกีย (ร้อยละ 3.6) ไทย (ร้อยละ 2.84) ตามลำดับ นอกจากนี้ พบว่า โดยส่วนใหญ่แอฟริกาใต้นำเข้ารถยนต์จากคู่ค้าส่วนใหญ่ลดลง ยกเว้น จีน ที่แอฟริกาใต้นำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 23.81
ข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์ (ประมวลจากกรมศุลกากร) ช่วงเดือนมกราคม – สิงหาคม 2567 พบว่าไทยส่งออกรถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบรถยนต์ (HS Code 3210) มูลค่า 26,396.78 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยส่งออกไปออสเตรเลียมากที่สุด (คิดเป็นร้อยละ 17.42 ของมูลค่าส่งออกยานพาหนะฯทั้งหมดของไทย) รองลงมาคือ สหรัฐฯ (ร้อยละ 7.11) ญี่ปุ่น (ร้อยละ 6.9) มาเลเซีย (ร้อยละ 4.63) ตามลำดับ ทั้งนี้ ไทยส่งออกไปแอฟริกาใต้มากเป็นอันดับที่ 10 มูลค่า 955.95 ล้านเหรียญสหรัฐ (ร้อยละ 3.62) ด้วยเหตุนี้ ผู้ส่งออกไทยควรต้องติดตามสถานการณ์ตลาดรถยนต์ในแอฟริกาใต้อย่างใกล้ชิด เพื่อสามารถปรับตัวได้ทันท่วงที ลดความเสี่ยงทางธุรกิจที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
เครดิตภาพ www.freightnews.co.za
ที่มาข่าว : www.iol.co.za www.bizcommunity.com
プレトリア国際貿易促進局
ตุลาคม 2567