พฤติกรรมการบริโภคอาหารในครัวเรือนของผู้บริโภคชาวจีน

ที่มาภาพ: https://www.picuki.ai/image/6598d5add25fb9696d084391

 

ข้อมูลล่าสุดที่เผยแพร่โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติของจีนเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2567 แสดงให้เห็นว่าในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา รายได้จากสินค้าประเภทอาหารและเครื่องดื่มในประเทศอยู่ที่ 4.609 แสนล้านหยวน (ประมาณ 2.304 ล้านล้านหยวน) เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.4 เมื่อเทียบจากปีก่อนหน้า โดยรายได้จากการจัดเลี้ยงของยูนิตที่เกินขนาดที่กำหนดอยู่ที่ 1.286 แสนล้านหยวน (ประมาณ 6.43 แสนล้านหยวน) ซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.0 จากปีก่อนหน้า

 

ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงมิถุนายนปีนี้ รายได้จากการอาหารและเครื่องดื่มในประเทศจีนอยู่ที่ 2.624 ล้านล้านหยวน (ประมาณ 13.1 ล้านล้านหยวน) เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.9 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า โดยรายได้จากการจัดเลี้ยงในยูนิตที่เกินขนาดที่กำหนดอยู่ที่ 7.192 แสนล้านหยวน (ประมาณ 3.6 ล้านล้านหยวน) เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.6 เมื่อเทียบจากปีก่อนหน้า

 

การบริโภคอาหารในภูมิภาคต่าง ๆ ของจีน

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ผู้คนให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพในชีวิตประจำวันมากขึ้น และเริ่มให้ความสนใจกับความสมดุลและความหลากหลายของอาหารเพื่อให้แน่ใจว่าร่างกายได้รับสารอาหารที่ครอบคลุม ผู้คนจึงกำหนดให้อาหารบนโต๊ะอาหารมีทั้งเนื้อสัตว์และผัก ข้อมูลการสำรวจจาก iiMedia Research แสดงให้เห็นว่าอาหารหลักทั่วประเทศส่วนใหญ่ประกอบไปด้วยเนื้อสัตว์และผักในปริมาณพอๆกัน ในจำนวนนี้ จีนตอนใต้และจีนตะวันตกเฉียงใต้มีสัดส่วนอาหารประเภทนี้น้อยกว่าภูมิภาคอื่น ๆ (น้อยกว่าร้อยละ 50) และมีสัดส่วนของอาหารมังสวิรัติสูงกว่าภูมิภาคอื่น ๆ

 

พฤติกรรมการบริโภคอาหารในครัวเรือนของผู้บริโภคชาวจีน

ที่มาภาพ: https://www.iimedia.cn/c1061/101474.html

 

ในแง่ของรสนิยม โดยทั่วไปผู้คนทั่วประเทศจีนชอบอาหารรสเผ็ด โดยร้อยละ 65.1 ของผู้อยู่อาศัยในภูมิภาคตะวันตกเฉียงใต้ชอบอาหารรสเผ็ด รองลงมาคือภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือและตะวันตกเฉียงเหนือ ภูมิภาคตะวันตกเฉียงใต้มีฤดูร้อนที่ร้อนชื้นและมีฤดูหนาวที่มีความชื้นสูง ส่งผลให้ความชื้นเกิดขึ้นได้ง่ายในร่างกายมนุษย์ ผู้คนในภูมิภาคตะวันตกเฉียงใต้จึงมีพฤติกรรมการกินแบบเผ็ดๆ ขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากพริกสามารถช่วยเร่งการไหลเวียนของเลือด ขับเหงื่อ และช่วยขจัดความชื้นและความเย็นออกจากร่างกายได้

 

พฤติกรรมการบริโภคอาหารในครัวเรือนของผู้บริโภคชาวจีน

ที่มาภาพ: https://www.iimedia.cn/c1061/101474.html

 

วัฒนธรรมอาหารจีนมีมานานนับพันปี มีการพัฒนาและมีวิวัฒนาการอย่างต่อเนื่อง และมีความแตกต่างที่ชัดเจนในด้านรสชาติ แผนของวันเริ่มต้นในตอนเช้า และอาหารเช้าเป็นสิ่งที่รวบรวมวัฒนธรรมท้องถิ่นของภูมิภาค แต่ละภูมิภาคมีความคล้ายคลึงกัน  โดยพื้นฐานแล้วบะหมี่แห้งร้อนได้รับความนิยมไปทั่วทุกภูมิภาคของจีน ซาลาเปาและหมั่นโถวเป็นที่ชื่นชอบอย่างกว้างขวางของแรงงานข้ามชาติและกลุ่มนักศึกษาในภูมิภาคต่าง ๆ เนื่องจากง่ายต่อการพกพา ไม่ต้องรีบร้อน ข้าวต้มและบะหมี่หนึ่งชามเป็นสิ่งที่ทำให้วันใหม่เริ่มต้นอย่างดี

พฤติกรรมการบริโภคอาหารในครัวเรือนของผู้บริโภคชาวจีน

ที่มาภาพ: https://www.iimedia.cn/c1061/101474.html

 

ช่วงเวลามื้ออาหารของครอบครัวยังคงนิยมการออกไปรับประทานอาหารนอกบ้านและทำอาหารที่บ้าน

แต่ละครอบครัวมีความต้องการรับประทานอาหารที่แตกต่างกันในสถานการณ์ที่แตกต่างกัน โดยภาพรวมแล้ว การทำอาหารที่บ้านและการออกไปรับประทานอาหารนอกบ้านเป็นรูปแบบหลักสำหรับครอบครัวทั่วประเทศจีน การเลือกรับประทานอาหารกับครอบครัวเป็นผลมาจากปัจจัยหลายประการรวมกัน เช่น เวลา การเงิน สุขภาพ รสนิยม และความต้องการปฏิสัมพันธ์ทางสังคม ในชีวิตที่เร่งรีบ การรับประทานอาหารนอกบ้านสามารถตอบโจทย์ในเรื่องความสะดวกสบายและความหลากหลาย ในขณะเดียวกัน ครอบครัวที่ต้องการรักษาสุขภาพที่ดีและมีช่วงเวลาสังสรรค์ในครอบครัวจะนิยมการทำอาหารที่บ้าน

 

ในบางกรณี การซื้อกลับบ้านอาจคุ้มค่ากว่าการรับประทานอาหารนอกบ้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกิจกรรมส่งเสริมการขาย จากข้อมูลการสำรวจ ในภูมิภาคตะวันตกเฉียงเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีสัดส่วนของครัวเรือนที่เลือกสั่งกลับบ้านเกินร้อยละ 50 ซึ่งใกล้เคียงกับสัดส่วนการทำอาหารที่บ้านและการออกไปรับประทานอาหารนอกบ้าน มีร้านอาหารมากมายบนแพลตฟอร์มสั่งอาหารซึ่งมีเมนูและรสชาติหลากหลาย สามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในการแสวงหาอาหารรสชาติที่แตกต่างกัน และเมื่อสมาชิกในครอบครัวเลือกซื้ออาหารกลับบ้าน พวกเขาจะคำนึงถึงรสนิยมที่แตกต่างกันของสมาชิกในครอบครัว และจะเลือกอาหารที่ผสมผสานกันอย่างหลากหลายเพื่อรองรับความต้องการที่แตกต่างกันของสมาชิกในครอบครัว

 

พฤติกรรมการบริโภคอาหารในครัวเรือนของผู้บริโภคชาวจีน

ที่มาภาพ: https://www.iimedia.cn/c1061/101474.html

 

ในบรรดาครอบครัวที่ออกไปทานอาหารนอกบ้าน ครอบครัวในทุกภูมิภาคของจีนยกเว้นภาคตะวันตกเฉียงเหนือ เชนร้านอาหารคือตัวเลือกลำดับแรกสำหรับครอบครัวในทุกภูมิภาค ครอบครัวในภูมิภาคตะวันตกเฉียงเหนือมีแนวโน้มที่จะเลือกร้านอาหารทั่วไปและร้านอาหารแบบแฟรนไชส์ ในขณะที่โซนภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือมักจะเลือกแบรนด์แบบเชนร้านอาหารและแฟรนไชส์

 

พฤติกรรมการบริโภคอาหารในครัวเรือนของผู้บริโภคชาวจีน

ที่มาภาพ: https://www.iimedia.cn/c1061/101474.html

 

ความแตกต่างในการเลือกแบรนด์อาหารสำหรับครอบครัวในภูมิภาคต่าง ๆ ส่วนใหญ่จะได้รับผลกระทบจากภูมิหลังทางวัฒนธรรม ปัจจัยทางเศรษฐกิจ รสนิยม ความไว้วางใจต่อแบรนด์ และแง่มุมอื่น ๆ เชนร้านอาหารครองตำแหน่งที่สำคัญในหลายภูมิภาคโดยอาศัยอิทธิพลของชื่อเสียงแบรนด์และความได้เปรียบด้านบริการ ในขณะที่ร้านอาหารทั่วไปและแบรนด์แฟรนไชส์สามารถตอบสนองความต้องการในการบริโภคของครอบครัวในภูมิภาคต่าง ๆ ด้วยการจัดอาหารจานพิเศษและบริการคุณภาพสูง ในขณะที่ตลาดอาหารและเครื่องดื่มยังคงพัฒนา แบรนด์ต่าง ๆ จำเป็นต้องคิดค้นและเพิ่มประสิทธิภาพอย่างต่อเนื่องเพื่อปรับตัวให้เข้ากับความต้องการที่หลากหลายของผู้บริโภคในครอบครัวในภูมิภาคต่าง ๆ

 

คนจีนชอบทานอาหารจากประเทศอะไร

เนื่องจากอาหารตะวันตกและอาหารจากต่างประเทศอื่น ๆ ค่อย ๆ เข้ามาสู่จีน ความหลากหลายของโครงสร้างอาหารของจีนยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง กระบวนการขยายพื้นที่เมืองได้เร่งจังหวะชีวิตของผู้คน และการเพิ่มขึ้นของวัฒนธรรมอาหารจานด่วนก็ส่งผลกระทบต่อโครงสร้างการบริโภคอาหารของชาวจีนด้วย จากข้อมูลจากแพลตฟอร์มการส่งอาหาร Meituan (美团) อาหาร 5 เมนูจากต่างประเทศที่ชาวจีนสั่งมากที่สุดในปี 2566 ได้แก่ พิซซ่า พาสต้า เฟรนช์ฟรายส์ ซูชิและบิบิมบับ

 

ข้อมูลการสำรวจของ iiMedia Research แสดงให้เห็นว่าในบรรดาอาหารที่ครอบครัวทั่วประเทศจีนชื่นชอบ อาหารจีนครองอันดับหนึ่ง คิดเป็นสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 60 ในทั้ง 6 ภูมิภาค โดยภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีสัดส่วนมากที่สุด ซึ่งสูงถึงร้อยละ 87.5 เนื่องจากอาหารจีนเป็นวัฒนธรรมอาหารแบบดั้งเดิมของชนชาติจีน อาหารจีนจึงได้ผ่านการพัฒนามานับพันปีและหยั่งรากลึกในชีวิตประจำวันของชาวจีน อาหารจีนมีความเป็นปัจเจกสูงและมีรสชาติที่แตกต่างกันในแต่ละภูมิภาค ซึ่งสามารถตอบสนองความต้องการด้านรสชาติของผู้คนในภูมิภาคต่าง ๆ ได้อย่างลงตัว

 

พฤติกรรมการบริโภคอาหารในครัวเรือนของผู้บริโภคชาวจีน

ที่มาภาพ: https://www.iimedia.cn/c1061/101474.html

 

ในด้านอาหารจากชาติอื่น อาหารตะวันตก อาหารไทย และอาหารเกาหลีสามารถครองสัดส่วน 3 อันดับแรก เมื่อเปรียบเทียบกับอาหารประเทศอื่น อาหารตะวันตกได้รับความนิยมในประเทศจีนมาเป็นเวลานาน ส่วนอาหารไทยและอาหารเกาหลีได้รับความนิยมรองลงมาเนื่องจากมีรสชาติใกล้เคียงกับอาหารยูนนาน ทำให้ถูกยอมรับได้ง่าย

 

อาหารญี่ปุ่นมีชื่อเสียงในด้านอาหารดิบ อาหารอย่างซูชิและซาซิมิต้องการความสดของวัตถุดิบและทักษะการทำอาหารสูง อย่างไรก็ตาม เนื่องจากนิสัยการกินและการยอมรับที่แตกต่างกัน ผู้บริโภคชาวจีนโดยทั่วไปจึงยอมรับต่ออาหารญี่ปุ่นชนิดอื่น ๆ นอกเหนือจากซูชิเช่นกัน ในขณะที่อาหารอินเดียได้รับความนิยมน้อยกว่าอาหารอื่น ๆ

 

อาหารไม่เพียงสนองความต้องการการอยู่รอดขั้นพื้นฐานของมนุษย์เท่านั้น แต่ยังกลายเป็นการแสวงหาทางจิตวิญญาณที่สำคัญในการปรับปรุงคุณภาพชีวิตอีกด้วย การสนทนาเรื่องอาหาร การแลกเปลี่ยน และการชิมอาหารระหว่างเชื้อชาติและประเทศต่างๆ มีมากขึ้นเรื่อยๆ การผสมผสานระหว่างวัฒนธรรมอาหารจีนและตะวันตกทำให้เกิดวัฒนธรรมอาหารที่หลากหลาย และกลายเป็นสะพานสำคัญในการส่งเสริมการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมระหว่างประเทศ

 

ด้วยกระแสโลกาภิวัตน์และความรักที่ผู้คนมีต่อวัฒนธรรมอาหารอย่างต่อเนื่อง การบูรณาการของอาหารจีนและอาหารจากต่างประเทศกำลังค่อย ๆ กลายเป็นทิศทางหลักของการพัฒนาอาหารในอนาคต ซึ่งจะช่วยส่งเสริมซึ่งกันและกัน และเพิ่มความหลากหลายของอาหารอีกด้วย ไม่เพียงแต่ครอบคลุมอาหารจีนและอาหารตะวันตกแบบดั้งเดิมเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงรูปแบบใหม่ ๆ และการผสมผสานที่ชาญฉลาดระหว่างอาหารเหล่านั้นด้วย

 

ข้อคิดเห็นของสคต.เซี่ยงไฮ้

ผู้บริโภคชาวจีนมีความต้องการและพฤติกรรมการบริโภคที่แตกต่างกันตามวัฒนธรรมและค่านิยมในแต่ละพื้นที่ ผู้ประกอบการด้านอาหารที่สนใจเข้ามาในตลาดจีน ควรศึกษาความชอบ รสชาติ วัตถุดิบที่ได้รับความนิยม และลักษณะการบริโภคของคนในพื้นที่นั้น ๆ และปรับปรุงรสชาติและบริการของตนเองให้สามารถตอบสนองต่อความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย ทั้งปรับปรุงอาหารให้ตรงตามความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย หรือเลือกที่จะสร้างสรรค์เมนูที่แปลกใหม่เพื่อสร้างจุดแข็งของตนเองเหนือคู่แข่งในธุรกิจประเภทเดียวกันก็ตาม เพื่อดึงดูดกลุ่มเป้าหมายให้หันมาสนใจและเลือกใช้บริการ รวมถึงเพิ่มโอกาสในการสร้างรายได้ของธุรกิจ

________________________________________________________________________________

จัดทำโดย สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครเซี่ยงไฮ้

วันที่ 30 สิงหาคม 2567

 

แหล่งที่มา

https://www.iimedia.cn/c1061/101474.html

jaJapanese