ขณะนี้ จีนตกอยู่ภายใต้แรงกดดันอย่างมาก เมื่อพูดถึงเรื่องยานยนต์ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า (EV) เพราะปัจจุบันจีนส่งออกรถ EV จำนวนมาก จนกลายเป็นภัยคุกคามอุตสาหกรรมยานยนต์ของยุโรป ทำให้สหภาพยุโรป (EU) ต้องออกมากำหนดมาตรการตอบโต้ต่าง ๆ เช่น เก็บภาษีขาเข้าเพื่อลงโทษ (Punitive Tariff) ในอัตราสูงสุดถึง 38% กับผู้ผลิตบางราย อย่างไรก็ดี แม้ขณะนี้จะยังอยู่ในขั้นตอนการเจรจา แต่ฝั่งจีนก็มองสถานการณ์ดังกล่าวแตกต่างกันออกไป โดยบริษัท EV ของจีน เช่น SAIC, BYD, BAIC และ Geely ไม่เพียงแต่ประสบความสำเร็จด้านการส่งออกเท่านั้น แต่พวกเขายังเป็นที่ต้องการของลูกค้าจำนวนมากในประเทศอีกด้วย จากข้อมูลขององค์กรพลังงานระหว่างประเทศ (IEA – International Energy Agency) ได้ระบุว่า ปีที่ผ่านมา 8% ของรถยนต์ทั้งหมดในจีนใช้พลังไฟฟ้าทั้งหมด หรือใช้ไฟฟ้าบางส่วน ในขณะที่เยอรมนีรถยนต์ที่ใช้พลังงานไฟฟ้าทั้งหมดอยู่ที่ 5% เท่านั้น และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในเดือนพฤษภาคม 2024 สัดส่วนในการจดทะเบียนใหม่ของรถยนต์ที่ใช้พลังงานไฟฟ้าเพียงอย่างเดียวสูงถึง 40% ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของ EU ถึงสามเท่า คาดว่า ภายในปี 2025 สัดส่วนดังกล่าวอาจจะมากกว่า 50% ได้ ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวทำให้ มลพิษทางอากาศ และมลพิษทางเสียงในเมืองหลวงกรุงปักกิ่ง ลดลงอย่างเห็นได้ชัด

 

แต่ก็ต้องไม่ลืมความจริงที่ว่า การที่จีนเริ่มหันมาใช้ระบบขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้าตั้งแต่ปี 2021 อย่างเป็นล่ำเป็นสันนั้นหลัก ๆ ก็เนื่องมาจากความช่วยเหลือจากรัฐบาลจีน ในปี 2022 โดยบริษัท BYD ได้รับเงินอุดหนุนโดยตรงคิดเป็นมูลค่าสูงถึง 2.1 พันล้านยูโร หรือคิดเป็น 3.5% ของยอดจำหน่ายของบริษัทเลยทีเดียว นอกจากนี้ ยังมีอีกหนึ่งปัจจัยที่เราแทบจะสังเกตไม่เห็นมีบทบาทสำคัญของมันเลยก็คือ การปรับเปลี่ยนนโยบายของประเทศแบบหน้ามือเป็นหลังมือ ไม่ว่าจะเป็นการเริ่มใช้นโยบายใบรับรองซ้อน (Double Certificate Policy) ของจีนนั้นเอง โดยรัฐบาลกำหนดเป้าหมายของสัดส่วน “ปริมาณการใช้เชื้อเพลิงโดยเฉลี่ยขององค์กร (Corporate Average Fuel Consumption)” และ “รถยนต์พลังงานทางเลือก (New Energy Vehicle)” ในการจำหน่ายสินค้าใหม่ของผู้ผลิตชาวจีน หากผู้ผลิตรถยนต์จีนสามารถจำหน่ายสินค้าเกินขีดจำกัดที่รัฐกำหนด บริษัทเหล่านี้จะได้รับใบรับรองตามกฎระเบียบที่รัฐบาลตั้งไว้ ซึ่งพวกเขาก็ยังสามารถขายใบรับรองให้กับบริษัทอื่น ๆ เพื่อให้พวกเขาสามารถนำมาใช้เพื่อชดเชยอัตราที่ต่ำกว่าขีดจำกัดไว้ได้อีกด้วย ด้วยนโยบายนี้รัฐบาลจีนเหมือนยิงปืนนัดเดียวได้นก 4 ตัว โดยได้สร้างตลาดที่ผลักดัน (1) ให้ผู้ผลิตเพิ่มความพยายามในการพัฒนาประสิทธิภาพสินค้า (2) ตลาดการซื้อขายใบรับรองขึ้น (3) สร้างแรงจูงใจให้ผู้ผลิตรถยนต์จีนพัฒนา EV เพิ่มขึ้น และในขณะเดียวกันก็ (4) ผลักดันให้พวกเขาเร่งปรับปรุงประสิทธิภาพยานยนต์ที่ยังใช้เครื่องยนต์สันดาปที่เหลืออยู่อีกด้วย สรุปง่าย ๆ ผู้ผลิตยานยนต์ที่สร้างความเสียหายต่อสภาพภูมิอากาศกลายมาเป็นผู้รับผิดชอบจ่ายเงินชดเชยให้กับผู้ผลิตยานยนต์ไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพไปโดยปริยายนั้นเอง กลยุทธ์การจัดหาเงินทุนด้วยตนเองนี้ ทำให้ตลาด EV เติบโตอย่างรวดเร็ว และประเทศสามารถดำเนินการได้โดยไม่ต้องใช้เงินของผู้เสียภาษีแม้แต่นิดเดียว นอกจากนี้ยังมีมาตรการบริหารจัดการในระดับท้องถิ่นเพิ่มเติมเข้าไปอีกด้วย อย่างเช่น ขบวนรถโดยสารในเมืองใหญ่อันดับสามของประเทศในเมืองเซินเจิ้นก็ปรับมาใช้รถบัสที่ใช้ระบบไฟฟ้าล้วน ๆ มาตั้งแต่ปี 2017 นอกจากนี้แม้แต่ในเมืองเล็กโครงสร้างพื้นฐานด้านสถานีชาร์จฯ และเครือข่ายสายไฟฟ้าที่เกี่ยวข้องกำลังขยายตัวอย่างรวดเร็ว ๆ ภาคการเมืองก็ไม่ได้หยุดอยู่แค่มาตรการการสั่งห้ามใช้งานรถยนต์สันดาปเท่านั้นในกรุงปักกิ่งมีการออกโควต้าจำกัดจำนวนสำหรับรถยนต์สันดาปอีกด้วย

 

ในทางกลับกันในเยอรมนีปัจจุบันมีรถยนต์ที่ใช้ไฟฟ้าล้วน ๆ เพียง 1.4 ล้านคันเท่านั้น เป็นไปได้ที่เยอรมนีจะพลาดเป้าหมายที่ตั้งไว้ว่าจะต้องมีรถ EV อย่างน้อย 15 ล้านคัน ภายในปี 2030 ในเวลานี้สัดส่วนการลงทะเบียนใหม่ของรถ EV แทบจะไม่เพิ่มขึ้น โดยรัฐบาลแจ้งให้ทราบเพียงไม่กี่วันก่อนสิ้นปี 2023 ว่า  รัฐบาลจึงระงับโครงการสนับสนุนการซื้อรถ EV ซึ่งการตัดสินใจอย่างกะทันหันนี้ได้ชะลอการพัฒนาตัวของตลาดรถ EV ลงอย่างชัดเจน ดังนั้นในปัจจุบันเป็นเรื่องไร้สาระที่ในเวลานี้ภาคการเมืองจะมัวออกมาทำการอภิปรายเกี่ยวกับปัญหาการทุ่มตลาดการส่งออกรถ EV ของจีนจนบดบังปัญหาหาใหญ่ในประเทศ ภาคการเมืองเยอรมันจะต้องเร่งมุ่งสร้างแรงผลักดันเชิงบวกมากขึ้น เพื่อช่วยให้อุตสาหกรรมยานยนต์ของประเทศยังสามารถรักษาส่วนแบ่งการตลาดในอนาคตต่อไปได้มากกว่า ระหว่างปี 2030 ถึง 2040 ตลาดรถยนต์ทั่วโลกจะทยอยบอกลาเครื่องยนต์สันดาป ขนาดประเทศญี่ปุ่นซึ่งก่อนหน้านี้มุ่งเน้นไปที่รถยนต์ประเภทไฮบริดและไฮโดรเจนก็กำลังหันมาลงทุนอย่างมากขึ้นนกับรถ EV จากข้อมูลของกระทรวงเศรษฐกิจฯ คาดว่า ส่วนแบ่งการส่งออกรถ EV ทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นจาก 2.4% ในปี 2022 เป็น 30% ในปี 2030 โดยประเทศสหรัฐฯ ก็กำลังเสริมความแข็งแกร่งให้กับตลาดรถ EV ในประเทศด้วยการผสมผสานมาตรการต่าง ๆ ระหว่าง (1) มาตรการจูงใจทางภาษี (2) มาตรฐานด้านประสิทธิภาพการใช้เชื้อเพลิงของยานยนต์ (3) การลงทุนกับระบบโครงสร้างพื้นฐาน และ (4) การอุดหนุนโดยตรงโดยภาครัฐกับภาคเอกชน โดยในปี 2023 จำนวนการจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้าล้วนเพิ่มขึ้น 40% เพื่อหยุดยั้งไม่ให้เยอรมนีล้าหลัง และการหาทางรักษาการจ้างงานในอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศ ในฐานะสภาที่ปรึกษาซึ่งประกอบไปด้วยผู้เชี่ยวชาญด้านการอนุรักษ์สภาพภูมิอากาศผ่านระบบการขับเคลื่อนได้ออกมาแนะนำมอบนโยบาย ซึ่งเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่จำเป็นจำนวนหนึ่งให้แก่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมของรัฐบาลเยอรมัน โดยประการแรก (1) ได้แก่การผสมผสานระหว่าง โบนัสด้านสิ่งแวดล้อม (Environment bonus) เชิงบวก เข้ากับการจัดเก็บภาษี CO2 เชิงลบเมื่อจดทะเบียนรถยนต์ใหม่ วิธีการดังกล่าวเป็นวิธีที่ใช้กันอยู่แล้วในประเทศเนเธอร์แลนด์และในประเทศฝรั่งเศส โดยนโยบายดังกล่าวจะสามารถเทียบเคียงได้ในเชิงผลรับทางเศรษฐกิจกับนโยบายใบรับรองซ้อน (Double Certificate Policy) ของประเทศจีนนั้นเอง ประการที่สอง (2) ต้องเร่งปฏิรูปข้อได้เปรียบทางภาษีสำหรับรถยนต์ของบริษัท ซึ่งก็คือ ออกข้อจำกัดบังคับให้เร่งใช้งานรถยนต์ไฟฟ้าล้วน ๆ ออกมาได้แล้ว และประการที่สาม (3) ความต่อเนื่อง และรักษาความแข็งแกร่งของการกำหนดราคาค่า CO2 ในภาคการขนส่งไว้ให้ดี ซึ่งการกำหนดราคาค่า CO2 เป็นส่วนหนึ่งของจัดสรรและการซื้อขายค่าเผื่อการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHG) ทั่วทั้งสหภาพยุโรป (EU ETS – European Union Emissions Trading System) ซึ่งได้รับการออกแบบในลักษณะที่สมดุลทางสังคมโดยต้องมีการคืนรายได้จากการซื้อขายดังกล่าวในรูปเป็นเงินด้านสภาพภูมิอากาศ (Klimageld) คืนให้กับประชาชนจริง ๆ

 

บทความโดยนาย Felix Creutzig เป็นหัวหน้าคณะทำงานด้านการใช้สอยที่ดิน โครงสร้างพื้นฐาน และการคมนาคมขนส่ง ณ สถาบันวิจัยสภาพภูมิอากาศในกรุงเบอร์ลิน MCC (Mercator Research Institute on Global Commons and Climate Change) และสมาชิกคณะกรรมการสภาที่ปรึกษาด้านการอนุรักษ์สภาพภูมิอากาศผ่านระบบการขับเคลื่อน (Expertenbeirat Klimaschutz in der Mobilität)

 

จาก Handelsblatt 26 สิงหาคม 2567

jaJapanese