แซลมอนเป็นปลาชนิดหนึ่งที่ได้รับความนิยมในการเลือกรับประทานเป็นลำดับต้นของผู้บริโภค และยังเป็นสินค้าที่มีมูลค่าการส่งออกมากที่สุดเป็นอันดับสองของประเทศชิลี ตามแนวชายฝั่งทะเลยาวกว่า 6,000 กิโลเมตรของชิลี มีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการผลิตและเลี้ยงปลาแซลมอน ข้อมูลจากองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO)[1] รานงานว่า การผลิตปลาแซลมอนในชิลีเติบโตอย่างรวดเร็ว มีอัตราการขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 10.4 ต่อปี ระหว่างปี 2559 – 2565 ทำให้ชิลีกลายเป็นผู้ผลิตและส่งออกปลาแซลมอนรายใหญ่เป็นอันดับสองของโลกรองจากประเทศนอร์เวย์ โดยชิลีมีส่วนแบ่งการตลาดคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 36[2] ในปี 2566 ชิลีผลิตปลาแซลมอนได้ทั้งสิ้น 1.03 ล้านตัน ส่งออก 0.78 ล้านตัน รวมมูลค่ากว่า 6.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 2.1[3] ของ GDP ทั้งนี้ ในปี 2566 ชิลีส่งออกปลาแซลมอนมากที่สุดเป็นอันดับที่ 3 ของโลก รองจากนอร์เวย์ และสวีเดน
อุตสาหกรรมปลาแซลมอนของชิลีมีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว เนื่องจากความต้องการของตลาดที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งอัตราการขยายตัวอันรวดเร็วนี้ ส่งผลกระทบสะสมต่อสิ่งแวดล้อม อาทิ มลพิษทางน้ำจากมูลปลาและเศษอาหารที่ปลากินไม่หมด[1] การใช้สารเคมีและยาปฏิชีวนะในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ[2] และการหลบหนีของปลาแซลมอนที่เลี้ยง ซึ่งสามารถแพร่กระจายโรคและทำลายสมดุลของระบบนิเวศท้องถิ่นได้[3] ข้อมูลจากกระทรวงสิ่งแวดล้อมและสำนักงานบริหารการประมงแห่งชาติของชิลี พบว่า ปัจจุบันมีฟาร์มปลาแซลมอนที่ได้รับสัมปทานตั้งอยู่ในพื้นที่คุ้มครองและเขตสงวนแห่งชาติทั่วประเทศรวมทั้งสิ้น 431 แห่ง โดยมีจำนวน 71 แห่ง[4] ที่ไม่เป็นไปตามระเบียบที่กำหนดไว้ในกฎหมายใหม่ หรือกฎหมายมาตราที่ 21.600 (Servicio de Biodiversidad y Áreas Protegidas: SBAP) ของชิลี ที่มีผลใช้บังคับในเดือนตุลาคม 2566 ซึ่งเป็นกฎหมายด้านสิ่งแวดล้อม มุ่งเน้นการรักษาความหลากหลายทางชีวภาพ คุ้มครอง จัดการ และควบคุมกิจกรรมและผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมภายในพื้นที่คุ้มครอง เพื่อปกป้องระบบนิเวศทางธรรมชาติ โดยสาระสำคัญของกฎหมายดังกล่าวสรุปได้ดังนี้
- พัฒนาและดำเนินยุทธศาสตร์การอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพแห่งชาติ ปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพอันอุดมสมบูรณ์ของชิลี รวมถึงระบบนิเวศ พืช และสัตว์ที่เป็นเอกลักษณ์
- การดูแลและบริหารจัดการพื้นที่คุ้มครอง การตรวจสอบและออกใบอนุญาต หรือเพิกถอนสัมปทาน สำหรับกิจกรรมภายในพื้นที่คุ้มครอง
- การสร้างพื้นที่คุ้มครองใหม่ ขยายเครือข่ายพื้นที่คุ้มครองของชิลี โดยกำหนดพื้นที่ใหม่ที่มีความสำคัญในการอนุรักษ์ เสริมสร้างความเข้มแข็งในการบังคับใช้กฎหมาย
- ติดตามและประเมินสถานะความหลากหลายทางชีวภาพ ประสานความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ อาทิ กรมป่าไม้ Conaf กรมสิ่งแวดล้อม SMA องค์กรพัฒนา และภาคเอกชน ส่งเสริมการศึกษาวิจัย และรวบรวมข้อมูลเพื่อการอนุรักษ์และให้ความรู้แก่ประชาชน
โดยรวมแล้วกฎหมาย SBAP มีบทบาทสำคัญในการปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพอันอุดมสมบูรณ์ของประเทศ สนับสนุนการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน เพื่อสร้างความสมดุลระหว่างการอนุรักษ์กับกิจกรรมของมนุษย์ อย่างไรก็ดี การให้สัมปทานการเลี้ยงปลาแซลมอนในพื้นที่คุ้มครอง ยังคงสามารถกระทำได้ โดยบริษัทที่ต้องการขอสัมปทานเลี้ยงปลาแซลมอนจะต้องมีแผนบริหารจัดการ รวมถึงศึกษาข้อมูลทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับพื้นที่พร้อมแนวทางปฏิบัติ โดยต้องเสนอแผนการดังกล่าวต่อกระทรวงสิ่งแวดล้อมของชิลี สำหรับการประเมินในการขอรับใบอนุญาตประกอบการใหม่ หรือต่ออายุใบอนุญาตเดิม จากข้อมูลของสภาอุตสาหกรรมแซลมอนของชิลี[1] เผยว่าใบสมัครขอรับการสัมปทาน จำนวนกว่า 200 ใบ จาก 500 ใบ ถูกปฏิเสธ เนื่องจากกฎหมายฉบับใหม่มีกฎเกณฑ์และเงื่อนไขที่เข้มงวดมากขึ้น รวมถึงพื้นที่ทำฟาร์มเดิมที่เคยได้รับอนุญาตถูกประกาศให้เป็นพื้นที่คุ้มครองใหม่ โดยมีการบังคับให้จำกัดพื้นที่การทำฟาร์ม หรือแจ้งให้ย้ายสถานที่ด้วย นอกจากนี้ ยังมีการดำเนินคดีอย่างจริงจังและมีบทลงโทษปรับเป็นเงินจำนวนมากกับบริษัทปลาแซลมอนมากกว่า 35 ราย เนื่องจากบริษัทดังกล่าวมีการผลิตและเพาะเลี้ยงปลาแซลมอนเกินระดับสูงสุดที่ได้รับอนุญาต อีกทั้งยังเพิกถอนใบอนุญาตศูนย์เพาะพันธุ์ปลาอีก 3 แห่ง ที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายฉบับนี้ โดยกระบวนการสืบสวนใช้การวิเคราะห์ตะกอน การสุ่มตัวอย่าง และการถ่ายภาพใต้น้ำ เพื่อแสดงให้เห็นว่าบริษัทเหล่านี้ได้สร้างความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมในน่านน้ำของเขตคุ้มครองแห่งชาติ นอกจากนี้ สหภาพแรงงาน Trusal-Salmones Pacific Star แสดงความกังวลว่าแรงงานในอุตสาหกรรมปลาแซลมอนอาจต้องสูญเสียงาน เนื่องจากข้อจำกัดที่เข้มงวดของกฎหมายฉบับใหม่
บทวิเคราะห์ / ข้อคิดเห็นจาก สคต. ณ กรุงซันติอาโก
อุตสาหกรรมปลาแซลมอนในชิลีมีการเติบโตอย่างรวดเร็วในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา โดยมีปัจจัยสนับสนุนหลักจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและความต้องการบริโภคปลาแซลมอนทั่วโลกที่เพิ่มขึ้น โดยอัตราการบริโภคปลาแซลมอนทั่วโลกเฉลี่ยอยู่ที่ 0.34 กิโลกรัมต่อคนต่อปี ซึ่งประเทศที่มีอัตราการบริโภคปลาแซลมอนสูงที่สุดคือ ประเทศนอร์เวย์ และญี่ปุ่น มีอัตราการบริโภคถึง 4.5 และ 2.4 กิโลกรัมต่อคนต่อปี โดยปลาแซลมอนที่ชิลีผลิตได้ในแต่ละปีจะเน้นเพื่อการส่งออกคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 70[2] ของปลาแซลมอนที่ผลิตได้ทั้งหมด ทั้งนี้ ภายหลังจากการบังคับใช้กฎหมาย SBAP ทำให้ภาคอุตสาหกรรมปลาแซลมอนของชิลี ได้รับผลกระทบอย่างหนัก จากข้อจำกัดและมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมที่เข้มงวดมากขึ้น สะท้อนจากจำนวนการผลิต ปริมาณและมูลค่าการส่งออกปลาแซลมอนของชิลีที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง
เมื่อพิจารณาปริมาณการผลิตปลาแซลมอนของชิลีในช่วงครึ่งแรกของปี 2567 (แผนภาพที่ 1) พบว่าปริมาณการผลิตลดลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยชิลีผลิตปลาแซลมอนได้เพียง 318,300 กิโลกรัม ลดลงร้อยละ 14.6 จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า สอดคล้องกับและปริมาณและมูลค่าการส่งออกปลาแซลมอนของชิลีที่มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือนมกราคม 2567 โดย สคต.ฯ คาดการณ์ว่าเมื่อถึงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ ปริมาณการผลิตอาจลดลงถึงร้อยละ 30 เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อนหน้า ซึ่งจะส่งผลให้ภาคอุตสาหกรรมแซลมอนของชีลีและธุรกิจที่เกี่ยวข้องหดตัวลง อาทิ ธุรกิจเพาะพันธุ์ปลา ธุรกิจอาหารปลา ธุรกิจอุปกรณ์และเครื่องมือทำประมง โรงงานแปรรูปและบรรจุภัณฑ์ บริษัทขนส่ง ไปจนถึงแรงงานในอุตสาหกรรมแซลมอนทั้งทางตรงและทางอ้อมจำนวนกว่า 71,000 ตำแหน่ง ที่อาจตกงาน ขาดรายได้ ซึ่งจะส่งกระทบต่อเศรษฐกิจโดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ทางตอนใต้ของประเทศซึ่งเป็นแหล่งผลิตปลาแซลมอนที่สำคัญของชิลี นอกจากนี้ ปริมาณการผลิตที่ลดลง ประกอบกับต้นทุนการผลิตและการจัดการที่เพิ่มขึ้นของผู้ผลิตตามที่กฎหมายกำหนด ทำให้ราคาปลาแซลมอนของชิลีปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของปลาแซลมอนชิลีในตลาดโลกรวมถึงความสามารถในการซื้อของผู้บริโภคอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
จากข้อมูลสถิติของกรมศุลกากรชิลี[1] พบว่า ในปี 2566 ประเทศไทยมีมูลค่าการนำเข้าสินค้าปลา แซลมอนจากชิลี (พิกัดศุลกากร 03) จำนวน 14,351 ตัน คิดเป็นมูลค่ากว่า 89.1 ล้านเหรียญสหรัฐ มากเป็นอันดับที่ 2 รองจากทองแดง โดยผู้ประกอบการไทยที่นำเข้าปลาแซลมอนจากชิลี เพื่อจำหน่ายหรือแปรรูป รวมถึงธุรกิจส่งออกสินค้าในกลุ่มที่เกี่ยวกับอุตสาหกรรมปลาแซลมอน อาทิ อาหารปลา (พิกัดศุลกากร 23) เครื่องกรองน้ำ/บำบัดน้ำเสีย (พิกัดศุลกากร 84) พลาสติก (พิกัดศุลกากรท 39) วัคซีนและยารักษาโรคปลา (พิกัดศุลกากร 30) ควรเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับต้นทุนวัตถุดิบที่อาจเพิ่มขึ้น สภาวะการขาดแคลนสินค้า และยอดการส่งออกที่อาจลดลงอีกซักระยะ จนกว่าที่อุตสาหกรรมปลาแซลมอนของชิลีจะสามารถปรับตัวและเพิ่มการผลิตได้ดังเดิม อย่างไรก็ดี สคต.ฯ เห็นว่าความท้าทายที่อุตสาหกรรมปลาแซลมอนในชิลีกำลังเผชิญในขณะนี้ คือการปรับเปลี่ยนกระบวนการดำเนินการผลิต ที่ต้องใช้ระยะเวลาในการวางแผนสำรวจ พัฒนาโครงสร้าง และปรับปรุงการดำเนินงานให้สอดคล้องกับกฎหมายฉบับใหม่นี้ โดยจะเป็นประโยชน์ในระยะยาวสำหรับระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อม ช่วยยกระดับมาตรฐานการผลิตของอุตสาหกรรมปลาแซลมอน และสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับอุตสาหกรรมอีกด้วย
______________________________________
サンティアゴの国際貿易促進事務所
กรกฎาคม 2567
[1] https://www.aduana.cl/exportaciones-por-pais-y-producto/aduana/2020-05-19/105505.html
[1] https://www.seafoodsource.com/news/premium/aquaculture/experts-optimistic-about-chile-s-upcoming-aquaculture-law-but-call-for-innovation-to-ensure-lasting-change
[2] Exportación Por Productos (aduana.cl)
[1] https://www.worldwildlife.org/industries/farmed-salmon#:~:text=Biodiversity%20Loss,fauna%20on%20the%20ocean%20bottom.
[2] https://onlinelibrary.wiley.com/doi/10.1111/raq.12786
[3] https://www.worldwildlife.org/industries/farmed-salmon#:~:text=Biodiversity%20Loss,fauna%20on%20the%20ocean%20bottom.
[4] https://news.mongabay.com/2024/02/new-environmental-rules-for-chiles-protected-areas-rile-the-salmon-industry/
[1] https://openknowledge.fao.org/server/api/core/bitstreams/53a2c5a2-f531-480c-96c0-706a43480571/content
[2] [2]https://www.patagonjournal.com/index.php?option=com_content&view=article&id=4504%3Amoratoria-a-la-expansion-salmonera-recomendada-por-el-relator-onu&catid=79%3Asalmonero-watch&Itemid=267&lang=en
[3] https://news.mongabay.com/2024/02/new-environmental-rules-for-chiles-protected-areas-rile-the-salmon-industry/