อาหารครบโภชนาการเริ่มผันตัวจากอาหารเสริม สู่อาหารหลัก

อาหารครบโภชนาการ (Kanzen Eiyou Shoku หรือ Perfect Nutrition Food) กำลังเป็นที่นิยมในฐานะอาหารหลักเพราะชาวญี่ปุ่นในสังคมปัจจุบันตระหนักถึงสุขภาพและต้องการใช้เวลาอย่างมีประสิทธิภาพตามแนวคิด “ไทปะ (Time Performance)” ซึ่งนอกจากอายิโนะโมะโต๊ะ และกลุ่มพอล่า ออร์บิส โฮลดิ้งส์ (HD) ซึ่งเป็นผู้ประกอบการหลักในอุตสาหกรรมนี้ แล้วยังมี Base Food ที่เรียกได้ว่าแม้จะเป็นน้องใหม่ในอุตสาหกรรมดังกล่าวก็ยังมีการขยายไลน์อัพเพิ่มเติม แม้ว่าเดิมทีผลิตภัณฑ์อาหารครบโภชนาการเหล่านี้จะออกมาเพื่อเป็นส่วนเสริมให้ได้รับสารอาหารครบถ้วน แต่ด้วยแนวคิด “ไทปะ” ทำให้ผลิตภัณฑ์เหล่านี้เติบโตอย่างรวดเร็ว
อาหารครบโภชนาการเริ่มผันตัวจากอาหารเสริม สู่อาหารหลักสมาชิกกลุ่มพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร กำลังพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ของอาหารครบโภชนาการสำหรับผู้หญิง “ONE ALL” ซึ่งอายิโนะโมะโต๊ะได้วางจำหน่ายเมื่อเดือนมกราคม มีซุปพาสต้า 2 รสชาติคือ รสชีสและรสแกงกะหรี่ไก่เนย วางจำหน่ายออนไลน์ 5 ซองราคา 2,990 เยน (ไม่รวมค่าส่ง) มีผู้สมัครซื้อประจำเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าของที่คาดการณ์ไว้ และบริษัทมีแผนที่จะเปิดตัวรสชาติใหม่ภายในปีงบประมาณ 2024 นอกจากนี้ยังมีแผนที่จะพัฒนาอาหารหลักนอกเหนือจากพาสต้าในปีงบประมาณ 2025 บริษัทให้ความสำคัญกับความต้องการของกลุ่มลูกค้าผู้หญิงที่ไม่ค่อยมีเวลาและต้องการสารอาหารในอาหารมื้อหลักที่อุ่นๆ และสามารถกินได้ง่าย สารอาหารสามารถผสมจากผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปให้ได้ปริมาณที่ต้องการได้ง่ายๆ แต่ติดปัญหาใหญ่คือความกลมกล่อมของรสชาติ
กระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการของญี่ปุ่น กำหนดให้สารอาหาร 33 ชนิดเป็นสารอาหารที่คนญี่ปุ่นต้องการ อาหารครบโภชนาการคือผลิตภัณฑ์ที่สามารถได้รับสารอาหารเหล่านี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เริ่มมีขึ้นในสหรัฐอเมริกาในช่วงต้นทศวรรษ 2010 เดิมทีผลิตภัณฑ์เหล่านี้มีลักษณะเป็นผงใช้ผสมกับน้ำ หรือเป็นแท่งสำหรับรับประทานในช่วงเวลางาน แต่ในปัจจุบันแนวโน้มได้เปลี่ยนไปแล้ว ความต้องการอาหารที่สามารถใช้ทดแทนมื้ออาหารโดยตรงเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะในกลุ่มคนทำงานที่ต้องการประหยัดเวลาที่ใช้ทำอาหารและคิดเมนู การระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้ความตระหนักถึงการได้รับสารอาหารเพิ่มขึ้น เป็นเหตุให้ตลาดขยายตัว การที่อาหารครบโภชนาการเป็นที่รู้จักในญี่ปุ่นในฐานะอาหารหลักเริ่มจากการเปิดตัวบริษัท Base Food ซึ่งเป็นสตาร์ทอัพที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์โตเกียว ซึ่งได้เปิดตัว “Base Pasta” ที่ใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติจำนวนมากในปี 2017 และขยายไปยังขนมปังในปี 2019
เมื่อเดือนเมษายน 2024 บริษัท Base Food ได้เปิดตัวบะหมี่ผัดและมีแผนที่จะเปิดตัวรสชาติใหม่ในขนมปังและผลิตภัณฑ์อื่นๆ ภายในปีงบประมาณเดียวกัน นายชุน ฮาชิโมโตะ CEO ของ Base Food กล่าวว่า “ถ้าเราสามารถเปลี่ยนอาหารหลักที่ทุกคนกินได้ ทุกคนจะสามารถสุขภาพดีได้โดยไม่ต้องใช้เวลามาก”
นอกจากนั้น บริษัทจากอุตสาหกรรมอื่นอย่างบริษัทโอลิส (โตเกียว ชินากาวะ) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของกลุ่มพอล่า ออร์บิส HD ก็เข้ามาแข่งขันในอุตสาหกรรมนี้ โดยได้เปิดตัว “Kokomogu” อาหารครบโภชนาการในรูปของข้าวปั้นที่คาดว่าจะเป็นเจ้าแรกในตลาด วางจำหน่ายบนเว็บไซต์เฉพาะ ขายชุด 9 มื้อ (ข้าวปั้น 18 ชิ้น) ในราคา 6,033 เยน (ไม่รวมค่าส่ง) โดยมียอดส่งออกมากกว่า 3,000 ชิ้นในช่วงสองสัปดาห์หลังจากเปิดตัว
การเลือกข้าวปั้นเพราะเป็นอาหารที่คนญี่ปุ่นคุ้นเคยและกินได้ง่าย “เราต้องการให้เป็นอาหารประจำวัน” นายทาเคโอะ ชิโอทานิ ผู้จัดการกลุ่มพัฒนาธุรกิจใหม่กล่าวว่า บริษัทจะเน้นการขายให้แก่บริษัทโดยทำให้สามารถซื้อได้ในสำนักงานเพื่อบริการสวัสดิการพนักงาน ตั้งเป้ารายได้ 2,000-3,000 ล้านเยนในอีก 5 ปีข้างหน้า
ในตอนแรกอาหารครบโภชนาการดังกล่าว ส่วนใหญ่ขายผ่านออนไลน์ แต่ตอนนี้มีโอกาสที่จะพบเห็นในร้านสะดวกซื้อเพิ่มขึ้น ในปี 2022 นิสชิน ฟู้ดส์ได้เปิดตัวแบรนด์ “Kanzen Meshi” ซึ่งขยายผลิตภัณฑ์ต่างๆ เมื่อเดือนพฤษภาคม 2024 โลว์สันร่วมมือกับผู้ผลิตขนมปังรายใหญ่ในการพัฒนาขนมปัง “Support Bread” ที่มีสารอาหาร 33 ชนิดและวางจำหน่ายทั่วประเทศ ขยายประเภทผลิตภัณฑ์และช่องทางการจำหน่าย จากการสำรวจขององค์กรภายนอกของ Base Food เห็นว่าตลาดอาหารครบโภชนาการในญี่ปุ่นจะเกิน 50,000 ล้านเยนภายในปี 2030
อย่างไรก็ดี ปัญหาของอาหารครบโภชนาการคือการที่ยังไม่มีคำนิยามที่เป็นทางการ หรือมาตรฐานที่ชัดเจน อีกทั้งการแสดงข้อมูลของแต่ละบริษัทที่แตกต่างกันก็ทำให้ผู้บริโภคยากที่จะตัดสินคุณภาพ นอกจากนั้น เมื่อปี 2016 ยังมีรายงานปัญหาสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ที่มีลักษณะคล้ายอาหารครบโภชนาการ “Soylent” ในอเมริกาเหนือ ในที่ประชุมของคณะกรรมการกระทรวงเศรษฐกิจ การค้าและอุตสาหกรรม มีผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า “คำว่าอาหารครบโภชนาการอาจทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดว่าการกินเพียงนี้จะทำให้สุขภาพดี” บริษัทผู้ผลิตอาหารครบโภชนาการ เช่น อายิโนะโมะโต๊ะ รับรู้ปัญหาเหล่านี้ โดยในเว็บไซต์ของหลายบริษัทได้มีการเผยแพร่รายละเอียดสารอาหารของผลิตภัณฑ์ เปรียบเทียบกับมาตรฐานของกระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการ ทั้งนี้ มีผู้บริโภคจำนวนมากซื้อเพื่อวัตถุประสงค์ในการลดน้ำหนัก หากเปลี่ยนทั้งสามมื้อเป็นอาหารครบโภชนาการ ก็อาจไม่ได้รับพลังงานอย่างเพียงพอตามที่ร่างกายต้องการ
แม้ว่านิสชิน ฟู้ดส์ ได้จัดตั้งสมาคม “Japan Optimized Nutrition Food Association” เมื่อปี 2023 และให้การรับรองคำนิยามของ “อาหารโภชนาการที่เหมาะสม” ว่าเป็นอาหารที่มีสารอาหาร 33 ชนิดอย่างสมดุลตามหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ แต่ก็ยังไม่เป็นที่แพร่หลายไปยังนอกกลุ่มนิสชิน ฟู้ดส์

บทวิเคราะห์ (ผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย)
ญี่ปุ่นเป็นประเทศผู้นำเข้าสินค้าอาหารที่สำคัญของไทย ซึ่งอุตสาหกรรมอาหารในญี่ปุ่นเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่มีความหลากหลาย ทั้งการผลิตอาหารแปรรูป การเกษตร การประมง รวมถึงภาคบริการ ส่วนใหญ่มีการปรับตัวโดยออกแบบผลิตภัณฑ์ให้สอดคล้องกับสังคมเมือง รักษ์สุขภาพ และสังคมผู้สูงวัย พร้อมทั้งสามารถประหยัดเวลาในการปรุงอาหารรับประทานเอง อาหารครบโภชนาการเป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคดังกล่าวซึ่งคาดการณ์ว่าตลาดอาหารครบโภชนาการในญี่ปุ่นจะขยายตัวเป็นกว่า 50,000 ล้านเยนหรือประมาณ 12,000 ล้านบาท ภายในปี 2030 ผู้ประกอบการไทยจึงจำเป็นต้องติดตามแนวโน้มตลาดอย่างต่อเนื่องเพื่อพัฒนาสินค้าให้ตรงตามความต้องการของผู้บริโภค โดยสิ่งทีขาดไม่ได้คือการผลักดันของภาครัฐเพื่อให้เกิดการแสวงหาโอกาสความร่วมมือระหว่างผู้ผลิตไทยและผู้ผลิตญี่ปุ่นในอุตสาหกรรมดังกล่าว

ข่าวเด่นประจำสัปดาห์ฉบับที่ 40 วันที่ 29 มิถุนายน – 5 กรกฎาคม 2567
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น
อ้างอิงจาก
หนังสือพิมพ์ Nikkei ฉบับวันที่ 4 กรกฎาคม 2567

jaJapanese