แนวโน้มของตลาดร้านอาหารเอเชียในเยอรมนี

เมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 คลี่คลายลง ร้านอาหารเอเชียได้รับความนิยมมากขึ้น และเริ่มฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป อาหารเอเชียมีจุดเด่นที่ดึงดูดกลุ่มผู้บริโภคในเยอรมนีได้คือ ความหลากหลาย วิธีการปรุงอาหารเอเชียมีความพิถีพิถัน ใช้วัตถุดิบที่ดีต่อสุขภาพทั้งสมุนไพรและเครื่องเทศต่างๆอีกทั้งใช้ผักเป็นส่วนผสมมากที่สุดประมาณร้อยละ 15 รองลงมาคือเนื้อปลา อาหารทะเล และไก่ เมนูอาหารเอเชียหลายชนิดยังสามารถปรุงโดยไม่ใช้เนื้อสัตว์ ซึ่งสอดซึ่งคล้องกับแนวโน้มการบริโภคของตลาดเยอรมนีในปัจจุบันที่ชาวเยอรมันให้ความสำคัญกับการรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพถึงร้อยละ 91 ตามรายงานของกระทรวงอาหารและการเกษตรแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (BMEL)

การแข่งขันของตลาดร้านอาหารเอเชีย

สภาพแวดล้อมการแข่งขันของตลาดร้านอาหารเอเชีย (Asian Cuisine) มีความหลากหลาย และกระจัดกระจาย ในส่วนของร้านอาหารมีอัตราการแข่งขันสูง ทั้งร้านอาหารจีน ญี่ปุ่น ไทย และอินเดีย ซึ่งเป็นตัวเลือกที่หลากหลายให้กับผู้บริโภค นอกจากนี้ ความต้องการของผู้บริโภคส่งผลโดยตรงต่อการจัดการของร้านอาหารเอเชียเป็นอย่างมาก เช่น ผู้บริโภคในตลาดเยอรมนีเริ่มให้ความสำคัญกับราคามากขึ้น และมีความต้องการทางเลือกอาหารที่ดีต่อสุขภาพและยั่งยืนมากขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการร้านอาหารต้องพยายามหาวิธีปรับต้นทุนให้เหมาะสมเพื่อรักษาอัตรากำไรและส่วนแบ่งการตลาด ผู้ประกอบการต้องคิดค้นสร้างสรรค์เมนูใหม่ๆ นำเสนอรสชาติที่เหนือกว่าพร้อมกับเมนูที่หลากหลายเพื่อเพิ่มความสามารถในแข่งขันในตลาดเยอรมนี โดยรวมแล้ว สภาพแวดล้อมการแข่งขันของตลาด Asia Cuisine มีความซับซ้อนและเติบโตมากขึ้น โดยผู้ประกอบการพยายามใช้กลยุทธ์ทางการตลาด อาทิ คุณภาพ ราคา การจดจำแบรนด์ และนวัตกรรม เป็นต้นเพื่อดึงดูดความต้องการของผู้บริโภคและเพิ่มส่วนแบ่งตลาด

ศักยภาพของตลาดและการเติบโตของร้านอาหารเอเชียในเยอรมนี

จากการคาดการณ์ของบริษัทวิเคราะห์ตลาดสินค้าอาหารและเครื่องดื่ม Heartatwork Hospitality Consulting พบว่า ตลาดอาหารเอเชียทั่วโลกในปี 2565 สร้างรายได้ประมาณ 145.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (136.2 พันล้านยูโร) และคาดว่าตั้งแต่ปี 2566 ถึง 2573 จะมีอัตราการเติบโต (CAGR) มากกว่าร้อยละ 7 โดยคาดการณ์ว่าในปี 2573 อาจมีมูลค่าถึงประมาณ 233.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (218.7 พันล้านยูโร) ซึ่งการเติบโตนี้มากกว่าอัตราการเติบโตที่คาดการณ์ไว้ของร้านอาหาร Fast Food และร้านอาหารแบบ Quick Service (QSR)

ข้อมูลจากสมาคมโรงแรมและร้านอาหารแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (DEHOGA Bundesverband) ระบุว่า ร้านอาหารจดทะเบียนในเยอรมนีปี 2565 ทั้งสิ้น 64,032 แห่ง (เมื่อเทียบกับปี 2564: 61,827 แห่ง) แสดงให้เห็นถึงแนวโน้มการขยายตัวเพิ่มขึ้นในธุรกิจร้านอาหารในเยอรมนีหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19

ปัจจุบันมีร้านอาหารเอเชียกระจายอยู่ทั่วประเทศเยอรมนี ซึ่งแนวโน้มหลักที่พบส่วนใหญ่ในตลาดร้านอาหารเอเชียคือ ผู้บริโภคต้องการรับประทานอาหารเอเชียที่มีลักษณะและรสชาติดั้งเดิมมากขึ้น ซึ่งนำไปสู่สัดส่วนที่เพิ่มขึ้นของร้านอาหารเอเชียและเน้นการใช้วัตถุดิบที่มีคุณภาพสูงนำเข้าจากเอเชีย นอกจากนี้ร้านอาหารแบบฟิวชั่นที่ผสมผสานความเป็นเอเชียก็ได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน ส่งผลให้สามารถดึงดูดกลุ่มลูกค้าได้กว้างมากขึ้น ซึ่งแสดงให้เห็นว่ากระแสอาหารเอเชียได้รับความนิยมในกลุ่มผู้บริโภคชาวเยอรมันในปัจจุบัน

จากการวิเคราะห์ข้อมูลของ GlobalData บริษัทวิเคราะห์ข้อมูลและให้คำปรึกษา ณ กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร พบว่าแนวโน้มร้านอาหารเอเชียในเยอรมนีโดยรวมเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ราคาอาหารเอเชียในเยอรมนีระหว่างปี 2565 – 2566 ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงมากนัก โดยอาหารเอเชียในกรุงเบอร์ลินและเมืองดุสเซลดอร์ฟ มีราคาถูกกว่าในนครแฟรงก์เฟิร์ตและนครมิวนิก

แนวโน้มของตลาดร้านอาหารเอเชียในเยอรมนี

ตัวอย่างแนวโน้มร้านอาหารเอเชียแยกตามประเทศ

 

ร้านอาหารญี่ปุ่น

ปัจจุบันในเยอรมนีมีร้านอาหารญี่ปุ่นประมาณ 1,955 แห่ง จากข้อมูลของ Smartscrapers และจากข้อมูลของสถาบันวิเคราะห์ตลาด Businesscoot พบว่าร้านอาหารญี่ปุ่นทั้งร้านราเมนและร้านซูชิ มีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในเมืองใหญ่ เช่น กรุงเบอร์ลิน นครมิวนิก และเมืองดุสเซลดอร์ฟ โดยเฉพาะที่กรุงเบอร์ลินมีร้านอาหารญี่ปุ่นที่หลากหลาย และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ หรือเมืองดุสเซลดอร์ฟซึ่งถือเป็นเมืองศูนย์รวมของชาวญี่ปุ่นในเยอรมนี มีร้านอาหารญี่ปุ่นแบบดั้งเดิมให้เลือกเป็นจำนวนมาก โดยภาพลักษณ์ของอาหารญี่ปุ่นในสายตาผู้บริโภคชาวเยอรมันถือเป็นอาหารเพื่อสุขภาพ ทำมาจากวัตถุดิบสดใหม่ คุณภาพสูง สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคโดยเฉพาะในกลุ่มคนรุ่นใหม่ในเยอรมนี ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 39 โดยจุดเด่นที่ทางร้านอาหารญี่ปุ่นใช้ในการทำการตลาดคือ อาหารที่มีรสชาติต้นตำรับดั้งเดิม ใช้วัตถุดิบคุณภาพสูง มีรูปแบบการนำเสนออาหารสวยงาม และเน้นให้ความสำคัญต่อความสะดวกสบายของผู้บริโภค สิ่งที่น่าสนใจอีกประการของร้านอาหารญี่ปุ่นในเยอรมนีคือ การบริการหลากหลายรูปแบบที่รองรับกับความต้องการและวิถีชีวิตของผู้บริโภค เช่น Sushi Daily, Natsu Foods, Happy Eating, Traditional Japanese Restaurant และ Delivery Services เป็นต้น

 

ร้านอาหารเวียดนาม

ข้อมูลจาก Smartscrapers ระบุว่า ปัจจุบันมีร้านอาหารเวียดนามประมาณ 2,531 แห่งทั่วเยอรมนี มีแนวโน้มได้รับความนิยมมากขึ้นในหมู่ผู้บริโภคชาวเยอรมัน โดยเฉพาะในเมืองใหญ่ เช่น กรุงเบอร์ลิน เมืองฮัมบูร์ก และนครมิวนิก ร้านอาหารเวียดนามส่วนใหญ่จะทำอาหารออกมาในแบบฟิวชั่นที่เป็นรูปแบบการปรุงอาหารที่ผสมผสานประเพณีหรือเทคนิคการทำอาหารแบบดั้งเดิมเข้ากับวัตถุดิบท้องถิ่นในเยอรมนี ซึ่งกำลังได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นในร้านอาหารเวียดนามที่มีเจ้าของกิจการเป็นคนรุ่นใหม่โดยเฉพาะคนที่เกิดและเติบโตในเยอรมนี  ถึงแม้ในเยอรมนีมีร้านอาหารเวียดนามอยู่มากมาย แต่มีเชฟหรือพ่อครัวในตำแหน่งระดับสูงจำนวนไม่มาก และเจ้าของร้านอาหารเวียดนามส่วนใหญ่ที่เปลี่ยนมาขายร้านอาหารไม่ได้ผ่านการฝึกอบรมการทำอาหารเวียดนามในแบบดั้งเดิม ทำให้รสชาติของอาหารจึงไม่ดีเท่าที่ควร อีกทั้งความต้องการที่จะดึงดูดลูกค้าด้วยการลดราคาโดยใช้วัตถุดิบราคาถูก และปรุงอาหารตามความต้องการของลูกค้าทำให้ค่อยๆ สูญเสียเอกลักษณ์ความดั้งเดิมของอาหารเวียดนามไป

 

ร้านอาหารเกาหลี

ปัจจุบันมีร้านอาหารเกาหลีในเยอรมนียังมีจำนวนไม่มากนัก ประมาณ 371 แห่งทั่วเยอรมนี จากข้อมูลของ Smartscrapers ร้านอาหารเกาหลีส่วนใหญ่จะอยู่ตามเมืองใหญ่ เช่น กรุงเบอร์ลิน นครมิวนิก นครแฟรงก์เฟิร์ต เมืองโคโลญ เป็นต้น และข้อมูลจากศูนย์วัฒนธรรมเกาหลีในเยอรมนี (Koreanischen Kulturzentrums in Deutschland) ระบุว่า ความนิยมอาหารเกาหลีที่กำลังเพิ่มขึ้นในเยอรมนีมาจากกระแส Hallyu หรือการเผยแพร่วัฒนธรรมของเกาหลีผ่านสื่อและแพลตฟอร์มออนไลน์ที่คนเยอรมันสามารถเข้าถึงได้ง่ายขึ้น เช่น ผ่านการฟังเพลง K-pop และการชม K-drama นอกจากนี้ ลักษณะเด่นอาหารเกาหลีที่เป็นอาหารเพื่อสุขภาพ และอาหารควบคุมน้ำหนักจึงเป็นปัจจัยที่ส่งเสริมการบริโภคในเยอรมนี ทั้งนี้ รัฐบาลเกาหลีใต้มีเป้าหมายที่จะขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอาหารเกาหลีให้มีมูลค่าถึง 300 ล้านล้านวอน (227 พันล้านดอลลาร์) ทั่วโลกภายในปี 2570 เพื่อตอบสนองความต้องการอาหารเกาหลีที่เพิ่มมากขึ้นทั่วโลก จากข้อมูล Pacific Focus Inha Journal of International Studies ระบุว่า อาหารเกาหลีที่วางจำหน่ายในเยอรมนีมีทั้งอาหารเกาหลีแบบดั้งเดิมและแบบฟิวชั่น เช่น บาร์บีคิวเกาหลี ไก่ทอดเกาหลี เป็นต้น การเจาะกลุ่มตลาดผู้บริโภคของร้านอาหารเกาหลีในเยอรมนีจะมุ่งเน้นไปที่กลุ่มผู้บริโภคสองกลุ่มคือ คนเกาหลีหรือคนเอเชียที่ย้ายเข้ามาอาศัยในเยอรมนี และคนเยอรมันท้องถิ่น โดยกลุ่มเป้าหมายที่สำคัญคือคนเยอรมันท้องถิ่น เนื่องจากเป็นกลุ่มลูกค้าหลักทำให้มีโอกาสในการขยายฐานลูกค้าเพิ่มขึ้นในเยอรมนี นอกจากนี้ ยังมีการปรับรสชาติของอาหารเกาหลีให้ถูกปากกับผู้บริโภคชาวเยอรมันมากขึ้น อย่างไรก็ตาม สิ่งนี้อาจทำให้เอกลักษณ์ดั้งเดิมของอาหารเกาหลีถูกลดทอนลงไป

 

ร้านอาหารไทย

อาหารไทยได้รับความนิยมในกลุ่มผู้บริโภคชาวเยอรมันมาอย่างช้านาน ข้อมูลจาก Smartscrapers ระบุว่า ปัจจุบันมีร้านอาหารไทยในเยอรมนีประมาณ 1,654 แห่ง พบมากตามเมืองใหญ่ เช่น กรุงเบอร์ลิน นครมิวนิก นครแฟรงก์เฟิร์ต เมืองโคโลญ เมืองฮัมบูร์ก หรือแม้กระทั่งตามเมืองเล็กต่างๆ ก็ยังมีร้านอาหารไทยกระจายอยู่ทั่วเยอรมนี โดยทั้งร้านที่นำเสนออาหารรสชาติไทยแท้ดั้งเดิม และอาหารไทยแบบสมัยใหม่ เมนูอาหารไทยที่เป็นที่ชื่นชอบของชาวเยอรมัน ได้แก่ ผัดไทย ต้มยำ แกงเขียวหวาน แกงพะแนง และส้มตำ เป็นต้น ปัจจุบันร้านอาหารไทยในเยอรมนีมีหลากหลายรูปแบบมากขึ้น เช่น ร้านอาหารแบบดั้งเดิม ร้านอาหารไทยจานด่วน ร้านอาหารแบบ Food Truck และซุ้มขายอาหารไทยตามงานเทศกาลต่างๆ ที่กำลังได้รับความนิยมในเยอรมนีเพิ่มมากขึ้น ภาพลักษณ์อาหารไทยในสายตาของผู้บริโภคชาวเยอรมันถือเป็นอาหารเพื่อสุขภาพ ใช้ผักและสมุนไพรเป็นส่วนประกอบหลักในการปรุงอาหาร อีกทั้งมีรสชาติเป็นเอกลักษณ์ โดยเฉพาะในกลุ่มชาวเยอรมันที่เคยไปเที่ยวเมืองไทยมักจะกลับมาหาร้านอาหารไทยที่มีรสชาติไทยแท้ดั้งเดิม จากข้อมูลของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาของประเทศไทยระบุว่า ในช่วงเดือนมกราคม -กุมภาพันธ์ปี 2567 มีนักท่องเที่ยวชาวเยอรมนีมาท่องเที่ยวในประเทศไทยประมาณ 199,563 ราย ปัจจุบันผู้ประกอบการสามารถเลือกใช้วัตถุดิบที่นำเข้ามาจากประเทศไทยได้สะดวกและง่ายขึ้น และอาหารไทยควรจะต้องปรุงโดยเชฟหรือพ่อครัวคนไทยเพื่อรักษาเอกลักษณ์รสชาติอาหารให้เป็นแบบไทยแท้ดั้งเดิม และให้สามารถแข่งขันในตลาดได้ ทั้งนี้ ร้านอาหารไทยมักประสบปัญหาขาดแคลนเชฟหรือพ่อครัว/แม่ครัว เนื่องจากจะต้องผ่านการฝึกอบรมและต้องมีประสบการณ์การทำงานในด้านนี้ในประเทศไทยอย่างน้อย 6 ปีก่อนมาทำงานที่เยอรมนี และต้องเปลี่ยนทุกๆ 4 ปี

 

ที่มา

DEHOGA Deutschverband, Lebensmittelpraxis, Businesscoot, Smartscrapers, Vietnamnet Global, Credence Research, The Korea Herald, Across Magazine, BMEL, Frankfrter Neue Presse, Rheinische Post, Thai’s Ministry of Tourism & Sports, Verdictfoodservice, GlobalData

 

jaJapanese