ผลจากภาวะเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ย…กับการรัดเข็มขัดของชาวออสซี่

ภาวะเงินเฟ้อออสเตรเลียแตะระดับสูงสุดที่ร้อยละ 7.8 ในช่วงปลายปี 2565 ก่อนที่จะปรับลดลงต่อเนื่องปัจจุบันเงินเฟ้อเดือนพฤษภาคมอยู่ที่ร้อยละ 4 ธนาคารกลางออสเตรเลียปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้น 13 ครั้งตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2565 ทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายออสเตรเลียอยู่ที่ร้อยละ 4.35 (สูงสุดในรอบ 12 ปี) นักวิเคราะห์บางสถาบัน คาดว่า ธนาคารกลางออสเตรเลียอาจพิจารณาปรับเพิ่มขึ้นอีกครั้งภายในสิ้นปี 2567 เนื่องจากภาวะเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นในช่วงไตรมาสเดือนเดือนมีนาคม โดยเฉพาะครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำได้รับผลกระทบอย่างมาก

รายงานพฤติกรรมการใช้จ่ายของชาวออสเตรเลียโดย Polis Partner พบว่า ปี 2567 ครัวเรือนออสเตรเลียใช้จ่ายไปกับสินค้าและบริการที่ไม่จำเป็น (การรับประทานอาหารนอกบ้าน การท่องเที่ยวและกิจกรรมเพื่อความบันเทิง) ลดลงเฉลี่ย 10,300 เหรียญออสเตรเลียต่อปี (เมื่อเทียบกับการใช้จ่ายในช่วงปี 2563) เนื่องจากผลกระทบจากค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้นโดยเฉพาะค่าสินเชื่อบ้านที่ต้องผ่อนชำระสูงถึง 2 เท่าจากการเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ยตลอด 1 ปีที่ผ่านมา

โดยภาคครัวเรือนออสเตรเลียที่มีภาระผ่อนชำระบ้านลดการใช้จ่ายซื้อสินค้าหรือบริการที่ไม่จำเป็นลงมากที่สุดมูลค่า 21,300 เหรียญออสเตรเลียต่อปี สำหรับครัวเรือนที่เช่าที่พักอาศัยใช้จ่ายซื้อสินค้าหรือบริการที่ไม่จำเป็นลดลง 13,300 เหรียญออสเตรเลียต่อปี และครัวเรือนที่ไม่มีหนี้การผ่อนชำระบ้าน (ประมาณร้อยละ 30 ของภาคครัวเรือนออสเตรเลียทั้งหมด) ได้รับผลกระทบจากภาวะเงินเฟ้อและการเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ยน้อยที่สุดมีการใช้จ่ายซื้อสินค้าหรือบริการที่ไม่จำเป็นลดลงเพียง 7,200 เหรียญออสเตรเลียต่อปี โดยชาวออสเตรเลียลดการใช้จ่ายซื้อสินค้าหรือบริการที่ไม่จำเป็น ดังนี้

  • เลือกซื้อสินค้าหรือบริการที่มีข้อเสนอดี คุ้มและถูกที่สุด
  • งดการเดินทางท่องเที่ยวหรือเลือกแพคเก็จที่ถูกที่สุด
  • งดการซื้อสินค้าเฟอร์นิเจอร์ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และสินค้าเสื้อผ้าแฟชั่นลง
  • ลดการบริโภคเนื้อราคาแพงและรับประทานผัก โปรตีนทางเลือกในประเทศซึ่งมีราคาถูก
  • ยุติการเป็นสมาชิกสถานออกกำลังกาย
  • ใช้รถยนต์เพียงคันเดียวและขายรถยนต์คันที่ 2 รวมถึงระงับแผนการซื้อรถยนต์คันใหม่ออกไป
  • ตัดลดกิจกรรมเสริมทักษะนอกหลักสูตรการศึกษาของบุตร
  • ลดการใช้บริการซักแห้ง
  • ลดการซื้อกาแฟ (จากที่ซื้อทุกวันเหลือ 1 ครั้งต่อสัปดาห์)
  • ลดการสังสรรค์และรับประทานอาหารนอกบ้านลง
  • ลดความคุ้มครองของประกันสุขภาพเพื่อจ่ายค่าประกันถูกลง

ภาวะความกดดันจากค่าครองชีพส่งผลต่อความเชื่อมั่นผู้บริโภคและเสถียรภาพทางการเงินของภาคครัวเรือนออสเตรเลียซึ่งสร้างผลกระทบต่อผลประกอบการของภาคธุรกิจต่างๆ อาทิ โรงแรม ร้านอาหาร ร้านค้าปลีก และสถานบริการต่างๆต้องซบเซาลง ตลอดจนการเติบโตทางเศรษฐกิจโดยรวมของออสเตรเลียรวมถึงการบริโภคในประเทศตลอดปี 2567

…………………………………………………………………………

シドニーの海外貿易促進オフィス

ที่มา:

www.smh.com.au

jaJapanese