ความนิยมของผลิตภัณฑ์ทดแทนมื้ออาหารในร้านอาหาร หรือ Restaurant meal replacement: RMR กำลังเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากค่าใช้จ่ายในการรับประทานอาหารนอกบ้านในประเทศเกาหลีใต้พุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ผลิตภัณฑ์ทดแทนมื้ออาหารจากร้านอาหาร (Restaurant meal replacement: RMR) อยู่ในกลุ่มสินค้าผลิตภัณฑ์ทดแทนมื้ออาหารที่บ้าน หรือ home meal replacement (HMR) โดยเป็นความร่วมมือกับร้านอาหารชื่อดัง เพื่อที่ผู้บริโภคจะสามารถปรุงอาหารที่บ้านได้อย่างสะดวกสบาย ใช้เพียงแค่ไมโครเวฟ หม้อ หรือหม้อทอดไร้น้ำมัน แต่มีรสชาติเสมือนรับประทานที่ร้าน
ตามข้อมูลจากซูเปอร์มาร์เก็ตขนาดใหญ่ และแพลตฟอร์มออนไลน์ ณ วันที่ 10 มิถุนายน 2567 ผลิตภัณฑ์ RMR มียอดขายเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2567 เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปีก่อนหน้า ยอดขายผลิตภัณฑ์ RMR ของ Homeplus เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 148 ในขณะที่ Lotte Mart และ Lotte Supermarket มียอดขายเพิ่มขึ้นร้อยละ 10 และ Emart เพิ่มขึ้นร้อยละ 7 ในส่วนของช่องทางออนไลน์ SSG.com ทำยอดขายในช่วง 5 เดือนแรกได้เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 31 เทียบกับปีก่อนหน้า ในขณะที่ร้านสะดวกซื้อ GS25 เพิ่มขึ้นร้อยละ 29.6 และ CU เพิ่มขึ้นร้อยละ 20.5ทั้งนี้ ตัวเลขดังกล่าวข้างต้นสูงกว่าอัตราเติบโตร้อยละ 4 ของยอดขายรวมของซูเปอร์มาร์เก็ตขนาดใหญ่ ซึ่งรายงานโดยกระทรวงการค้า อุตสาหกรรม และพลังงานของประเทศเกาหลี สำหรับไตรมาสแรกของปี 2567
ในอดีต ผู้ค้าปลีกและบริษัทผู้ผลิตอาหารรายใหญ่ได้เคยแนะนำผลิตภัณฑ์ RMR เพื่อตอบสนองความต้องการที่จะเพลิดเพลินกับอาหารจากร้านอาหารชื่อดังที่บ้านแล้ว แต่ไม่ได้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องหรือเป็นวงกว้าง อย่างไรก็ดี ในปี 2563 การแข่งขันของผลิตภัณฑ์ RMR ได้เข้มข้นขึ้นเนื่องจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลให้จำนวนลูกค้าที่รับประทานอาหารที่ร้านอาหารดิ่งลงอย่างรวดเร็วจากการเว้นระยะห่างทางสังคม ร้านอาหารดังๆ จึงเริ่มกลับมาพัฒนาผลิตภัณฑ์ RMR อย่างจริงจัง โดยร่วมกับบริษัทค้าปลีกและบริษัทอาหารต่างๆ โดย Emart เป็นบริษัทที่มีความกระตือรือร้นในการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ RMR ในเกาหลีมากที่สุด ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์ RMR ประมาณ 150 รายการ มากกว่า 2 เท่า ของ 70 รายการที่จำหน่ายในปี 2564 โดยการเพิ่มขึ้นของความสนใจในผลิตภัณฑ์ RMR เกิดขึ้นท่ามกลางการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของค่าใช้จ่ายในการรับประทานอาหารนอกบ้าน
ตามข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติเกาหลี ค่าใช้จ่ายในการรับประทานอาหารนอกบ้านเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.8 ในเดือนพฤษภาคมเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ซึ่งสูงกว่าอัตราเงินเฟ้อโดยรวมที่ร้อยละ 2.7 อัตราเงินเฟ้อของค่าใช้จ่ายในการรับประทานอาหารนอกบ้านเพิ่มสูงขึ้นมากกว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเป็นเวลากว่า 36 เดือนติดต่อกันตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2564 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 2.6 เมื่อเทียบกับอัตราโดยรวมที่ร้อยละ 2.3
ความเห็น สคต.
สคต. ณ กรุงโซล พิจารณาแล้วเห็นว่า อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ทดแทนมื้ออาหารของร้านอาหาร (RMR) ของเกาหลีมีความสามารถในการเติบโตขึ้นได้อีกมาก เนื่องจากตรงกับพฤติกรรมของผู้บริโภคในยุคปัจจุบันที่เน้นไปที่ความรวดเร็ว อร่อย และราคาถูก นอกจากนี้ จากการที่ค่าครองชีพที่สูงขึ้น ราคาอาหารในร้านอาหารยังคงอยู่ในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งผลิตภัณฑ์ RMR ตอบโจทย์ดังกล่าวได้ดีมาก ส่งผลให้ร้านค้ารวมถึงบริษัทอาหารต่าง ๆ เร่งแข่งขันกันพัฒนาและจัดหาผลิตภัณฑ์ RMR หลากหลายรูปแบบ
ในส่วนของผู้ประกอบการไทย การเติบโตของผลิตภัณฑ์ทดแทนมื้ออาหาร (RMR) ในตลาดเกาหลีใต้ จะเป็นโอกาสสำหรับร้านอาหารในไทยที่เป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวเกาหลีใต้ หรือร้านอาหาร Thai SELECT ในเกาหลีใต้ โดยการร่วมมือกับผู้ผลิตสินค้า RMR ในการใช้สูตรของร้านอาหารนั้นๆ นำเสนอให้แก่ผู้บริโภคเกาหลีใต้ ซึ่งเป็นอีกโอกาสสำคัญในการขยาย Soft Power ไทยด้านอาหารสู่ตลาดเกาหลีใต้ อย่างไรก็ดี สิ่งที่ผู้ประกอบการไทยควรคำนึงคือราคาของสินค้า ควรอยู่ในราคาที่จับต้องได้ ตอบโจทย์คนเกาหลีใต้ในปัจจุบัน และวิธีการอุ่นหรือเตรียมอาหารต้องสามารถทำได้อย่างสะดวกรวดเร็ว นอกจากนั้น ยังควรออกแบบรูปลักษณ์ของผลิตภัณฑ์ให้มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว แต่เข้าถึงได้ง่าย เนื่องจากจำนวนผลิตภัณฑ์ RMR ที่มีมากขึ้น หมายถึงตัวเลือกของผู้บริโภคที่มีมากขึ้น ลักษณะภายนอกจึงถือเป็นจุดดึงดูดลูกค้าที่สำคัญ
(ที่มา : สำนักข่าว Pulse by Maeil Business ฉบับวันที่ 11 มิถุนายน 2567)
********************************************************************
ソウルの海外貿易促進事務所
จัดทำโดย นางสาวปัณณ์ เฟื่องทอง
ตรวจทานโดย นางสาวชนัญญา พรรณรักษา
ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโซล