(ที่มา : สำนักข่าว Pulse by Maiel Business ฉบับวันที่ 20 และ 29 พฤษภาคม 2567)
กระแสใหม่ของเครื่องดื่มเบียร์ เช่น เบียร์น้ำตาลน้อย เบียร์ไร้แอลกอฮอล์ และ
เบียร์แคลอรี่ต่ำ กำลังเริ่มเป็นที่นิยมในเกาหลีใต้ ขณะที่กำลังเริ่มเข้าสู่ฤดูร้อนซึ่งเป็นช่วงที่ธุรกิจเบียร์ของเกาหลีใต้ทำยอดขายได้ดีที่สุด
แนวคิดสินค้าดังกล่าวสอดคล้องกับกระแส “Healthy Pleasure” ซึ่งได้รับความสนใจมากขึ้นในกลุ่มผู้บริโภควัยหนุ่มสาว ที่มีแนวโน้มเลือกดื่มเบียร์ที่มีรสชาติไม่เข้ม มากกว่าที่จะเลือกเบียร์ที่มีแอลกอฮอล์ 4.5%แบบเดิมๆ
เมื่อต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ร้านสะดวกซื้อ CU ได้วางจำหน่ายเบียร์แอลกอฮอล์ต่ำ ซึ่งมีแอลกอฮอล์ผสม 1.5% เป็นครั้งแรก และทำยอดขายได้มากกว่า 8,000 กระป๋องภายในหนึ่งสัปดาห์หลังจากวางจำหน่ายครั้งแรก ทำให้เบียร์ดังกล่าวมียอดขายเป็นอันดับที่ 5 จากบรรดาเบียร์ที่ผลิตในประเทศเกาหลีใต้ทั้งหมด 15 แบรนด์ โดยดึงดูดความสนใจจากผู้บริโภควัยหนุ่มสาวมากเป็นพิเศษ ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาจากข้อมูลยอดขาย พบว่า 50.7% ของยอดขายมาจากผู้บริโภคในช่วงวัย 20 ตามด้วยผู้บริโภคในช่วงวัย 30 ที่ 38.4% ซึ่งแตกต่างกับยอดขายโดยรวมของเบียร์ที่ผลิตในประเทศที่มีประชากรวัย 30 เป็นกลุ่มผู้บริโภคหลัก
กระแสผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มไร้แอลกอฮอล์ และเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ต่ำกำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ที่ชื่นชอบการดื่มที่บ้าน ด้วยเหตุนี้ บริษัทเบียร์ชั้นนำจึงเปิดตัวผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องมากมาย อย่างเช่น เบียร์ไร้แอลกอฮอล์ ซึ่งปราศจากแคลอรี่หรือน้ำตาล รวมถึงเบียร์แคลอรี่ต่ำที่มีปริมาณน้ำตาลและคาร์โบไฮเดรตน้อยกว่าเบียร์ทั่วไป
ข้อมูลจากยูโรมอนิเตอร์ (Euromonitor) เผยว่า ตลาดเบียร์ไร้แอลกอฮอล์เติบโตจาก 8.1 พันล้านวอนในปี 2557 เป็น 2 หมื่นล้านวอนในปี 2564 และคาดว่าจะสูงถึง 6 หมื่นล้านวอนในปีนี้ ซึ่งการเติบโตของตลาดเบียร์ไร้แอลกอฮอล์ ส่งผลให้เกาหลีใต้เริ่มนำเข้าเบียร์ไร้แอลกอฮอล์มาจากต่างประเทศ อย่างเช่น บริษัท Diageo Korea ได้เปิดตัว Guinness 0.0 เป็นครั้งแรกในเอเชีย ซึ่งสินค้าดังกล่าวเป็นเบียร์ในรูปแบบไร้แอลกอฮอล์ของแบรนด์เบียร์ดำที่ขายดีที่สุดในโลกเอเชีย รวมทั้ง Tsingtao เป็นเบียร์นำเข้าเจ้าแรกที่เปิดตัวเบียร์ไร้แอลกอฮอล์ที่เกาหลีใต้ในปี 2563
นอกจากนี้ กระทรวงเศรษฐกิจและการคลัง สาธารณรัฐเกาหลี เปิดเผยเมื่อวันอังคารที่ 28 พฤษภาคม 2567 ว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติกฎระเบียบข้อบังคับใช้ฉบับแก้ไขตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ให้ผู้ค้าส่งสามารถกระจายสินค้าเครื่องดื่มไร้แอลกอฮอล์ไปยังร้านอาหารได้ หลังจากที่ก่อนหน้านี้ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่สามารถส่งให้ร้านอาหารต้องมีปริมาณแอลกอฮอล์ตั้งแต่ 1% ขึ้นไปเท่านั้น อย่างไรก็ดี การแก้ไขข้อบังคับดังกล่าวนี้มีจุดมุ่งหมาย เพื่อให้ใช้ประโยชน์จากแนวโน้ม ‘Healthy Pleasure’ ที่กำลังเติบโต และความนิยมนิยมของกระแส ‘Zero’ ในตลาดเครื่องดื่มและสุรา ซึ่งให้ความสำคัญกับเรื่องสุขภาพ
ความเห็น สคต.
สคต. ณ กรุงโซล พิจารณาแล้วเห็นว่า การดื่มแอลกอฮอล์ในเกาหลีใต้เป็นตัวช่วยในการเข้าสังคม สร้างบรรยากาศที่สนุก และช่วยในการผ่อนคลาย ในอดีตเบียร์ไร้แอลกอฮอล์ไม่ได้รับความนิยมมากนัก เนื่องจากผู้บริโภคมีความคิดว่า เบียร์ที่ไม่มีส่วนผสมแอลกอฮอล์ไม่มีข้อแตกต่างจากเครื่องดื่มผสมโซดาทั่วไป แต่หลังจากมีกระแส Healthy Pleasure ผู้บริโภคเริ่มสนใจเบียร์ไร้แอลกอฮอล์มากขึ้น โดยเฉพาะผู้บริโภคกลุ่ม Gen MZ ที่ชื่นชอบรสสัมผัสของเบียร์แต่ไม่อยากมีอาการมึนเมา ถือเป็นโอกาสที่ดีสำหรับผู้ผลิตเบียร์ไทยในการพิจารณาผลิตเบียร์ไร้แอลกอฮอล์เพื่อการส่งออกมายังเกาหลีใต้ เพื่อให้ตอบโจทย์ผู้บริโภคและวัฒนธรรมการดื่มของเกาหลีใต้ที่เปลี่ยนแปลงตามยุคสมัย นอกจากนี้ ยังช่วยลดอุปสรรคด้านอัตราภาษีนำเข้า เนื่องจากเบียร์ที่ไม่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์มีอัตราภาษีนำเข้า 0% ภายใต้กรอบความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-เกาหลี (ASEAN-Korea FTA : AKFTA) โดยไม่มีภาษีสุราเพิ่มเติม ในขณะที่เบียร์ที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์มีอัตราภาษี 15% หลังใช้สิทธิ AKFTA และภาษีสุรา
********************************************************************
ソウルの海外貿易促進事務所