ความต้องการเครื่องประดับของผู้บริโภคในตลาดสหรัฐฯ

การจำหน่ายเครื่องประดับในตลาดสหรัฐฯ ปี 2566 จากการรวมรวมข้อมูลของบริษัท Grandview research มีมูลค่าประมาณ 73,320 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยสินค้าที่มียอดจำหน่ายสูงสุด ได้แก่ สร้อยคอ แหวน ต่างหู สร้อยข้อมือและอื่นๆ ตามลำดับ อนึ่งยอด

จำหน่ายเครื่องประดับในตลาดสหรัฐฯ ดังกล่าว คิดเป็น 20.76% ของตลาดเครื่องประดับทั่วโลก ทั้งนี้ มีการคาดว่าตลาดเครื่องประดับในสหรัฐฯ น่าจะมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 4.1% ในช่วงระหว่างปี 2567-2573

ความต้องการเครื่องประดับของผู้บริโภคในตลาดสหรัฐฯ

ปัจจัยที่ช่วยขับเคลื่อนอุปสงค์ในตลาดสหรัฐฯ มีดังนี้
1. ผู้บริโภคมีความสามารในการใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้น ผู้บริโภคสหรัฐฯ คลายความกังวลต่อสถานการณ์เศรษฐกิจ กอปรกับรายได้ของผู้บริโภคมีการขยายตัวเพิ่มขึ้น หนุนให้ผู้บริโภคมีความมั่นใจและพร้อมที่จะใช้จ่ายในการซื้อสินค้าเพิ่มมากขึ้น จากข้อมูลของ BEA พบว่าการใช้จ่ายของผู้บริโภคสหรัฐฯ ในเดือนมีนาคม 2567 เพิ่มขึ้น 0.8% เมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา การที่ผู้บริโภคสหรัฐฯ หันมาใช้จ่ายสินค้าเครื่องประดับเพิ่มมากขึ้น นับว่าเป็นสัญญาณเชิงบวกสำหรับปี 2567 แม้ว่าจะมีความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจอยู่บ้างก็ตาม

 

2. เทรนด์แฟชั่นและความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไปช่วยกระตุ้นการซื้อของผู้บริโภค ความนิยมเครื่องประดับเฉพาะบุคคล สร้อยคอที่มีความหมายเชิงสัญลักษณ์ เครื่องประดับคลาสสิกที่ผสมผสานความทันสมัยและวัสดุยั่งยืนช่วยกระตุ้นการซื้อของผู้บริโภคที่มีรสนิยมและงบประมาณที่หลากหลาย

 

นอกจากนี้กระเสความนิยมเครื่องประดับจากกลุ่มคนดังและผู้มีอิทธิพลบนสื่อโซเชียลมีบทบาทสำคัญและสร้างโอกาสทางการจำหน่ายให้กับผู้ขายในตลาดเพิ่มมากขึ้น ตลอดจนช่วยผลักดันเทรนด์ใหม่ๆ และสร้างกระแสนิยมมหภาคสู่ผู้บริโภคในตลาดสหรัฐฯ และทั่วโลก เช่น เทรนด์ “iced out” หรือเทรนด์เครื่องประดับมีค่าที่มีการนำเพชรมาตกแต่งทั้งชิ้นเพื่อเพิ่มความสะดุดตา เริ่มต้นจากกลุ่มนักร้อง Hip Hop ต่อมามีการขยายเข้าสู่กลุ่มนักกีฬาและกระจายเข้าสู่กลุ่มผู้บริโภครุ่นใหม่ในสหรัฐฯ และวงการแฟชั่นสตรีทแวร์ในมุมกว้าง นอกจากนี้ อิทธิพลของความยั่งยืน (sustainability) ได้เข้ามามีบทบาทอย่างมากในอุตสาหกรรมเครื่องประดับและช่วยกระตุ้นให้นักออกแบบตื่นตัวมองหาวัสดุและกระบวนการผลิตที่สนับสนุนความยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพิ่มมากขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในยุคปัจจุบัน

 

จากข้อมูลของ King Jewelers ได้มีการคาดการณ์ “เทรนด์เครื่องประดับสำหรับผู้หญิง” ที่น่าจะมาแรงในปี 2567 ดังนี้ เครื่องประดับที่ตกแต่งด้วยมุกที่มีการออกแบบเรียบง่ายร่วมสมัย สร้อยแบบห่วงโซ่ สร้อยคอหลายๆ ชั้น เครื่องประดับที่ออกแบบเป็นดอกไม้ เครื่องประดับชิ้นใหญ่ เครื่องประดับที่มีการเลียนแบบลักษณะของสัตว์

ความต้องการเครื่องประดับของผู้บริโภคในตลาดสหรัฐฯ

จากข้อมูลของ Gabriel & Co ได้มีการคาดการณ์ “เทรนด์เครื่องประดับสำหรับผู้ชาย” ที่น่าจะมาแรงในปี 2567 ดังนี้ เครื่องประดับที่สื่อความหมาย เครื่องประดับที่ตกแต่งด้วยโรสโกลด์ เครื่องประดับที่เน้นงานฝีมือหรือมีการออกแบบลักษณะทรงเลขคณิต เครื่องประดับคลาสสิก เครื่องประดับที่เป็นโซ่ เครื่องประดับเกี่ยวกับความเชื่อ เครื่องประดับที่เน้นความเป็นชาย เครื่องประดับที่มีการเล่นโทนสีของโลหะมีค่า เครื่องประดับเฉพาะบุคคล เครื่องประดับสำหรับงานแต่งงาน

ความต้องการเครื่องประดับของผู้บริโภคในตลาดสหรัฐฯ

3. เทศกาลสำคัญช่วยกระตุ้นการซื้อของผู้บริโภคมากขึ้น ผู้บริโภคสหรัฐฯ นิยมซื้อสินค้าเครื่องประดับเพื่อนำมาเป็นของขวัญในช่วงเทศกาลสำคัญ จากข้อมูลของ National Jeweler พบว่า เทศกาลสำคัญเป็นช่วงเวลาที่สินค้าเครื่องประดับมีการจำหน่ายมากที่สุด ทั้งนี้หากเรียงตามมูลค่าการจำหน่ายตามเทศกาลสำคัญ พบว่าวันวาเลนไทน์มียอดจำหน่ายสูงที่สุด รองลงมาคือ วันแม่ วันจบการศึกษา วันแต่งงานและวันคริสมาต ตามลำดับ

 

จากข้อมูลของ NRF พบว่าในช่วงวันวาเลนไทน์ที่ผ่านมาผู้บริโภคชาวอเมริกันใช้จ่ายเพื่อซื้อเครื่องประดับรวม 6,400 ล้านเหรียญสหรัฐ อย่างไรก็ดี สำหรับเทศกาลวันแม่ที่กำลังจะมาถึงในวันที่ 12 พฤษภาคม 2567 นี้ NRF มีการคาดการณ์ว่าผู้บริโภคชาวอเมริกันน่าจะใช้จ่ายในการซื้อเครื่องประดับ ประมาณ 7,000 ล้านเหรียญสหรัฐ จากการสำรวจข้อมูลผู้บริโภคชาวอเมริกันที่เป็นผู้ใหญ่ จำนวน 8,213 ราย ของ NRF ตั้งแต่วันที่ 1-8 เมษายน 2567 พบว่า 84% ของกลุ่มสำรวจวางแผนที่จะเฉลิมฉลองวันแม่และใช้จ่ายเฉลี่ย 254.04 เหรียญสหรัฐ/คน โดยกลุ่มสำรวจดังกล่าวน่าจะใช้จ่ายเพื่อซื้อดอกไม้มากที่สุด รองลงมาคือการ์ด รับประทานอาหารนอกบ้าน เครื่องประดับ การบริการด้านสปาและประทินโฉม และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ตามลำดับ นอกจากนี้ จากการสำรวจพบว่ากลุ่มผู้ซื้อรายสำคัญเป็นผู้ซื้อที่มีอายุระหว่าง 35-44 ปี โดยมีการวางแผนการใช้จ่ายเพื่อซื้อสินค้าสำหรับวันแม่เฉลี่ย 345.75 เหรียญสหรัฐ/คน

ความต้องการเครื่องประดับของผู้บริโภคในตลาดสหรัฐฯ

ช่องทางการจำหน่ายสินค้าเครื่องประดับในสหรัฐ
1. ทางออนไลน์
บริษัท Statista มีการคาดการณ์ว่ายอดการจำหน่ายเครื่องประดับในระบบออนไลน์สหรัฐปี 2567 น่าจะมีการขยายตัวถึง 26.2% โดยช่องทางการจำหน่ายที่สำคัญ สามารถแบ่งออกเป็น 4 ช่องทางหลัก คือ

ทางแพลตฟอร์ม E-Commerce หลัก เช่น Amazon.com eBay.com Etsy.com

ทางเพจประมูลออนไลน์ (auction) เช่น Sothebys.com Christies.com Jewelry.ha.com Jewelry-auctioned.com

ทางร้านค้าปลีกออนไลน์ เช่น zales.com kay.com bluenile.com jamesallen.com brilliantearth.com kohls.com macys.com เป็นต้น ซึ่งการที่จะเข้าไปจำหน่ายในช่องทางร้านค้าดังกล่าวได้ ผู้ขายจำเป็นต้องสมัครผ่านหน้าเพจของร้านค้านั้นๆ และกรอกฟอร์มเพื่อสมัครเป็นผู้ขาย (become a supplier)

ทางแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย facebook และ Instagram ซึ่งเป็นเทรนด์นิยมในยุคปัจจุบัน โดยอาศัยผู้มีอิทธิพลทางสื่อโซเชียลช่วยในการประชาสัมพันธ์สินค้าและผลักดันยอดการจำหน่าย

 

2. ออฟไลน์
จากการรวบรวมข้อมูลการของ Grand View Research พบว่าการจำหน่ายสินค้าเครื่องประดับผ่านช่องทางออฟไลน์ในสหรัฐฯ ปี 2566 คิดเป็นสัดส่วน 84% ของการจำหน่ายสินค้าทั้งหมด อนึ่ง ช่องทางออฟไลน์เป็นช่องทางที่นิยมอย่างมากสำหรับการจำหน่ายเครื่องประดับมีค่าที่มูลค่าสูงหรือการซื้อขายเครื่องประดับมีค่าในจำนวนมาก เนื่องจากผู้ซื้อต้องการความไว้วางใจและการบริการหลังการขายที่มีความน่าเชื่อถือ

 

ช่องทางออฟไลน์ที่สำคัญ ได้แก่ ห้างสรรพสินค้าและร้านค้าเฉพาะทาง อนึ่ง ร้านจำหน่ายสินค้าที่มีหน้าร้าน ซึ่งแม้จะต้องแบกรับค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น แต่อาจจะมีข้อได้เปรียบในด้านอื่นๆ ในเรื่องการบริการและการสร้างประสบการณ์เฉพาะ เช่น การบริการแบบพบหน้า การให้บริการในตรวจสอบผลิตภัณฑ์ การบริการในการซ่อมแซมสินค้าและอื่นๆ ซึ่งการบริการดังกล่าวล้วนเป็นปัจจัยในการสร้างประสบการณ์ให้กับลูกค้าและกระตุ้นการซื้อในระยะยาวได้เป็นอย่างดี อย่างไรก็ตาม ร้านค้าออฟไลน์อาจต้องมีการปรับตัวให้มากขึ้นเพื่อแข่งขันกับผู้ค้าออนไลน์ ทั้งการคัดสรรสินค้าที่มีดีไซน์แปลกใหม่ การบริการออกแบบสินค้าเฉพาะบุคคล การคัดสรรสินค้าแบบเป็นชุดตามเทศกาลสำคัญ ตลอดจนการกำหนดราคาให้เข้าถึงลูกค้าได้ นอกจากนี้ การสร้างประสบการณ์ภายในร้าน เช่น การจัดกิจกรรม workshop การให้คำปรึกษา การใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี เช่น จอแสดงผลแบบโต้ตอบหรือเครื่องมือลูกค้าดิจิทัล ก็น่าจะช่วยดึงดูดลูกค้าได้เพิ่มมากขึ้น

 

3. เทรนด์ใหม่ในตลาดสหรัฐฯ ที่มีความหลากหลาย ได้แก่
การจำหน่ายโดยตรงจากนักออกแบบไปยังผู้บริโภค (D2C) โดยอาศัยช่องทางออนไลน์และโซเชียลมีเดีย โดยจะเน้นการออกแบบที่เป็นเอกลักษณ์ในปริมาณไม่มากและสินค้ามีราคาที่สามารถแข่งขันได้ ซึ่งวิธีการดังกล่าวนิยมมาใช้ในการเจาะตลาดสำหรับแบรนด์ใหม่ๆ หรือสร้างแบรนด์ให้เป็นที่จดจำในกลุ่มเป้าหมายโดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ ตั้งแต่ Gen Millennial จนถึง Gen Alpha

ร้านค้า pop up หรือร้านค้าจำหน่ายสินค้าชั่วคราว เป็นร้านค้าที่ตั้งขึ้นจากนักออกแบบหรือตัวแทนจำหน่าย เน้นการนำสินค้าใหม่ที่กำลังเป็นกระแสนิยมในตลาด เป็นการสร้างความรู้สึกพิเศษให้กับผู้ซื้อ ในขณะเดียวกันก็เป็นวิธีที่ช่วยนักออกแบบและผู้ขายในการทดสอบตลาดว่าสินค้าที่นำมาเสนอตรงกับความต้องการของตลาดหรือไม่

การบริการแบบสมัครสมาชิก เน้นการนำเสนอเครื่องประดับที่ถูกคัดสรรมาอย่างดีตรงตามความต้องการของผู้ซื้อตามโอกาสต่างๆ เหมาะสำหรับลูกค้าที่กำลังมองหาประสบการณ์การช็อปปิ้งที่เป็นส่วนตัวและเน้นความสะดวกสบาย โดยวิธีการสมัครสมาชิกนั้นลูกค้าจะมีโอกาสทดลองแบรนด์และการออกแบบใหม่ๆ ที่ตรงกับความต้องการของตนในแต่ละโอกาส

 

โอกาสของสินค้าไทยในตลาดสหรัฐฯ
ความต้องการวัสดุเปลี่ยนแปลงไปตามตลาด ทั้งราคาโลหะมีค่ามีการปรับตัวสูงสูงขึ้น และการที่เพชรในห้องปฏิบัติการถูกจำกัดการขายอย่างมีนัยสำคัญ ส่งผลให้ผู้ผลิตมีการปรับตัวและเลือกใช้วัสดุทดแทนอื่นๆ เพื่อทำให้สินค้าสามารถแข่งขันได้ในตลาด เช่น การใช้พลอยเนื้ออ่อนหรือการใช้โลหะมีค่าที่มีมาตรฐาน (K) ไม่สูงมากและนำมาชุบทอง เป็นต้น สิ่งเหล่านี้น่าจะเป็นโอกาสที่ดีของไทยในฐานการผลิตและส่งออกสินค้าดังกล่าวมายังสหรัฐฯ ให้กับผู้นำเข้า

 

ทั้งนี้ จากการหารือกับผู้นำเข้าเครื่องประดับที่ได้เดินทางไปเจรจาการค้าที่ไทย พบว่าผู้นำเข้าส่วนใหญ่มีความต้องการที่จะผลิตและนำเข้าสินค้าจากไทย โดยเฉพาะเครื่องประดับสำเร็จรูปในกลุ่มทอง 14K และ 18K ที่ตกแต่งด้วยเพชรและพลอย โดยผู้นำเข้ามีความเห็นว่า หากในอนาคตหากสหรัฐฯ มีการยกระดับดำเนินการกีดกันทางการค้ากับจีนเพิ่มขึ้นอีก เชื่อว่าสินค้าส่วนใหญ่ที่ผลิตในจีนรวมทั้งเครื่องประดับน่าจะได้รับผลกระทบนั้นด้วย ดังนั้น บริษัทจึงได้เริ่มมองหาแหล่งทางเลือกทดแทนแหล่งเดิม ซึ่งไทยน่าจะเป็นแหล่งผลิตทางเลือกที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพ

แหล่งที่มาของข้อมูล: grandviewresearch.com/statista.com/nationaljeweler.com/kingjewelers.com/ gabrielny.com/nrf.com/classywomencollection.com/statista.com/eworldtrade.com/และสคต. นิวยอร์ก

jaJapanese