ด้วยสภาพภูมิประเทศและรูปแบบการดำเนินชีวิตของชาวออสเตรเลียที่นิยมใช้รถกระบะที่มีสมรรถนะ ความคงทนและแข็งแรงเพื่อใช้ในการทำงานและลากจูงเรือ/สิ่งของ และรถ SUVs สำหรับ Road trip กับครอบครัว ทำให้รถยนต์เอนกประสงค์ (SUVs) และรถกระบะ เป็นรถที่ได้รับความนิยมและมียอดขายสูงสุดในตลาดออสเตรเลีย
จากกระแสการให้ความสำคัญกับการลดมลพิษในอากาศเพื่อบรรเทาปัญหาภาวะโลกร้อน ทำให้ชาวออสเตรเลียเริ่มเปลี่ยนมาใช้รถยนต์ปล่อยมลพิษต่ำเพิ่มมากขึ้น โดยรถเก๋งและรถ SUVs ได้มีการพัฒนาไปสู่รถไฟฟ้าและ Hybrid ได้ระยะหนึ่งแล้ว สำหรับรถกระบะมีการพัฒนาช้ากว่ารถยนต์ประเภทอื่นๆแต่มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องแบบค่อยเป็นค่อยไป ข้อมูลโดยสภาอุตสาหกรรมยานยนต์ออสเตรเลีย ระบุว่า ในปี 2566 รถกระบะมียอดขายจำนวน 249,762 คัน (+9.2%) เป็นยอดขายรถกระบะไฟฟ้า (LDV eT60) เพียง 79 คันเท่านั้น (ยังไม่มียอดขายกระบะไฮบริด) ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากรถกระบะไฟฟ้าที่มีจำหน่ายในตลาดสมรรถนะการใช้งานไม่สามารถเทียบได้กับกระบะเครื่องยนต์ดีเซล (ตลอดจนตอบสนองความต้องการใช้งานรถกระบะของชาวออสเตรเลียโดยรวม) ทำให้รถกระบะไฟฟ้า/มลพิษต่ำที่จำหน่ายในตลาดออสเตรเลียยังมีน้อย อย่างไรก็ตาม ชาวออสเตรเลียยังมองหารถกระบะมลพิษต่ำที่ตอบโจทย์ด้านความแรงของเครื่องยนต์ สมรรถนะ คงทนและเทคโนโลยีทันสมัยในตลาดอย่างต่อเนื่อง
ล่าสุด รัฐบาลออสเตรเลียมีแผนใช้มาตรฐานการปล่อยมลพิษต่ำในยานยนต์ในช่วงเดือนมกราคม 2568 ทำให้ผู้ผลิตรถยนต์หลายรายเร่งพัฒนารถยนต์มลพิษต่ำและรถไฟฟ้ามาจำหน่ายในออสเตรเลียมากขึ้น โดยในปี 2567 บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ค่ายต่างๆเตรียมเปิดตัวรถกระบะไฟฟ้าและรถกระบะ Hybrid เพื่อทำตลาดในออสเตรเลียมากขึ้น ได้แก่ รถกระบะไฟฟ้า Ford (F-150 Lightning) รถกระบะไฟฟ้า Isuzu D-Max (ซึ่งได้เปิดตัวในงาน Motor show ประเทศไทย) กระบะ BYD Shark (PHEV) กระบะ GWM Cannon Alpha และกระบะไฟฟ้า Hyundai Ioniq T10 สำหรับ Toyota แบรนด์ที่ครองยอดขายอันดับ 1 ในตลาดออสเตรเลีย (เสียแชมป์กระบะให้กับ Ford ในช่วงปลายปี 2566) มีแนวโน้มจะส่ง Toyota Hilux Revo (Hybrid) ซึ่งเป็นกระบะนำร่องมาทดสอบสมรรถนะบนถนนและสภาพภูมิประเทศออสเตรเลียเพื่อนำไปพัฒนาต่อยอดนวัตกรรมด้านต่างๆต่อไป (ยังไม่ยืนยันการเปิดตัว) คาดว่า ในปี 2568 จะมีรถกระบะรุ่นที่ปล่อยมลพิษต่ำอีก 3 รุ่น คือ รถกระบะ Ford Ranger (PHEV) กระบะ LDV Maxus และกระบะ JAC T9 ที่จะเข้ามาทำตลาดรถไฟฟ้าในออสเตรเลียต่อไป
……………………………………………………………………………..
シドニーの海外貿易促進オフィス
ที่มา:
www.drive.oi /www.carexpert.com.au