ชาวอิตาเลียนให้ความสำคัญต่อสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ของสินค้าเกษตรและอาหารอย่างจริงจัง

อิตาลีถือได้ว่าเป็นประเทศที่มีการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ของสินค้า/ผลิตภัณฑ์เกษตรและอาหารจำนวนมากที่สุดในสหภาพยุโรป ได้แก่ Denominazione di Origine Protetta – DOP (Protected Designation of Origin – PDO) หมายถึง การกำหนดแหล่งกำเนิดสินค้าที่ได้รับการคุ้มครอง โดยเป็นการระบุแหล่งกำเนิดในพื้นที่ทางภูมิศาสตร์เฉพาะที่ได้รับการคุ้มครอง โดยได้มีการขยายการคุ้มครองตราสัญลักษณ์ DOP ไปทั่วประเทศในยุโรปทั้งหมด และด้วยข้อตกลง GATT ระหว่างประเทศ ยังครอบคลุมไปยังประเทศอื่น ๆ ทั่วโลกด้วย โดยตราลัญลักษณ์ดังกล่าวกำหนดผลิตภัณฑ์ที่มาจากภูมิภาคและประเทศที่มีคุณสมบัติและคุณลักษณะโดยพื้นฐานหรือเฉพาะเนื่องจากสภาพแวดล้อมทางภูมิศาสตร์ (ปัจจัยทางธรรมชาติและมนุษย์) การผลิต การแปรรูป และการแปรรูปผลิตภัณฑ์ทั้งหมดจะต้องเกิดขึ้นในพื้นที่ที่กำหนดเท่านั้น โดยใช้ความรู้ (know-how) ที่เป็นที่ยอมรับ ซึ่งปัจจัยต่าง ๆ เหล่านี้ก่อให้เกิดเป็นผลิตภัณฑ์ สินค้าที่มีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว ไม่สามารถเลียนแบบได้ และควรค่าแก่การปกป้อง และ Indicazione Geografica Protetta – IGP (Protected Geographical Indication – PGI) หมายถึง สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ที่ได้รับการคุ้มครอง ซึ่งเป็นการคุ้มครองเชิงคุณภาพที่คำนึงถึงการพัฒนาอุตสาหกรรม โดยให้ความสำคัญด้านเทคนิคการผลิตมากกว่าข้อจำกัดด้านอาณาเขต ซึ่งเป็นการระบุถึงผลิตภัณฑ์ที่มาจากภูมิภาคและประเทศที่มีคุณภาพ ชื่อเสียง และคุณลักษณะที่สามารถตรวจสอบย้อนกลับไปยังแหล่งกำเนิดทางภูมิศาสตร์ได้ และมีกระบวนการผลิต การแปรรูป และการประมวลผลอย่างน้อยหนึ่งขั้นตอนที่ปฏิบัติตามแบบฉบับในพื้นที่ทางภูมิศาสตร์นั้น ๆ
โดยปี 2565 สินค้าและผลิตภัณฑ์เกษตรและอาหารของอิตาลีที่มีการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ที่เป็นยอมรับในสหภาพยุโรป DOP และ IGP มีจำนวนมากกว่า 845 รายการ ซึ่งถือเป็นเครื่องยืนยันถึงคุณภาพและความเป็นเลิศของสินค้า ผลิตภัณฑ์เกษตรและอาหารของอิตาลีต่อสายตาชาวโลก โดยชาวอิตาเลียนส่วนใหญ่กว่า 96% รู้จักสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ DOP และ IGP เป็นอย่างดี โดย 27% ของชาวอิตาเลียนทั้งหมด มีความเชื่อว่าสินค้าและผลิตภัณฑ์เกษตรและอาหารได้รับการรับรองมาตรฐานตามสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ คือ สินค้าที่มีคุณภาพดีที่สุด ในขณะที่ 55.5% ของชาวอิตาเลียนทั้งหมด ระบุว่า การที่สินค้าและผลิตภัณฑ์เกษตรและอาหารได้รับการรับรองมาตรฐานตามสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์มาจากคุณลักษณะเฉพาะของแหล่งกำเนิดทางภูมิศาสตร์นั้น ๆ
จากรายงานผลสำรวจผู้บริโภค ของ Luiss Business School (โดยได้รับการสนับสนุนจาก Amazon) เกี่ยวกับความรู้และการรับรู้คุณค่าของ DOP และ IGP ในกลุ่มผู้บริโภคในอิตาลี จำนวน 1,600 ราย โดยแบ่งตามเพศ อายุ และพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ที่อาศัย โดยผลของการสำรวจแสดงให้เห็นว่า ตราสัญลักษณ์ DOP และ IGP เป็นที่รู้จักของผู้บริโภคชาวอิตาเลียนเกือบทั้งหมด และส่วนใหญ่ 90% เข้าใจถึงความหมายทางด้านเทคนิค โดย 58% ของผู้บริโภคถือว่าแหล่งกำเนิดสินค้ามีความสำคัญมาก ในขณะที่ มีเพียง 8% เท่านั้นที่ไม่ได้ให้ความสำคัญใดๆ นอกจากนี้ 28% ของผู้บริโภคชาวอิตาเลียนเปิดเผยว่า ก่อนการเลือกซื้อสินค้าผู้บริโภคจะให้ความสนใจเป็นอย่างมากกับตราสัญลักษณ์ DOP และ IGP ซึ่งมีอัตราการบริโภคที่เพิ่มขึ้นถึง 32% โดย 76% ของจำนวนผู้ให้สัมภาษณ์ ยืนยันว่าได้มีการซื้อผลิตภัณฑ์ DOP/IGP อย่างน้อย 1 รายการ ภายในช่วงระยะเวลา 1 เดือน ซึ่งผู้บริโภคส่วนใหญ่มีความเห็นว่า สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์แสดงถึงความเป็นต้นตำรับที่แท้จริง (81%) และคุณภาพที่เหนือกว่าสินค้าอาหารทั่วไป (69%) นอกจากนี้ 62% ของผู้ให้สัมภาษณ์เน้นย้ำถึงความเชื่อมโยงระหว่างคุณภาพของผลิตภัณฑ์กับแหล่งที่มาทางภูมิศาสตร์ที่แท้จริง
ผู้บริโภคชาวอิตาเลียนมากกว่า 2 ใน 3 หรือประมาณ 67.5% เชื่อว่าผลิตภัณฑ์อาหารที่มีตราสัญลักษณ์ DOP/IGP ต้องเผชิญกับปัญหาการปลอมแปลงสินค้ามากกว่าสินค้าอาหารอื่น ๆ และผู้บริโภคยังตระหนักถึงความจำเป็นอย่างยิ่งในการดำเนินการ เพื่อปกป้องตราสัญลักษณ์ และบริษัทผู้ผลิตสินค้าที่ได้รับตราดังกล่าว ทั้งนี้ ผู้ให้สัมภาษณ์ ได้แสดงความเห็นว่า เพื่อต่อสู้กับการปลอมแปลงสินค้าดังกล่าว จำเป็นต้องเพิ่มการควบคุมและการเพิ่มบทลงโทษในการปรับให้มากขึ้น (85%) สร้างความตระหนักรู้แก่ผู้บริโภค (84.5%) และเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างผู้ผลิตและผู้จัดจำหน่าย (81.5%) โดยผู้ที่เกี่ยวข้องในการมีส่วนร่วมในการต่อต้านการปลอมแปลงสินค้า ได้แก่ ผู้ผลิตและกลุ่มความร่วมมือด้านการคุ้มครอง หน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย สมาคมการจัดจำหน่าย และสมาคมผู้บริโภค นอกจากนี้ ผู้ให้สัมภาษณ์ได้เน้นย้ำถึงความจำเป็นที่จะต้องมีข้อมูลที่เพียงพอให้แก่ผู้บริโภค ก่อนการเลือกซื้อสินค้าและผลิตภัณฑ์ เพื่อแยกแยะผลิตภัณฑ์ของแท้ออกจากของปลอม และจำเป็นต้องส่งเสริมให้มีการเผยแพร่การรับรู้ถึงคุณค่า และความเฉพาะเจาะจงของตราสัญลักษณ์ดังกล่าวให้มากขึ้น
ความคิดเห็นของ สคต. ณ เมืองมิลาน
1. สินค้าบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ในภาคเกษตร อาหาร และไวน์ของอิตาลี ถือว่ามีอิทธิพลในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของอิตาลีเป็นอย่างมาก ในปี 2564 สินค้าบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ของอิตาลี (DOP และ IGP) มีมูลค่าการผลิตถึง 19.1 พันล้านยูโร หรือเท่ากับ 21% ของผลประกอบการของอุตสาหกรรมเกษตรอาหารของอิตาลีทั้งหมด โดยแบ่งเป็นการผลิตทางการเกษตรและอาหาร มูลค่ากว่า 7.97 พันล้านยูโร (+9.7%) และการผลิตไวน์ 11.16 พันล้านยูโร (+21.2%) เมื่อเทียบกับปี 2563 ถึงแม้จะมีแรงกดดันจากสถานการณ์เงินเฟ้อ สถานการณ์ความไม่สงบของความขัดแย้งในต่างประเทศ แต่ก็แสดงให้เห็นถึงความแข็งแกร่งของสินค้าเกษตร อาหาร DOP และ IGP ของอิตาลี โดยปี 2564 การบริโภคสินค้าอาหาร DOP และ IGP ในอิตาลี มีมูลค่า 15.82 พันล้านยูโร (+4.5%) โดยปี 2565 มีจำนวนกิจการร่วมค้าสินค้าเกษตร อาหาร DOP และ IGP (Consortium) ที่ได้รับอนุญาตโดยกระทรวงเกษตรอิตาลี กว่า 291 แห่ง มีจำนวนพนักงานกว่า 198,842 ราย นอกจากนี้ มูลค่าการส่งออกสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ของอิตาลีสูงถึง 10.7 พันล้านยูโร (+12.8%) โดยมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตร และอาหาร DOP และ IGP คิดเป็นสัดส่วน 21% ของการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารของอิตาลีทั้งหมด
2. หนึ่งในปัจจัยที่ช่วยส่งเสริมความเป็นเลิศของสินค้าบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ของอิตาลี นอกเหนือจากปัจจัยทางธรรมชาติ และการถ่ายทอดภูมิความรู้จากรุ่นสู่รุ่นแล้ว ยังมีการนำนวัตกรรมที่ทันสมัยเข้ามาใช้ และการรวมตัวของผู้ผลิตเป็น consortium ที่มีบทบาทสำคัญในการตรวจสอบและควบคุมคุณภาพของสินค้า (ทั้งทางวิทยาศาสตร์ และความชำนาญในการแยกแยะคุณภาพด้วยการชิม) รวมถึงการตรวจสอบย้อนกลับ รวมทั้งมีการประกวดให้รางวัลผู้ผลิตประจำปี และการเข้ามามีบทบาทของกระทรวงนโยบายเกษตรและป่าไม้ในการควบคุมสินค้าให้เป็นไปตามกฎระเบียบของสหภาพยุโรปและการออกใบอนุญาตที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ
3. ไทยถือเป็นประเทศนอกสหภาพยุโรป อันดับ 2 (รองจากจีน) ที่มีจำนวนผลิตภัณฑ์อาหารที่ขึ้นทะเบียนสินค้าบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ในสหภาพยุโรป ปัจจุบันสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ของไทยที่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ในสหภาพยุโรปมี 4 รายการ ได้แก่ ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ ข้าวสังข์หยดเมืองพัทลุง กาแฟดอยตุง และกาแฟดอยช้าง หากในอนาคตไทยสามารถผลักดันให้มีการจดทะเบียนรายการสินค้าอาหารที่เป็นสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ในสหภาพยุโรปได้เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะสินค้าผลไม้ (มะม่วง ทุเรียน สับปะรด) จะยิ่งเป็นการส่งเสริมให้ผู้บริโภคในยุโรปรู้จักผลไม้ไทยมากยิ่งขึ้น สินค้าเกษตร อาหารของไทย นับว่าเป็นหนึ่งในสินค้าที่มีคุณภาพและมีความเป็นเอกลักษณ์ ดังนั้น การส่งเสริมให้มีการจดทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์เพิ่มขึ้น โดยเริ่มจากการสนับสนุนการบริหารจัดการห่วงโซ่การผลิตที่มีศักยภาพ โดยอาจมีการศึกษาข้อมูลบทบาทของ consortium ในการตรวจสอบและควบคุมคุณภาพของสินค้า และการตรวจสอบย้อนกลับ เพื่อสามารถเสริมสร้างความแข็งแกร่งของการผลิตในชุมชน สามารถรักษาคุณภาพสินค้าให้มีประสิทธิภาพ และสร้างมูลค่าสินค้าท้องถิ่นให้เติบโต และมีชื่อเสียงที่จะนำไปสู่การขยายการส่งออกสินค้าดังกล่าวมายังอิตาลีได้ต่อไปในอนาคต

ที่มา: 1.Marchi Dop e Igp: noti per il 96% degli italiani – Food (foodweb.it)
2. ISMEA สถาบันบริการเพื่อตลาดเกษตรและอาหาร

jaJapanese