นายกฯนิวซีแลนด์เยือนไทยเร่งกระชับและยกระดับความสัมพันธ์ระดับทวิภาคี

เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2567 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีไทยให้การต้อนรับนาย Christopher Luxon นายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์ที่เดินทางเยือนประเทศไทยเพื่อหารือระดับทวิภาคีร่วมกันอย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรกตั้งแต่ปี 2556 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อกระชับความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นทั้งด้านการค้า การศึกษาและการท่องเที่ยว โดยมีแถลงการณ์ในข้อตกลงร่วมกันที่สำคัญดังนี้

  • ด้านการค้าและการป้องกันประเทศ กระชับและยกระดับความความสัมพันธ์ระหว่างกันสู่ความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ภายในปี 2569 (ครบรอบวาระความสัมพันธ์ทางการทูต 70 ปี) พร้อมตั้งเป้าขยายมูลค่าการค้าสองฝ่ายเพิ่มเป็น 3 เท่าภายในปี 2588 จัดทำแผนการทำงานร่วมกันด้านการป้องกันประเทศเพื่อเพิ่มขีดความสามารถและสร้างโอกาสการทำงานร่วมกันในด้านต่างๆ อาทิ ความปลอดภัยไซเบอร์ การต่อต้านการก่อการร้าย การแบ่งปันเทคโนโลยีด้านปัญญาประดิษฐ์และการใช้บังคับกฎหมาย และขยายโครงการพัฒนาเพื่อช่วยเหลือภาคอุตสาหกรรมนมไทยเป็นเวลา 2 ปี รวมถึงการสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจร่วมกันในอนาคต ตลอดจนความร่วมมือในด้านการพัฒนาระบบพลังงานทดแทนโดยเฉพาะโครงการพัฒนาเทคโนโลยีด้านพลังงานและตลาดคาร์บอน
  • การศึกษาและความมั่นคง โดยนาย Luxon ได้ร่วมเป็นสักขีพยานในการลงนามข้อตกลงระหว่าง Massey University มหาวิทยาลัยของนิวซีแลนด์และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานไทยในการกำกับดูแลการสอนของครูจากนิวซีแลนด์ในไทย (140 คน) รวมถึงข้อตกลงระหว่างบริษัท NZSkydive Limited ของนิวซีแลนด์ และ Thai Aviation Industries ในการจัดหา ซ่อมแซมและบำรุงเครื่องบิน CT/4 ของกองทัพอากาศไทย
  • การท่องเที่ยว ภายใต้ข้อตกลงในความร่วมมือด้านวัฒนธรรม ได้หารือเกี่ยวกับการกลับมาเปิดบริการเที่ยวบินตรงระหว่างไทยกับนิวซีแลนด์อีกครั้งและข้อผ่อนปรนด้านวีซ่าโดยตั้งเป้าเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวนิวซีแลนด์มาไทยจำนวน 100,000 คนและนักท่องเที่ยวไทยไปนิวซีแลนด์จำนวน 40,000 คนภายในปี 2568 (ให้อยู่ในระดับเดียวกับช่วงก่อนการระบาดไวรัส COVID-19) พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์และแลกเปลี่ยนศิลปะวัฒนธรรมระหว่างกัน

นอกจากนี้ นิวซีแลนด์ให้คำมั่นจะเข้าร่วมยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขงเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจระดับอนุภูมิภาคร่วมกัน รวมถึงการหารือในประเด็นความขัดแย้งในตลาดโลก (ไทยแสดงจุดยืนในความเป็นกลาง) อาทิ สถานการณ์ในพม่า ข้อพิพาทในทะเลจีนใต้ ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครน รวมถึงอิสราเอลและปาเลสไตน์ อีกทั้ง นิวซีแลนด์สนับสนุนไทยในฐานะผู้สมัครสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติในวาระปี 2568 ถึง 2570 และส่งเสริมไทยในการเข้าร่วมเป็นหนึ่งในสมาชิกองค์กรเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ OECD (Organisation for Economic Co-operation and Development)

………………………………………………………………………..

シドニーの海外貿易促進オフィス

ที่มา:

www.rnz.co.nz

jaJapanese