ล้วงลึกเทรนด์การบริโภคชาวจีนปี 2567 รู้ก่อนปังก่อน!!!

ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติจีนเปิดเผยว่า ในปี 2566 อัตราการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) จีนขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.2 ซึ่งเป็นไปตามเป้าหมายที่คาดการณ์ไว้ ขณะที่ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.2 นอกจากนี้ เศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิตของประชาชนก็เป็นที่น่าจับตามอง อาทิ ความบันเทิง คอนเสิร์ต เศรษฐกิจท่องเที่ยว รวมถึงการเติบโตของยอดขายรถยนต์พลังงานใหม่ ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาสถานการณ์เศรษฐกิจในช่วงสองเดือนแรกของปี 2567 พบว่าเศรษฐกิจจีนฟื้นตัวในทิศทางที่ดี รายได้ของประชาชนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ภาพรวมอุปสงค์ในประเทศก็ขยายตัวเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน ราคาสินค้าและบริการฟื้นตัวอย่างมีนัยยะสำคัญ หลังจากเทศกาลตรุษจีน อุปสงค์การบริโภคอาหารก็เพิ่มขึ้น การใช้จ่ายภาคบริการมีชีวิตชีวา อาทิ ออกไปรับประทานข้าวนอกบ้าน เยี่ยมญาติ และออกเดินทางท่องเที่ยว ฯลฯ กิจกรรมเหล่านี้ล้วนช่วยส่งให้ CPI ฟื้นตัว ช่วงวันหยุดช่วงเทศกาลตรุษจีนที่ผ่านมา ผู้บริโภคจำนวนไม่น้อยเลือกที่จะไปชมภาพยนตร์ เดินห้างสรรพสินค้า หรือออกเดินทางเพื่อแสวงหาประสบการณ์ที่แตกต่าง และแนวโน้มการบริโภคแบบ SEEED ได้เริ่มกลายเป็นค่านิยมใหม่ ดังนี้

 

1. ใช้จ่ายอย่างฉลาด (Smart Consume)

 

คนหนุ่มสาวให้ความสำคัญกับความคุ้มค่าคุ้มราคาที่สุด แสวงหาคุณภาพมากกว่าแบรนด์ โดยเฉพาะผู้บริโภคชนชั้นกลาง จากการสำรวจพบว่า ผู้บริโภคไม่ได้ใช้จ่ายอย่างประหยัด เพียงแต่ใช้จ่ายด้วยความมีเหตุมีผลและใจเย็นมากขึ้น โดยก่อนการตัดสินใจซื้อจะมีการค้นหาข้อมูลเพื่อเปรียบเทียบสินค้าจากหลายแพลตฟอร์ม พร้อมทั้งอ่านรีวิวและการให้คะแนนอย่างละเอียด ซึ่งภายใต้แนวโน้มการเลือกซื้ออย่างรอบคอบและชาญฉลาดนี้ สินค้าที่ได้รับคอมเมนต์ที่ดีจึงเป็นที่ยอมรับจากผู้บริโภค เป็นกุญแจสำคัญในการกำหนดกระแสการบริโภค

 

2. สุขนิยม เติมอารมณ์ฟิน (Emotional Fulfillment)

 

บริษัท Mintel เปิดเผยว่า 1 ใน 5 แนวโน้มของตลาดการบริโภคทั่วโลกในอีก 5 ปีข้างหน้า ก็คือ ‘การใช้ชีวิตที่ผ่อนคลาย’ สะท้อนถึงความปรารถนาของผู้บริโภคที่อยากหลุดพ้นจากความเหนื่อยหน่าย และมุ่งเน้นไปที่การสร้างประสบการณ์ชีวิตที่มีคุณภาพ หรืออีกนัยก็คือ การเต็มใจจ่ายเพิ่มเติมเต็มความรู้สึก ‘พอใจ’ ของตนเองนั่นเอง ซึ่งคาดการณ์ว่า ในปี 2567 การบริโภคทางอารมณ์ในรูปแบบต่างๆ จะเกิดขึ้น

 

ล้วงลึกเทรนด์การบริโภคชาวจีนปี 2567 รู้ก่อนปังก่อน!!!

ที่มาภาพจาก www.foodaily.com

 

จากการสำรวจการบริโภคของคนหนุ่มสาวในปี 2566 เปิดเผยว่า คนหนุ่มสาวเกือบครึ่งยินดีที่จะจ่ายเพื่อเติมเต็มอารมณ์ความรู้สึก จากการซื้อเพื่อใช้งาน มาเป็นการร่วมดื่มด่ำกับประสบการณ์ โดยในปี2566 มีแนวแฟชั่นใหม่ ๆ เกิดขึ้น อาทิ Dopamine Dressing, Maillard Fashion, City walk รวมถึงการ ชมคอนเสิร์ตที่กลับมาเป็นที่นิยม เป็นต้น ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้ถึงแม้จะมีรูปแบบที่ต่างกัน แต่ล้วนเกี่ยวข้องกับ “อารมณ์” นอกจากนี้ยังพบว่า ผู้บริโภคร้อยละ 64 โดยเฉพาะผู้บริโภคคนหนุ่มสาวให้ความสำคัญกับการบริโภคทางจิตวิญญาณมากขึ้น ผู้บริโภคเริ่มสร้างโลกแห่งความสุขตามอารมณ์ของตน โดยการซื้อสินค้า/บริการ 1 อย่าง นอกจากคุณสมบัติในการใช้งานที่ดีแล้วยังต้องให้ความรู้สึกที่ดีแก่ผู้บริโภคด้วย สินค้าที่เต็มเต็มความสุข ให้แรงจูงใจ สร้างประสบการณ์ใหม่ๆ รูปลักษณ์ดี และมีเรื่องราว ฯลฯ จึงล้วนเป็นปัจจัยที่สำคัญ

 

3. แพงได้ แต่อย่าแพงเกิน (Expensive to non-expensive)

 

เป็นที่ทราบกันดีว่าผู้บริโภคชาวจีนมีอิทธิพลต่อการบริโภคสินค้าแบรนด์หรูระดับไฮเอนของโลก โดยในปีนี้ ตลาดจีนและเอเชียแปซิฟิกยังคงเป็นตลาดที่สำคัญของสินค้าฟุ่มเฟือย แม้ว่าสินค้าแบรนด์หรูยังคงเป็นที่ต้องการของตลาดผู้บริโภครายได้ระดับปานกลาง-สูง แต่จากการปรับขึ้นราคาอย่างต่อเนื่องของสินค้า แบรนด์เนม (อาทิ Hermes รุ่น Mini Kelly ปรับขึ้นร้อยละ 21.5, Rolex ปรับขึ้นร้อยละ 6-8, Tudor ปรับขึ้นร้อยละ 3) ประกอบกับอัตราแลกเปลี่ยนสกุลเงินหยวนที่อ่อนค่า ส่งผลให้แบรนด์หรูเหล่านี้เริ่มมีราคาสูงเกินเอื้อม

 

แนวคิด “แพงได้ แต่อย่าแพงเกิน” จึงเริ่มกลายเป็นค่านิยมการซื้อสินค้าฟุ่มเฟือยของผู้บริโภคชั้นกลาง ซึ่งมีความยึดติดกับแบรนด์ราคาสูงน้อยลง แบรนด์ที่มีความคุ้มค่าคุ้มราคาได้ทวีบทบาทสำคัญและเป็นที่ยอมรับมากขึ้น จากรายงานแฟชั่นปี 2566 ของแพลตฟอร์ม Lyst เปิดเผยว่า กระเป๋าถือที่ได้รับความนิยมแห่งปี คือกระเป๋าเกี๊ยวจาก UNIQLO สนนราคา 99 หยวน (495 บาท) ซึ่งถือเป็นสินค้าที่ถูกที่สุดในประวัติบนชาร์จ Lyst เลยทีเดียว

 

ล้วงลึกเทรนด์การบริโภคชาวจีนปี 2567 รู้ก่อนปังก่อน!!!

ที่มาภาพจาก: https://image.baidu.com/

 

4. อีคอมเมิร์ซสตรีมมิ่งพลิกโฉมช่องทางธุรกิจ (Ecommerce streaming)
สืบเนื่องจากการไลฟ์สดขายของกำลังเป็นที่นิยม การบริโภคได้เปลี่ยนจากแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซทั่วไป เป็นอีคอมเมิร์ซไลฟ์สดขายของ ผู้ดำเนินการไลฟ์สดได้เปลี่ยนการเลือกสินค้าของผู้บริโภค จากการเชื่อมั่นในแบรนด์ เป็นการเชื่อมั่นในผู้ดำเนินรายการ ทำให้เกิดรูปแบบการไหลเวียนของสินค้าใหม่

 

การไหลเวียนของสินค้า (goods flow) แบบดั้งเดิม จะเริ่มจากโรงงาน – แบรนด์ – หน้าร้าน –ผู้บริโภค ผู้บริโภคจะชอบหรือไม่ชอบสินค้าขึ้นอยู่กับความน่าเชื่อถือของแบรนด์ การกำเนิดขึ้นของอีคอมเมิร์ซ ทำให้หน้าร้านเปลี่ยนจากเป็นออฟไลน์มาเป็นออนไลน์ อย่างไรก็ดี ก็ยังคงเป็นรูปแบบการจำหน่ายสินค้าจากแบรนด์สู่ผู้บริโภคโดยผ่านหน้าร้านออนไลน์หรือออฟไลน์ ซึ่งช่องทางนี้ทำให้โรงงานตัวแทนผลิตผู้อยู่เบื้องหลังแบรนด์ เริ่มขยับมามีบทบาทแถวหน้า โดยผ่านการแนะนำจากผู้ไลฟ์สด สินค้าจากโรงงานสามารถได้รับการตอบรับโดยตรงจากผู้บริโภค ภายใต้การสนับสนุนของความน่าเชื่อถือของผู้ไลฟ์สด ทำให้ห่วงโซ่อุปทานของสินค้าตั้งแต่ออกจากโรงงานจนถึงมือผู้บริโภคจะสั้นลง และมีการแข่งขันด้านราคาในตลาดมากขึ้น การไลฟ์สดขายของค่อย ๆ ปรับโฉมห่วงโซ่อุปทาน และช่องทางธุรกิจ ซึ่งนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอย่างกว้างขวางในอุตสาหกรรม

 

ล้วงลึกเทรนด์การบริโภคชาวจีนปี 2567 รู้ก่อนปังก่อน!!!
ที่มาภาพจาก www.foodaily.com

 

5. เศรษฐกิจระดับอำเภอเติบโตขึ้น (District Economy)

 

เศรษฐกิจระดับอำเภอ ซึ่งอยู่ตรงกลางระหว่างการพัฒนาในเขตเมืองและชนบท ถือว่ามีบทบาทที่สำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจ สืบเนื่องจากการฟื้นตัวของการบริโภค และการบริโภคภาคบริการในเขตอำเภอ โดยรวมมีแนวโน้มมั่นคงและเพิ่มขึ้น

 

ในปี 2566 เป็นปีแรกของแผนปฏิบัติการ 3 ปี สำหรับการพาณิชย์ระดับอำเภอ (ระหว่างปี 2566-2568) โดยกระทรวงพาณิชย์จีนร่วมกับ 9 หน่วยงาน ได้ตั้งเป้าหมายว่าภายในปี 2568 ต้องยกระดับการค้าของอำเภอชั้นนำ 500 แห่งทั่วประเทศ ด้วยการปรับปรุงโครงสร้างตลาดบริโภคในระดับตำบลและอำเภออย่างต่อเนื่อง ให้สามารถตอบสนองการฟื้นฟูอุตสาหกรรมในชนบทและความต้องการบริโภคของคนชนบท

 

จากรายงานการบริโภคภาคบริการในชีวิตประจำวันในเขตอำเภอปี 2566 ของสถาบันวิจัย Meituan ได้ให้ข้อเสนอแนะว่า GDP ต่อหัวของประชาชนในระดับอำเภอสามารถพัฒนาไปสู่มูลค่า 60,000 – 140,000 หยวน/ปี โดยควรให้ความสำคัญต่อการตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในอุตสาหกรรมภาคบริการ ด้านความงาม สันทนาการและความบันเทิง กีฬาและการออกกำลังกาย บริการตั๋วเข้าชม บริการประชาชน และการเดินทางท่องเที่ยว เป็นต้น ปัจจุบัน คนจีนท้องถิ่นมีการพัฒนาไลฟสไตล์ อาทิ การดื่มกาแฟจากร้านกาแฟแฟรนไชส์ และไปชมภาพยนตร์ที่เพิ่งเข้าใหม่เป็นการพักผ่อนในชีวิตประจำวันของคนท้องถิ่นไปแล้ว ผู้ประกอบการจึงไม่ควรมองข้ามตลาดชนบท ที่มีศักยภาพขนาดใหญ่ทางเศรษฐกิจนี้

 

ความคิดเห็นของสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองชิงต่าว

 

ในช่วงต้นปีนี้ ตลาดการบริโภคของจีนมีทิศทางที่ดี โดยพบว่ายอดค้าปลีกสินค้าอุปโภคบริโภคในเดือนมกราคม – กุมภาพันธ์ 2567 มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.5 แบ่งเป็นการค้าปลีกในเมืองขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.5 และการค้าปลีกในชนบทขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.8 และมียอดค้าปลีกออนไลน์ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.3 (ในที่นี้ยอดค้าปลีกออนไลน์สำหรับสินค้าทางกายภาพ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 14.4 โดยสินค้าประเภทอาหารเพิ่มขึ้นร้อยละ 26.1 ประเภทเครื่องแต่งกายเพิ่มขึ้นร้อยละ 17.8 และของใช้เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.8) ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดีสำหรับผู้ประกอบการไทยที่เข้ามาขยายตลาดในจีน เนื่องจากตลาดการบริโภคของจีนที่ขยายตัว นำมาสู่โอกาสในการค้าขายสินค้าไทยในตลาดจีนด้วยเช่นเดียวกัน โดยต้องมีการทำการตลาดที่สอดคล้องกับพฤติกรรมผู้บริโภค เช่น ผู้บริโภคชาวจีนยุคใหม่เน้นความคุ้มค่าคุ้มราคา จึงสามารถพิจารณาตั้งราคาสินค้าให้สมเหตุสมผล ผู้บริโภคมีการเปรียบเทียบสินค้าจากหลากหลายแพลตฟอร์ม เชื่อถือการรีวิวและคอมเม้นต์ก่อนตัดสินใจซื้อ และเชื่อถือผู้มีอิทธิพลอย่าง KOL/KOC/ผู้ดำเนินการไลฟ์สด ในการชักจูงความต้องการซื้อ จึงควรพิจารณาประชาสัมพันธ์สินค้าโดยผ่านผู้มีชื่อเสียงในท้องถิ่น เพื่อให้เข้าถึงตลาดได้เร็วยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ผู้บริโภคยังมองหาสินค้าและบริการโดยยอมจ่ายเพื่อให้ได้ประสบการณ์ที่ดีมากขึ้น สามารถพิจารณานำเสนอผลิตภัณฑ์ที่มีเอกลักษณ์ มีลูกเล่น ให้ประสบการณ์ใหม่ๆ ขณะเดียวกันก็ไม่ควรมองข้ามศักยภาพของตลาดระดับอำเภอที่มีกำลังซื้ออยู่ในช่วงขยายตัว

 

แหล่งที่มา https://www.foodaily.com/articles/35857

 

******************************

 

青島海外貿易促進事務所

jaJapanese