パリ国際貿易促進局
ข่าวเด่นประจำสัปดาห์จากสาธารณรัฐฝรั่งเศส
วันที่ 1-15 กุมภาพันธ์ 2567
เมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา (29 มกราคม – 3 กุมภาพันธ์) เกษตรกรฝรั่งเศสได้เคลื่อนขบวนรถแทร็กเตอร์และรถบรรทุกเพื่อปิดการจราจรบนทางหลวงเข้า-ออกตามเมืองใหญ่ของฝรั่งเศส โดยเฉพาะกรุงปารีส ที่ทางหลวงเข้า-ออกทั้งหมด 8 สายถูกปิดกั้นในบริเวณถนนวงแหวนรอบนอกของแคว้น ทำให้การจราจรทางบกเพื่อเข้าออกแคว้นของกรุงปารีสเป็นไปอย่างยากลำบาก
ทั้งนี้การเคลื่อนไหวดังกล่าว สร้างความกังวลให้กับผู้ประกอบด้านอาหาร เนื่องจากเกรงว่าอุปสรรคในการขนส่งจะทำให้เกิดภาวะขาดแคลนสินค้าเกษตรและอาหาร แต่ในท้ายที่สุดแล้วสถานการณ์ดังกล่าวได้เริ่มคลี่คลายในช่วงปลายสัปดาห์ ประกอบกับความพยายามของเกษตรที่จะปิดกั้นทางเข้าออกตลาดกลางประจำกรุงปารีส (ตลาด Rungis) ที่ไม่เป็นผลเนื่องรัฐบาลได้สั่งการให้ตำรวจเข้าควบคุมพื้นที่ดังกล่าวล่วงหน้าก่อนการเคลื่อนขบวน ทำให้ทางเข้าออกตลาดกลางไม่ถูกปิดกั้น นอกจากนี้การเดินทางระหว่างท่าอากาศยานกรุงปารีสและเมืองหลวงไม่ได้รับผลกระทบใด เนื่องจากท่าอากาศยานอยู่ภายในถนนวงแหวน
การเคลื่อนไหวในลักษณะใกล้เคียงกัน ได้เกิดขึ้นมาแล้วในหลาย ๆ ประเทศทั่วยุโรป เช่น เบลเยี่ยม อิตาลี สเปน และเยอรมนี การเคลื่อนไหวในฝรั่งเศสนำโดยสมาพันธ์สหภาพผู้ประกอบการการเกษตรแห่งชาติฝรั่งเศส (FNSEA) และกลุ่มเกษตรกรรุ่นใหม่ โดยมีข้อเรียกร้องต่าง ๆ ต่อรัฐบาล เนื่องจากด้วยสภาวะเศรษฐกิจ กฎระเบียบ และนโยบายต่าง ๆ ในปัจจุบัน ทำให้เกษตรกรพบอุปสรรคในการทำการเกษตร และมีความเป็นอยู่ที่ยากลำบากมากขึ้น
ปัญหาและอุปสรรคที่เกษตรฝรั่งเศสในปัจจุบันพบและพยายามเรียกร้องให้รัฐบาลช่วยเหลือทั้งในระดับนโยบายประเทศ และนโยบายสหภาพยุโรป ได้แก่
-
- ปัญหาของราคาสินค้าเกษตรและปศุสัตว์ที่โดนกดโดยพ่อค้าคนกลาง ที่บางทีทำให้ต้องจำหน่ายผลิตผลทางการเกษตรต่ำกว่าต้นทุนการผลิต
- การบังคับใช้กฎระเบียบต่าง ๆ ด้านมาตรฐานของสถานที่เพาะปลูกและโรงเรือนปศุสัตว์ ที่ทำให้เกษตรกรต้องมีภาระด้านต้นทุนสูงขึ้นมาก
- การติดต่อหน่วยงานภาครัฐเพื่อดำเนินการด้านเอกสารต่าง ๆ มีความซับซ้อน ซึ่งส่วนหนึ่งส่งผลให้การขอรับเงินช่วยเหลือเกษตรกรมีความล่าช้า
- ความไม่สอดคล้องของกฎระเบียบที่มีการห้ามใช้สารปราบศัตรูพืชบางชนิดในสหภาพยุโรป แต่ไม่ห้ามการนำเข้าผลิตผลที่มีสารปราบศัตรูพืชนั้นจากประเทศนอกสหภาพยุโรป (เช่นสาร Thiaclopride ที่พบในบีทรูทน้ำตาลนำเข้า) ตลอดจนแผนการห้ามใช้สารปราบศัตรูพืชอื่น ๆ ของฝรั่งเศสตาม นโยบาย EcoPhyto ที่จะเริ่มมีผลบังคับใช้ในช่วงกุมภาพันธ์ 2567 โดยนโยบายดังกล่าวมีการห้ามใช้สารรวม 75 ชนิด ซึ่งมีจำนวนมากกว่าสารปราบศัตรูพืชที่สหภาพยุโรปห้ามใช้ ซึ่งส่งให้เกิดการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมจากต่างประเทศ
- การแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมจากข้อตกลงทวิภาคีด้านการค้าระหว่างประเทศต่าง ๆ เช่น มาตรการลดภาษีนำเข้าสินค้าเกษตร (โดยเฉพาะไก่และธัญพืช) จากยูเครนเพื่อช่วยพยุงเศรษฐกิจของยูเครนที่อยู่ในสภาวะสงคราม หรือ Mercosur ที่ทำให้เกิดการนำเข้าสินค้าปศุสัตว์ราคาถูกจากประเทศนอกสหภาพยุโรป
- การยกเลิกสิทธิทางภาษีสำหรับน้ำมันดีเซลที่ใช้เครื่องจักรทางการเกษตร ซึ่งก่อนหน้านี้สิทธิดังกล่าวทำให้ราคาน้ำมันดีเซลประเภทนี้มีราคาถูกกว่าน้ำมันดีเซลทั่วไปในท้องตลาดถึงร้อยละ 40 กล่าวคือเมื่อยกเลิกสิทธิดังกล่าว เชื้อเพลิงสำหรับเครื่องจักรทางการเกษตรจะเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัว และส่งผลให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น
- การยกเลิกการระงับระเบียบเรื่องการพักหน้าดินและปลูกพืชหมุนเวียน ซึ่งระเบียบดังกล่าวเป็นระเบียบสหภาพยุโรปที่บังคับให้เกษตรกรที่มีพื้นที่เพาะปลูกตั้งแต่ 62.50 ไร่ ต้องพักหน้าดินร้อยละ 4 จากการเพาะปลูกในแต่ละปี (แต่ไม่ต้องพักหากปลูกพืชหมุนเวียนเพื่อปรับหน้าดินมากกว่าร้อยละ 7 ของพื้นที่) ซึ่งระเบียบดังกล่าวไม่ถูกบังคับใช้ในปี 2566 เนื่องจากสถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครนสร้างความไม่มั่นใจด้านความมั่นคงด้านอาหารของสหภาพยุโรป เนื่องจากยูเครนเป็นแหล่งปลูกข้าวสาลีสำคัญแห่งหนึ่งในสหภาพยุโรป และการระงับระเบียบดังกล่าวชั่วคราวมีเพื่อให้ประเทศต่าง ๆ ในสหภาพยุโรปสามารถเพิ่มผลผลิตได้
จากสถานการณ์ดังกล่าวนาย Gabriel Attal นายกรัฐมนตรีฝรั่งเศส ได้จัดให้มีการประชุมภาครัฐบาลร่วมกับแกนนำการเคลื่อนไหวภาคเกษตรกร ณ ทำเนียบนายกรัฐมนตรี ในวันพุธที่ 31 มกราคม 2567 และได้ออกแถลงนโยบายที่จะช่วงส่งเสริมภาคการเกษตรฝรั่งเศส ตลอดจนตอบรับกับข้อเรียกร้องของเกษตรกร ได้แก่
-
- ร่างกฎหมายเพื่อทำให้ฝรั่งเศสผลิตอาหารได้พอเพียงต่อการบริโภคภายในประเทศ (Food Sovereignty)
-
- สนับสนุนการสร้างฉลากที่มาของสินค้าอาหารฝรั่งเศส โดยเฉพาะในระดับสหภาพยุโรป เพื่อเสริมสร้างภาพลักษณ์และกระตุ้นการบริโภคสินค้าอาหารฝรั่งเศส
- ปรับเปลี่ยนกฎหมายภาษีมรดกเฉพาะสำหรับภาคการเกษตร
- ตั้งให้มีเงินช่วยเหลือภาคปศุสัตว์จำนวน 150 ล้านยูโร ผ่านระบบภาษีและประกันสังคม
- ระงับใช้แผน Ecophyto เป็นการชั่วคราว
- ห้ามการนำเข้าผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรที่ใช้สารปราบศัตรูพืช Thiaclopride
- จัดให้การนำเข้าผลิตภัณฑ์ไก่และธัญพืชจากยูเครนอยู่ในบทข้อยกเว้น
- ปรับวิธีการคำนวณเบี้ยเกษียณของเกษตรกร
- หยุดการบังคับใช้กฎหมายที่มีข้อจำกัดมากกว่ากฎระเบียบในสหภาพยุโรป
- การตรวจสอบการบังคับใช้กฎหมาย EgAlim ซึ่งเป็นกฎหมายเกี่ยวกับจะช่วยลดการเอาเปรียบเกษตรกรจากผู้จำหน่ายสินค้าและพ่อค้าคนกลาง
จากการประกาศดังกล่าว ทำให้ความเกษตรกรเริ่มทะยอยสลายการชุมนุมปิดกั้นทางหลวงต่าง ๆ ตั้งแต่ในช่วงพฤหัสบดีที่ 1 กุมภาพันธ์ และการชุมนุมทั่วประเทศได้สิ้นสุดลงในสุดสัปดาห์วันที่ 3-4 กุมภาพันธ์ 2567
ความคิดเห็น สคต.
สถานการณ์ดังกล่าวไม่ได้มีผลกระทบต่อการนำเข้าสินค้าเกษตรจากไทยทันทีในปัจจุบัน เนื่องจากการขัดขวางการจราจรดังกล่าวไม่ได้กระทบเส้นทางการขนส่งสินค้าเกษตรจากไทยมายังฝรั่งเศสมากนัก เพราะสินค้าผักผลไม้ไทยมักเข้าสู่ตลาดฝรั่งเศสผ่านทางท่าอากาศยานประจำกรุงปารีส ก่อนจะถูกเคลื่อนย้ายไปยังตลาดกลางกรุงปารีส ซึ่งสถานที่ทั้งสองอยู่ภายในถนนวงแหวนรอบนอกแคว้นปารีส แต่อาจมีปัญหาสำหรับการซื้อขายสินค้าผักผลไม้ไทยระหว่างฝรั่งเศสและประเทศข้างเคียงบ้าง สำหรับผลระยะยาว อาจมีความเป็นไปได้ว่าฝรั่งเศสจะเข้มงวดมากขึ้นด้านสารตกค้างจากสารปราบศัตรูพืชในผลผลิตการเกษตรจากประเทศนอกสหภาพยุโรป โดยสารทุกสารที่ห้ามใช้ในฝรั่งเศสก็จะเป็นสารที่ห้ามมีในผลิตภัณฑ์นำเข้า ทั้งนี้ผักผลไม้ไทยส่วนใหญ่ที่ฝรั่งเศสนำเข้าเป็นสินค้าในกลุ่ม Exotic ที่มีผู้บริโภคเฉพาะ จึงอาจไม่โดนกีดกันทางการค้าด้วยมาตรการทางการค้าต่าง ๆ เช่นเดียวกับสินค้าเกษตรพื้นฐานอื่น ๆ ที่ฝรั่งเศสสามารถผลิตได้เอง เช่น ข้าวสาลี มันฝรั่ง บีทรูท เป็นต้น
อ้างอิงข้อมูล
ข่าวจากหนังสือพิมพ์ออนไลน์ Midi Libre
ข่าวจากหนังสือพิมพ์ออนไลน์ Europe 1
ข่าวจากหนังสือพิมพ์ออนไลน์ L’Express
สรุปข้อเรียกร้องจากเว็บไซต์ของสมาพันธ์สหภาพผู้ประกอบการการเกษตรแห่งชาติฝรั่งเศส (FNSEA)
ข่าวจากหนังสือพิมพ์ออนไลน์ TF1 Info
https://www.tf1info.fr/politique/crise-agricole-resume-synthese-en-bref-que-retenir-des-nouvelles-annonces-du-gouvernement-attal-le-maire-bechu-fesneau-en-faveur-des-agriculteurs-2284733.html