พฤติกรรมของผู้บริโภคจีนที่มีต่อผลิตภัณฑ์ดูแลผิวและเส้นผม

 

ปัจจุบันเป็นยุคทองของอุตสาหกรรมความงาม เพราะความต้องการในการดูแลผิวและเส้นผมมีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในประเทศจีน อุตสาหกรรมการดูแลผิวและเส้นผมถือเป็นอุตสาหกรรมที่ใหญ่เป็นอันดับ 5 ของผู้บริโภคในประเทศจีน รองจากอสังหาริมทรัพย์ รถยนต์ การท่องเที่ยว และการสื่อสาร ซึ่งอุตสาหกรรมนี้กำลังเติบโตอย่างต่อเนื่อง การเพิ่มขึ้นของรายได้ของชาวจีนได้กระตุ้นความต้องการในการบริโภคสินค้าและบริการประเภทความงามสูงขึ้น เนื่องจากการปรับปรุงมาตรฐานการครองชีพของประเทศและการยกระดับคุณภาพชีวิตอย่างต่อเนื่อง จึงทำให้ตลาดของอุตสาหกรรมนี้ค่อนข้างมั่นคง รวมทั้งอุตสาหกรรมต้นน้ำ อุตสาหกรรมปลายน้ำ และรูปแบบธุรกิจที่เกิดใหม่กำลังพัฒนาอย่างรวดเร็ว จึงสามารถคาดเดาได้ว่าขนาดตลาดความงามของจีนและอุตสาหกรรมทำผมจะมีมูลค่าสูงถึง 4.459 แสนล้านหยวน (ประมาณ 2.22 ล้านล้านหยวน) ในปี 2568

 

พฤติกรรมของผู้บริโภคจีนที่มีต่อผลิตภัณฑ์ดูแลผิวและเส้นผม

ที่มาภาพ: https://www.iimedia.cn/c1077/97989.html

 

จากข้อมูลของ iiMedia Research อุตสาหกรรมการดูแลผิวของจีนโดยรวมกำลังเติบโต โดยขนาดตลาดอยู่ที่ 2.804 แสนล้านหยวน (ประมาณ 1.4 ล้านล้านหยวน) ในปี 2566 เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.3 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า นักวิเคราะห์เชื่อว่าในทศวรรษที่ผ่านมา แบรนด์ผลิตภัณฑ์ดูแลผิวยังคงลงทุนและสร้างความนิยมในตลาดผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง ผู้บริโภคในปัจจุบันเริ่มตระหนักถึงความสำคัญและเปิดใจเรียนรู้วิธีการดูแลผิวมากขึ้น ซึ่งช่วยส่งเสริมอุตสาหกรรมการดูแลผิวให้เติบโต

 

พฤติกรรมของผู้บริโภคจีนที่มีต่อผลิตภัณฑ์ดูแลผิวและเส้นผม

ที่มาภาพ: https://www.iimedia.cn/c1077/97989.html

 

ขนาดตลาดของอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ดูแลเส้นผมของจีนขยายใหญ่ขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2558 ถึง 2564 จาก 4.8 หมื่นล้านหยวน (ประมาณ 2.4 แสนล้านหยวน) เพิ่มเป็น 5.814 หมื่นล้านหยวน (ประมาณ 2.9 แสนล้านหยวน)  ตามแนวโน้มการเติบโตของอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ดูแลเส้นผม และในปี 2568 คาดว่าขนาดของตลาดจะสูงถึง 6.648 หมื่นล้านหยวน (ประมาณ 3.32 แสนล้านหยวน)

 

ปัจจัยหลักที่ผู้บริโภคใช้ในการพิจารณาเมื่อซื้อผลิตภัณฑ์ดูแลผิว

ด้วยการปรับปรุงระดับคุณภาพชีวิตและการยกระดับแนวคิดด้านการบริโภค ผลิตภัณฑ์ดูแลผิวจึงกลายเป็นส่วนหนึ่งที่ขาดไม่ได้ในชีวิตประจำวันของผู้คน เป็นสาเหตุให้เกิดแบรนด์ผลิตภัณฑ์ดูแลผิวในจำนวนที่มากขึ้นเรื่อย ๆ ตามความต้องการของผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้น อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ดูแลผิวจึงกลายเป็นตลาดที่มีการแข่งขันสูง แบรนด์ต่าง ๆ เริ่มมุ่งเน้นไปที่การสร้างแบรนด์และยกระดับประสิทธิภาพการดูแลผิว ซึ่งในปัจจุบัน ผู้บริโภคได้ให้ความสำคัญอย่างมากกับผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพสูง ราคาที่เหมาะสม และประสิทธิภาพที่ดี ด้วยปัจจัยเหล่านี้เอง จึงมีแค่เฉพาะผลิตภัณฑ์ที่สนองความความต้องการของผู้บริโภคเท่านั้นที่จะได้รับการยอมรับจากผู้บริโภค

 

จากข้อมูลปี 2566 ปัจจัยหลักที่ผู้บริโภคชาวจีนใช้พิจารณาเมื่อซื้อผลิตภัณฑ์ดูแลผิว แบรนด์คือปัจจัยที่ผู้บริโภคชาวจีนให้ความสนใจมากที่สุด (ร้อยละ 65.83) รองลงมาคือราคา (ร้อยละ 58.65) ประสิทธิภาพ (ร้อยละ 52.3) และคุณภาพ (ร้อยละ 48.56) นักวิเคราะห์เชื่อว่าผู้บริโภคให้ความสนใจกับการดูแลผิวมากขึ้นเรื่อย ๆ ด้วยเหตุนี้ ภาพลักษณ์ของแบรนด์จึงเป็นกุญแจสำคัญในการแข่งขันในตลาดผลิตภัณฑ์ดูแลผิว

 

พฤติกรรมของผู้บริโภคจีนที่มีต่อผลิตภัณฑ์ดูแลผิวและเส้นผม

ที่มาภาพ: https://www.iimedia.cn/c1077/97989.html

 

ช่องทางที่ผู้บริโภคซื้อผลิตภัณฑ์ดูแลผิว

ด้วยการพัฒนาอินเทอร์เน็ตและโลจิสติกส์ การชอปปิงออนไลน์จึงสะดวกยิ่งขึ้น ใช้แค่เพียงโทรศัพท์มือถือและอินเทอร์เน็ตก็สามารถเลือกซื้อผลิตภัณฑ์บนแพลตฟอร์มชอปปิงได้อย่างง่ายดาย ทว่าการซื้อผลิตภัณฑ์ดูแลผิวทางออนไลน์ยังมีความเสี่ยงอยู่บางประการ จึงทำให้ช่องทางการซื้อออฟไลน์บางช่องทางยังได้รับความนิยมในหมู่ผู้บริโภคเช่นกัน

 

ในบรรดาช่องทางที่ผู้บริโภคชาวจีนซื้อผลิตภัณฑ์ดูแลผิวในปี 2566 ผู้บริโภคร้อยละ 46.76 จะเลือกซื้อสินค้าออนไลน์ ผู้บริโภคร้อยละ 46.28 จะเลือกไปสถานเสริมความงาม ผู้บริโภคร้อยละ 46.16 จะเลือกซื้อที่แผนกจำหน่ายสินค้า ผู้บริโภคร้อยละ 44.24 จะเลือกไปร้านค้าเฉพาะทาง และร้อยละ 28.30 เลือกไปที่ซูเปอร์มาร์เก็ต ซึ่งจากกราฟแสดงให้เห็นว่า ช่องทางในการซื้อผลิตภัณฑ์ดูแลผิวมีจำนวนมากขึ้น เป็นสาเหตุให้ผู้บริโภคมีช่องทางในการซื้อเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน

 

พฤติกรรมของผู้บริโภคจีนที่มีต่อผลิตภัณฑ์ดูแลผิวและเส้นผม

ที่มาภาพ: https://www.iimedia.cn/c1077/97989.html

 

ประโยชน์ของยาสระผมที่ผู้บริโภคเลือก

ผลิตภัณฑ์ดูแลเส้นผมในปัจจุบันมีคุณสมบัติที่หลากหลายมากขึ้น เนื่องจากการดำเนินชีวิตในสังคมที่เร่งรีบขึ้นในทุกๆ วัน หลาย ๆ คนกำลังประสบปัญหาสุขภาพหนังศีรษะที่เกิดจากความกดดันในการทำงานหรือการเรียน แชมพูที่เห็นผลชัดเจนหลังใช้จึงเป็นที่ชื่นชอบของผู้บริโภคส่วนใหญ่ โดยคุณสมบัติของยาสระผมที่ผู้บริโภคชาวจีนให้ความสำคัญในปี 2566 คือประสิทธิภาพในการขจัดรังแค ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 43.17 รองลงมาคือความนุ่มและความยืดหยุ่นร้อยละ 40.53 ความสามารถในการควบคุมระดับความมันของเส้นผม ร้อยละ 40.17 การป้องกันผมร่วงร้อยละ 38.61 และการดูแลเส้นผมร้อยละ 38.49

 

พฤติกรรมของผู้บริโภคจีนที่มีต่อผลิตภัณฑ์ดูแลผิวและเส้นผม

ที่มาภาพ: https://www.iimedia.cn/c1077/97989.html

 

ช่องทางซื้อผลิตภัณฑ์ดูแลเส้นผมของผู้บริโภคชาวจีน

ชาวจีนมักจะซื้อยาสระผมในห้างสรรพสินค้า เนื่องจากช่องทางออฟไลน์เปิดโอกาสให้สัมผัสกับผลิตภัณฑ์โดยตรงก่อนตัดสินใจซื้อ นอกจากนี้ พนักงานขายในห้างสรรพสินค้าสามารถให้คำแนะนำผลิตภัณฑ์อย่างมืออาชีพและตอบข้อสงสัยของผู้บริโภคได้ ซึ่งช่วยเพิ่มความมั่นใจในการซื้อของผู้บริโภค โดยช่องทางที่ผู้บริโภคชาวจีนซื้อยาสระผมในปี 2566 มากที่สุด ได้แก่ โปสเตอร์ในห้างสรรพสินค้าร้อยละ 63.79 รองลงมา คือคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ คิดเป็นร้อยละ 55.28 แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ คิดเป็นร้อยละ 32.01 และโฆษณาทางทีวีมีสัดส่วนร้อยละ 30.34

 

พฤติกรรมของผู้บริโภคจีนที่มีต่อผลิตภัณฑ์ดูแลผิวและเส้นผม

ที่มาภาพ: https://www.iimedia.cn/c1077/97989.html

 

ในปัจจุบัน ความต้องการของผลิตภัณฑ์ดูแลผิวและเส้นผมเพิ่มขึ้นทุกวัน และผู้บริโภคให้ความสำคัญกับคุณภาพและความเหมาะสมกับร่างกายของตัวเองมากขึ้น ในขณะเดียวกัน ด้วยแนวคิดและความตระหนักรู้ถึงความสุขและการดูแลรูปลักษณ์ ผู้บริโภคจำนวนมากจึงเต็มใจที่จะลงทุนด้วยเวลาและเงินมากขึ้นในด้านความงามเพื่อปรับปรุงภาพลักษณ์ของตนเอง ปัจจัยเหล่านี้ได้ร่วมกันส่งเสริมการเติบโตอย่างต่อเนื่องของอุตสาหกรรมความงามและการทำผมในประเทศจีน และคาดว่าตลาดจะยังคงขยายตัวต่อไปในอนาคต

 

ข้อคิดเห็นของสคต.เซี่ยงไฮ้

เนื่องจากคนในยุคปัจจุบันได้หันมาดูแลตัวเองและใส่ใจกับภาพลักษณ์ภายนอกมากขึ้น ทำให้ผลิตภัณฑ์ดูแลผิวและเส้นผมได้รับความนิยมขึ้นเรื่อย ๆ ถือเป็นโอกาสที่ดีสำหรับธุรกิจผลิตภัณฑ์ทางด้านความงามของไทยที่สนใจเข้ามาในตลาดจีน โดยสามารถเริ่มจากทดลองตลาดและจำหน่ายผ่านช่องทางออนไลน์ที่เป็นหนึ่งช่องทางยอดนิยมของชาวจีนในการเลือกซื้อสินค้าด้านความงาม และควรแข่งขันกับแบรนด์ต่าง ๆ ด้วยการสร้างแบรนด์และพัฒนาคุณภาพของสินค้าให้เหมาะสมกับชาวจีน

________________________________________________________________________________

จัดทำโดย สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครเซี่ยงไฮ้

วันที่ 19 มกราคม 2567

 

แหล่งที่มา

https://www.iimedia.cn/c1077/97989.html

jaJapanese