จีนระงับการลดหย่อนภาษีการนำเข้าตามข้อตกลง ECFA ในสินค้า 12 รายการ จากจีนไต้หวัน

เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2566 สำนักงานคณะกรรมการกำกับภาษีอากรของสภาแห่งรัฐจีนประกาศหยุดการลดหย่อนภาษีตามข้อตกลง ECFA ในสินค้า 12 รายการจากเกาะไต้หวัน (จีน) โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 เป็นต้นไป สินค้า 12 รายการ ดังกล่าวเป็นจำพวกสารเคมีอินทรีย์ พลาสติกโพรพิลีน โคโพลีเมอร์ ซึ่งเป็นการประกาศหลังจากที่กระทรวงพาณิชย์จีนประกาศผลสอบสวนที่เริ่มขึ้นตั้งแต่เดือนเมษายนว่าการจำกัดสินค้ากว่า 2,000 รายการจากจีนแผ่นดินใหญ่ของไต้หวัน เป็นการกีดกันทางการค้า ทั้งนี้ กระทรวงการคลังจีนระบุในแถลงการณ์ว่า ไต้หวันได้ดำเนินมาตรการห้ามหรือจำกัดการส่งออกสินค้าของจีนแผ่นดินใหญ่ไปยังไต้หวัน ซึ่งเป็นการละเมิดเงื่อนไขของความตกลงความร่วมมือทางเศรษฐกิจช่องแคบจีน-ไต้หวัน (ECFA ) อนึ่ง ความตกลงความร่วมมือทางเศรษฐกิจช่องแคบจีน-ไต้หวัน ECFA (Cross-Strait Economic Cooperation Framework Agreement: ECFA) เป็นข้อตกลงความร่วมมือตั้งแต่ปี 2553 เพื่อให้สิทธิประโยชน์ด้านภาษีและอื่นๆ ต่อสินค้าและบริการของทั้งสองฝ่าย เพื่อการส่งเสริมการค้าสองฝ่าย

 

รายชื่อสินค้า 12 รายการที่จีนประกาศระงับการลดหย่อนภาษีการนำเข้าจากไต้หวัน

มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 เป็นต้นไป

จีนระงับการลดหย่อนภาษีการนำเข้าตามข้อตกลง ECFA ในสินค้า 12 รายการ จากจีนไต้หวัน

 

สมาคมอุตสาหกรรมเคมีไต้หวันให้ความเห็นว่า เนื่องจากอุตสาหกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมเคมีความเชื่อมโยมกันอย่างใกล้ชิด แม้ว่าจีนแผ่นดินใหญ่จะระงับการลดหย่อนภาษีตาม ECFA ของสินค้าไต้หวันเพียง 12 รายการ แต่จะมีผลกระทบต่อทั้งห่วงโซ่อุตสาหกรรมเคมีของไต้หวัน หากในอนาคต จีนแผ่นดินใหญ่จะขยายขอบเขตการยกเลิกสิทธิประโยชน์ทางภาษีของสินค้าอื่นๆ เช่น เครื่องจักร ผลิตภัณฑ์สิ่งทอ เป็นต้น ซึ่งจะเกิดผลกระทบที่รุนแรงในอุตสาหกรรมดั้งเดิมที่ต้องอาศัยแรงงานจำนวนมากของไต้หวัน

 

      ความเห็นสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองเซี่ยเหมิน : ไต้หวัน(จีน) และไทยเป็นตลาดสำคัญที่ส่งออกสินค้าเคมีภัณฑ์ (HS Code 29) และผลิตภัณฑ์จากพลาสติก (HS Code 39) ยังจีนแผ่นดินใหญ่ โดยใน 11 เดือนแรกของปี 2566 ไต้หวันเป็นตลาดส่งออกสินค้าเคมีภัณฑ์ใหญ่อันดับที่ 5  มูลค่าส่งออกคิดเป็นเป็น 3,194.67 ล้านเหรียญสหรัฐ(ครองส่วนแบ่งการตลาดร้อยละ 7.17) ลดลงร้อยละ 30.04 และเป็นตลาดส่งออกพลาสติกและผลิตภัณฑ์จากพลาสติก ใหญ่อันดับที่ 4 ของจีนแผ่นดินใหญ่ มีมูลค่าส่งออกเป็น 5,240.44 ล้านเหรียญสหรัฐ(ครองส่วนแบ่งการตลาดร้อยละ 9.23) ลดลงร้อยละ 31.24  ในขณะที่ ไทยเป็นตลาดส่งออกเคมีภัณฑ์ใหญ่อันดับที่ 13 มูลค่าส่งออกเป็น 820.43 ล้านเหรียญสหรัฐ (ครองส่วนแบ่งการตลาดร้อยละ 1.84) ลดลงร้อยละ 30.17 และเป็นตลาดส่งออกพลาสติกและผลิตภัณฑ์จากพลาสติกใหญ่อันดับที่ 7 ของจีนแผ่นดินใหญ่ มูลค่าส่งออกคิดเป็น 2,810.12 ล้านเหรียญสหรัฐ (ครองส่วนแบ่งการตลาดร้อยละ 4.95) ลดลงร้อยละ 22.25

 

สินค้า 12 รายการ เป็นจำพวกสารเคมีอินทรีย์ พลาสติกโพรพิลีน โคโพลีเมอร์ ซึ่งข้อมูลสถิติ GTA แสดงให้เห็นว่าในภาพรวมจีนมีการนำเข้าจากหลายประเทศ อาทิ ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา สิงคโปร์ ไต้หวัน เกาหลีใต้ มาเลเซีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซาอุดิอารเบีย และอื่นๆ โดยมีประเทศไทย เป็นแหล่งนำเข้าติดอันดับ 1 ใน 10  คิดเป็นสัดส่วนนำเข้าจากประเทศไทยประมาณร้อยละ 1-2  ทั้งนี้ การประกาศดังกล่าวเกิดขึ้นก่อนการจัดการเลือกตั้งผู้นำไต้หวันที่จะจัดขึ้นในเดือนหน้า ปัจจุบันการดำเนินธุรกิจไม่อาจหลีกเลี่ยงการเผชิญความท้าทายด้านภูมิรัฐศาสตร์ จึงจำเป็นต้องบริหารความเสี่ยงและโอกาสท่ามกลางความขัดแย้งอย่างทันเหตุการณ์

 

                       ที่มา

http://gss.mof.gov.cn/gzdt/zhengcefabu/202312/t20231221_3923283.htm

Global Trade Atlas

เรียบเรียงโดยสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองเซี่ยเหมิน

22 ธันวาคม 2566

jaJapanese