รายงานสถานการณ์การใช้จ่ายของผู้บริโภค และการค้าปลีกของสหรัฐอเมริกา

สถานการณ์การใช้จ่ายของผู้บริโภคสหรัฐฯ (Consumer Spending)

 

การใช้จ่ายของผู้บริโภค สำนักงานวิเคราะห์เศรษฐกิจสหรัฐฯ (U.S. Bureau of Economic Analysis)[1] รายงานว่าการใช้จ่ายของผู้บริโภค ณ เดือนกันยายน 2566 เพิ่มขึ้น 138.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือคิดเป็นเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.4 จากปีก่อนหน้า

สำนักงานงบประมาณแห่งชาติสหรัฐฯ (Congressional Budget Office)[2] คาดว่า Consumer Spending จะมีความผันผวนเล็กน้อย โดยจะอยู่ที่ร้อยละ 1.3 ในปี 2566 ร้อยละ 1.1 ในปี 2567 และร้อยละ 2.0 ในปี 2568 ตามลำดับ ซึ่งการใช้จ่ายของผู้บริโภคในช่วงปลายปี 2566 ไปจนถึงปี 2567 จะชะลอตัว เนื่องจาก 1) การเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ย 2) การเพิ่มขึ้นของอัตราการว่างงาน 3) มาตรการช่วยเหลือโควิด-19 เพื่อบรรเทาค่าใช้จ่ายของประชาชนหมดระยะเวลาลง และคาดการณ์ว่าการใช้จ่ายของผู้บริโภคจะเริ่มแข็งแรงขึ้นในช่วงปลายปี 2567 เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยและอัตราการว่างงานที่ลดลง

 

รายงานสถานการณ์การใช้จ่ายของผู้บริโภค และการค้าปลีกของสหรัฐอเมริกา
ที่มา: Congressional Budget Office

 

สำหรับหนี้ครัวเรือน Federal Reserve Bank of New York[3] รายงานหนี้ครัวเรือนและบัตรเครดิตรายไตรมาส พบว่า หนี้ครัวเรือน ณ ไตรมาสที่ 3 ของปี 2566 อยู่ที่ 17.3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.3 จากไตรมาสก่อนหน้า ประกอบด้วย สินเชื่อเพื่อซื้อที่อยู่อาศัย 12.1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ สินเชื่อบัตรเครดิต 1.1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ สินเชื่อเพื่อการศึกษา 1.6 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และสินเชื่อรถยนต์ 1.6 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และสินเชื่ออื่น ๆ ทรงตัวอยู่ที่ 0.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ การผิดนัดชำระเพิ่มขึ้นจากสินเชื่อหลายประเภท ยกเว้นสินเชื่อเพื่อการศึกษาที่มีการผิดนัดชำระลดลง ส่วนหนึ่งอาจมาจากสินเชื่อเพื่อการศึกษาของรัฐที่ผิดนัดชำระจะไม่ถูกรายงานไปยังเครดิตบูโรจนถึงไตรมาสที่ 4 ปี 2567 ทำให้อัตราการผิดนัดชำระ ณ ไตรมาสที่ 3 ของปี 2566 อยู่ที่ร้อยละ 3 ของหนี้คงค้างทั้งหมด โดยเพิ่มขึ้นจุดร้อยละ 0.4 จากไตรมาสก่อนหน้า โดยการผิดนัดชำระสินเชื่อบัตรเครดิตมีการเพิ่มขึ้นสูงในกลุ่มผู้กู้ยืมที่มีอายุ 30 ถึง 39 ปี ที่มีสินเชื่อรถยนต์และสินเชื่อเพื่อการศึกษา

 

รายงานสถานการณ์การใช้จ่ายของผู้บริโภค และการค้าปลีกของสหรัฐอเมริกา

รายงานสถานการณ์การใช้จ่ายของผู้บริโภค และการค้าปลีกของสหรัฐอเมริกา
ที่มา: Federal Reserve Bank of New York

อัตราการว่างงาน สำนักงานสถิติแรงงาน (Bureau of Labor Statistics) กระทรวงแรงงานสหรัฐฯ (U.S. Department of Labor)[4] รายงานอัตราการว่างงาน ณ เดือนตุลาคม 2566 ที่อัตราร้อยละ 3.9 หรือ มีจำนวนผู้ว่างงานในระบบเศรษฐกิจทั้งหมด 6.5 ล้านคน โดยมีผู้โดนเลิกว่าจ้างถาวร (Permanent Job Loser) เพิ่มขึ้น 164,000 คน รวมเป็น 1.6 ล้านคน และมีการจ้างงานนอกภาคการเกษตร (Nonfarm Payroll Employment) เพิ่มขึ้น 150,000 ตำแหน่ง อย่างไรก็ดี สำนักงานงบประมาณแห่งชาติสหรัฐฯ (Congressional Budget Office)[5] คาดว่าอัตราการว่างงานจะสูงขึ้นเล็กน้อย จากร้อยละ 4.1 ในปี 2566 เป็นร้อยละ 4.7 ในปี 2567 และชะลอตัวที่ร้อยละ 4.5 ในปี 2568

 

รายงานสถานการณ์การใช้จ่ายของผู้บริโภค และการค้าปลีกของสหรัฐอเมริกา
ที่มา: Bureau of Labor Statistics, U.S. Department of Labor

 

สถานการณ์การค้าปลีกโลกและสหรัฐฯ

 

ด้านการค้าปลีกโลก Economist Intelligence Unit[6] รายงานการคาดการณ์มูลค่าการค้าปลีกทั่วโลก (Retail Sale) ในปี 2567 จะเติบโตร้อยละ 6.7 และปริมาณการค้าปลีก (Retail Volume) จะเติบโตร้อยละ 2 โดยเป็นการซื้อจากหน้าร้าน (Brick-and-Mortar) คิดเป็นกว่าร้อยละ 80 ของยอดขายทั้งหมด อย่างไรก็ดี ปี 2567 จะเป็นปีที่มีการเติบโตการค้าปลีกแบบออฟไลน์ที่แข็งแรงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2564 จากการฟื้นตัวของสถานการณ์โควิด-19

สำหรับสถานการณ์การค้าปลีกในสหรัฐฯ สำนักงานสถิติสหรัฐฯ (U.S. Census Bureau)[7] รายงานภาวะการค้าปลีก ณ เดือนตุลาคม 2566 มีมูลค่า 612 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยลดลงร้อยละ 0.2 จากเดือนที่ผ่านมา หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.6 จากปีก่อนหน้า สำหรับการค้าปลีกที่รวมอาหาร ณ เดือนตุลาคม 2566 มีมูลค่าทั้งสิ้น 705 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยลดลงร้อยละ 0.1 จากเดือนที่ผ่านมา หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.5 จากปีก่อนหน้า สำหรับการค้าปลีกของผู้ประกอบการที่ไม่มีห้างร้าน (Nonstore Retailer) ณ เดือนตุลาคม 2566 มีมูลค่า 118 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.2 จากเดือนที่ผ่านมา หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.6 จากปีก่อนหน้า

สถานการณ์การค้าปลีกออนไลน์ของโลก ฝ่ายการค้าระหว่างประเทศ (U.S. International Trade Administration) กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ (U.S. Department of Commerce) คาดการณ์ว่ายอดขายค้าปลีกทั่วโลกปี 2567 อยู่ที่ 6,388 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.1 จากปีก่อนหน้า[8] สาเหตุมาจากการแพร่ระบาดโควิด-19 ทำให้ผู้บริโภคหันมาใช้ช่องทางออนไลน์เพิ่มมากขึ้น และคาดว่าส่วนแบ่งการตลาดของการค้าปลีกออนไลน์ของโลกในปี 2567 จะมีส่วนแบ่งการตลาด คิดเป็นร้อยละ 21.8 ต่อยอดค้าปลีกของโลกทั้งหมด เพิ่มขึ้นจากสัดส่วนร้อยละ 21.1 ในปี 2566[9]

 

รายงานสถานการณ์การใช้จ่ายของผู้บริโภค และการค้าปลีกของสหรัฐอเมริกา

รายงานสถานการณ์การใช้จ่ายของผู้บริโภค และการค้าปลีกของสหรัฐอเมริกา
ที่มา: U.S. International Trade Administration, U.S. Department of Commerce

 

การค้าปลีกออนไลน์ของสหรัฐฯ eMarketer[10] คาดการณ์ว่า ยอดขายการค้าออนไลน์ของสหรัฐฯ จะเติบโตอย่างต่อเนื่อง เฉลี่ยร้อยละ 10 ต่อปีจากปี 2567 ถึงปี 2570 ซึ่งคาดการณ์ว่ายอดขายการค้าออนไลน์ของสหรัฐฯ จะเพิ่มขึ้นจาก 1,137 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2566 เป็นอยู่ที่ 1,256 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2567 หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.5 และคาดว่าส่วนแบ่งการตลาดของการค้าออนไลน์จะคิดเป็นร้อยละ 16.6 ของการค้าปลีกของสหรัฐฯ ทั้งหมด โดยประเภทสินค้าที่คาดว่าจะเติบโตจากการค้าออนไลน์ ได้แก่ อาหารและเครื่องดื่มจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 20 และสินค้าเพื่อสุขภาพและของใช้ส่วนตัวจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 18.9 อย่างไรก็ดี การเติบโตของยอดขายค้าปลีกหลายประเภทอาจเป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อที่ส่งผลต่อราคาสินค้ามากกว่าการเพิ่มขึ้นในเชิงของปริมาณสินค้า นอกจากนี้ ยังพบว่าผู้บริโภคที่ต้องการประหยัดค่าใช้จ่ายได้หันมาใช้ช่องทางออนไลน์ในการเปรียบเทียบราคาและในการเข้าถึงส่วนลดมากขึ้นด้วย

 

รายงานสถานการณ์การใช้จ่ายของผู้บริโภค และการค้าปลีกของสหรัฐอเมริกา

 

eMarketer[11] ยังรายงานว่าแม้ว่าการแพร่ระบาดโควิด-19 จะจบลงแล้ว แต่การซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคผ่านช่องทางออนไลน์ (Digital Grocery) จะเป็นพฤติกรรมที่ผู้บริโภคในสหรัฐฯ ยังคงมีอยู่ ยอดขายของ Digital Grocery จึงมีการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจากความนิยมของผู้บริโภคและอัตราเงินเฟ้อ โดยคาดการณ์ว่ายอดขายของ Online Grocery ในปี 2567 จะอยู่ที่ 187.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปี 2556 ที่ 160.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นร้อยละ 16.3 และคาดว่า Digital Grocery จะมีส่วนแบ่งการตลาด คิดเป็นร้อยละ 12.5 ของตลาดการค้าปลีกสินค้าอุปโภคบริโภคทั้งหมด

 

รายงานสถานการณ์การใช้จ่ายของผู้บริโภค และการค้าปลีกของสหรัฐอเมริกา

 

ข้อเสนอแนะของสคต. นิวยอร์ก

ปัจจุบันเศรษฐกิจโลกและสหรัฐฯ มีความไม่แน่นอนสูง ซึ่งได้รับผลกระทบจากอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูง นโยบายการเงินแบบตึงตัว มาตรการช่วยเหลือโควิด-19 เพื่อบรรเทาค่าใช้จ่ายของประชาชนกำลังจะหมดระยะเวลาลง และอัตราการว่างงานที่สูงขึ้น ทำให้ผู้บริโภคได้รับผลกระทบและอาจส่งผลต่อการใช้จ่ายและการอุปโภคบริโภค ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยจึงควรติดตามแนวโน้มและสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ และพฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้บริโภคสหรัฐฯ เพื่อประกอบการตัดสินใจในการวางแผนทางธุรกิจให้ปรับตัวได้ทันตามการเปลี่ยนแปลง

 

ข้อมูลอ้างอิง

[1] https://www.bea.gov/data/consumer-spending/main

[2] https://www.cbo.gov/system/files/2023-07/59258-econ-outlook.pdf

[3] https://www.newyorkfed.org/microeconomics/hhdc.html

[4] https://www.bls.gov/news.release/empsit.nr0.htm

[5] https://www.cbo.gov/system/files/2023-07/59258-econ-outlook.pdf

[6] https://www.eiu.com/n/campaigns/consumer-in-2024/

[7] https://www.census.gov/retail/sales.html

[8] https://www.trade.gov/ecommerce-sales-size-forecast

[9] https://www.trade.gov/impact-covid-pandemic-ecommerce

[10] https://www.insiderintelligence.com/content/us-retail-ecommerce-sales-growth-2027

[11] https://www.insiderintelligence.com/content/spotlight-us-digital-grocery-forecast-2022

jaJapanese