แนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ และการใช้จ่ายของชาวอเมริกัน

การใช้จ่ายของผู้บริโภคสหรัฐฯ เดือนกันยายนที่ผ่านมามีการขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยอาศัยแรงหนุนจากการฟื้นตัวของตลาดแรงงานที่ช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายของผู้บริโภค อย่างไรก็ดี พบว่าค่าจ้างมีการเติบโตในอัตราที่ชะลอตัวและค่าใช้จ่ายในการดูแลเด็กซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายสำคัญของครัวเรือนมีการขยายตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งอาจส่งผลกับการใช้จ่ายของผู้บริโภคในการซื้อสินค้าและบริการลดลง และส่งผลกระทบต่อสถานการณ์เศรษฐกิจในอนาคต

ภาคการใช้จ่าย

จากข้อมูลของ Bank of America แสดงให้เห็นว่าการใช้จ่ายของผู้บริโภคในช่วงเดือนสิงหาคมและกันยายนค่อนข้างทรงตัว โดยการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตของชาวอเมริกันในเดือนกันยายนเพิ่มขึ้น +0.2% เมื่อเทียบกับเดือนก่อน และการใช้จ่ายผ่านบัตรของเดือนสิงหาคมลดลง -0.2% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้านี้ อย่างไรก็ดี หากเทียบเป็นรายปีในช่วงเวลาเดียวกัน จะพบว่าการใช้จ่ายผ่านบัตรโดยรวมต่อครัวเรือนในเดือนกันยายน เพิ่มขึ้น +0.7% และเดือนสิงหาคมมีการขยายตัวเพิ่มขึ้น +0.4%

การใช้จ่ายในการซื้อสินค้าของผู้บริโภค (ไม่รวมการใช้จ่ายในร้านอาหาร) เดือนกันยายนมีอัตราลดลงอยู่ที่ -0.9% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ซึ่งนับว่าเป็นสัญญาณเชิงบวก เนื่องจากอัตราที่ปรับลดลงได้เริ่มมีการชะลอตัวลงนับตั้งแต่เดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ซึ่งอยู่ที่ -1.4% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา

ส่วนการใช้จ่ายด้านการบริการ (รวมถึงการใช้จ่ายในร้านอาหาร) เดือนกันยายนเพิ่มขึ้น +2.3% เมื่อเทียบกับปีก่อน ทั้งนี้การขยายตัวดังกล่าวได้ปรับตัวลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้านี้ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าผู้บริโภคได้เริ่มปรับลดการใช้จ่ายภาคบริการลงมาสู่การซื้อสินค้ามากขึ้น อนึ่ง การขยายตัวของเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาอยู่ที่ +2.4% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา

ในช่วงครึ่งแรกของปี 2566 การใช้จ่ายด้านบริการต่อครัวเรือนเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 0.2% เมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา ทั้งนี้ ในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปี 2566 การใช้จ่ายด้านบริการยังอยู่ในเกณฑ์คงที่ โดยอัตราการเติบโตเฉลี่ยอยู่ที่ 0.2% ต่อเดือน อย่างไรก็ตาม ในหมวดการใช้จ่ายด้านการบริการ การใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการเดินทางที่รวมถึงค่าใช้จ่ายในการบินและที่พักได้แสดงสัญญาณของภาวะเศรษฐกิจที่กลับสู่ระดับปกติมากขึ้น หลังจากการที่ได้มีการขยายตัวอย่างรุนแรงในช่วงหลังการแพร่ระบาดของ COVID

การวิเคราะห์ข้อมูลการใช้จ่ายของผู้บริโภคต่อราคาสินค้า พบว่า ราคาน้ำมันที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นได้ส่งผลกระทบต่อการใช้จ่ายที่จำเป็น เช่น อาหาร น้ำมันและสาธารณูปโภคต่างๆ ทำให้สินค้ามีราคาเพิ่มสูงขึ้น อนึ่ง การใช้จ่ายที่จำเป็นของเดือนกันยายนมีการเติบโตเพิ่มขึ้น 1.3% เมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา แซงหน้าการใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นซึ่งเพิ่มขึ้นเพียง 0.4% นอกจากนี้ ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มสูงขึ้นดังกล่าวยังได้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อครัวเรือนที่มีรายได้น้อย (รายได้น้อยกว่า 50,000 เหรียญสหรัญ/ปี) ทำให้ต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายที่จำเป็นเพิ่มขึ้น โดยในเดือนกันยายนการใช้จ่ายที่จำเป็นของผู้มีรายได้น้อยมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็น 0.6% เมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา

 

ครัวเรือนที่มีรายได้น้อยยังคงยังคงเป็นผู้นำการใช้จ่ายผ่านบัตร แม้จะมีความท้าทายจากราคาน้ำมันที่สูงขึ้น ทำให้เห็นว่าคนกลุ่มนี้กำลังต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายบางประเภทที่สูงขึ้น กลุ่มครัวเรือนที่เปราะบางนี้จึงเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากอัตราเงินเฟ้อหนักที่สุด

นอกจากนี้ ในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปี 2566 การใช้จ่ายในร้านอาหารโดยเฉพาะในร้านอาหารจานด่วน (Quick Service Serving) มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นมากกว่าร้านอาหารแบบนั่งกิน (Casual Dining) จากข้อมูลดังกล่าวได้แสดงให้เห็นว่าผู้บริโภคได้รับผลกระทบจากราคาสินค้าที่จำเป็นที่เพิ่มขึ้นและต้องการเลือกรับประทานอาหารที่เป็นมิตรกับรายได้มากขึ้น

ภาคการจ้างงาน

สถานะของตลาดแรงงานในสหรัฐฯ เดือนกันยายน บ่งชี้ว่ามีสภาพแวดล้อมที่ดี การจ้างงานนอกภาคเกษตร เพิ่มขึ้นอย่างมาก 336,000 อัตราและอัตราการว่างงานยังคงอยู่ที่ 3.8% ตัวชี้วัดอื่นๆ เช่น การงานว่างและการขอรับสวัสดิการว่างงานยังนับว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ดี

ข้อมูลจาก Bank of America แสดงให้เห็นว่าผู้บริโภคที่มีรายได้สูง (รายได้มากกว่า 250,000 เหรียญสหรัฐ/ปี) ประสบปัญหาการว่างงานเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเดือนกันยายน 2566 ทั้งนี้ อัตราการรับสวัสดิการของครัวเรือนที่มีรายได้สูงของเดือนกันยายนมีการขยายตัวเพิ่มขึ้น 2% เมื่อเทียบกับเดือนมกราคม 2562 สำหรับครัวเรือนที่มีรายได้ปานกลาง (รายได้ประมาณ 50,000-125,000 เหรียญสหรัฐ/ปี) และรายได้ต่ำ (รายได้น้อยกว่า 50,000 เหรียญสหรัญ/ปี) ปัญหาการว่างงานยังคงอยู่ในระดับต่ำกว่าก่อนเกิดการแพร่ระบาดของ COVID

จากข้อมูลของสำนักงานสถิติแรงงานสหรัฐฯ (The Bureau of Labor Statistics) ระบุว่า ในเดือนกันยายน ตลาดแรงงานสำหรับผู้ที่มีรายได้ต่ำในภาคสันทนาการและบริการมีการเติบโตเพิ่มขึ้น โดยมีการจ้างงาน 96,000 อัตรา ในทางกลับกันภาคบริการทางการเงินซึ่งเป็นตลาดแรงงานสำหรับผู้ที่มีรายได้สูงกลับมีการจ้างงานเพิ่มขึ้นเพียง 3,000 ตำแหน่ง ทั้งนี้ การชะลอตัวของตลาดแรงงานอาจเป็นผลพวงมาจากการเลิกจ้างงานในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีและบริการทางการเงินที่มีการปรับตัวลดลงตั้งแต่ช่วงพฤษภาคมที่ผ่านมา แม้ว่าตลาดแรงงานสำหรับผู้มีรายได้สูงอาจจะไม่ได้ส่งผลกระทบมากนักต่อระบบเศรษฐกิจในอนาคต แต่อัตราค่าจ้างและเงินเดือนของครัวเรือนที่มีรายได้สูงยังคงเติบโตในอัตราที่ชะลอตัวมากกว่ากลุ่มที่มีรายได้ในระดับปานกลางและต่ำ ทั้งนี้ หากเปรียบเทียบอัตราการขยายตัวของค่าจ้างหลังหักภาษีของเดือนกันยายน 2566 กับปีที่ผ่านมาในช่วงเดียวกัน พบว่า ครัวเรือนที่มีรายได้สูงอยู่ในอัตราคงที่และครัวเรือนที่มีรายได้น้อย มีการขยายตัวเพิ่มขึ้น +2.4%

สัดส่วนของแรงงานในตลาด

จากข้อมูลของสำนักงานสถิติแรงงานสหรัฐฯ (The Bureau of Labor Statistics) ระบุว่า รายงานการจ้างงานของเดือนกันยายนแสดงให้เห็นว่ากลุ่มวัยทำงานที่มีอายุระหว่าง 25-54 ปี คิดเป็นสัดส่วน 83.5% ของตลาดแรงงานทั้งหมด  โดยกลุ่มวัยทำงานเพศชายที่มีอายุระหว่าง 25-54 ปี คิดเป็นสัดส่วน 89.6% ของตลาดแรงงานทั้งหมด  ในขณะที่วัยทำงานเพศหญิงที่มีอายุระหว่าง 25-54 ปี คิดเป็นสัดส่วน 77.4% ของตลาดแรงงานทั้งหมด ซึ่งวัยทำงานเพศหญิงมีสัดส่วนลดลง แต่แรงงานเพศชายมีการขยายตัวเพิ่มขึ้น ปัจจัยสำคัญที่ทำให้แรงงานเพศหญิงมีการปรับตัวลดลง คือ ค่าใช้จ่ายในการดูแลเด็กที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้ผู้หญิงต้องลาออกหรือเลือกที่จะไม่เข้าสู่ตลาดแรงงานเพื่อรักษาสภาพคล่องทางการเงิน ข้อมูลจาก Bank of America แสดงให้เห็นการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องของค่าดูแลเด็กเฉลี่ยต่อเดือนรายบุคคลในช่วงสามปีที่ผ่านมา  ทั้งนี้ ในเดือนกันยายนค่าใช้จ่ายในการดูแลบุตรมีการปรับตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของปี 2562 ถึง 32%

ข้อมูลรายงานดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของสำนักสถิติแรงงาน (BLS) ระบุว่าราคาสำหรับสถานรับเลี้ยงเด็กและโรงเรียนอนุบาลของเดือนสิงหาคมมีการขยายตัวเพิ่มขึ้น +5.6% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา จากการปรับตัวลดลง -7% ในเดือนเมษายนที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี แม้ว่าการคำนวณดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ค่าใช้จ่ายสำหรับสถานรับเลี้ยงเด็กก่อนวัยเรียนมีน้ำหนักค่อนข้างต่ำ น้อยกว่า 1% แต่แนวโน้มค่าใช้จ่ายที่เพิ่มสูงขึ้นดังกล่าวได้ส่งผลผลกระทบอย่างรุนแรงต่อครอบครัวที่มีเด็กเล็กก่อนวัยเรียน จากการสำรวจล่าสุดโดย Care.com พบว่า ผู้ปกครองใช้จ่ายสำหรับครัวเรือนต่อปีประมาณ 67% และค่าดูแลเด็กต่อปีประมาณ 20% ของรายได้ทั้งหมด อนึ่ง ในอนาคตผู้ปกครองมีความกังวลว่าค่าบริการดูแลเด็กก่อนวัยเรียนอาจมีการปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากเงินสนับสนุนจากรัฐบาลภายใต้โครงการ Child Care Stabilization (CCS) ได้หมดอายุลงในวันที่ 30 กันยายน 2566 ซึ่งโครงการดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของแผน The America Rescue Plan in 2021 โดยเริ่มตั้งแต่ปี 2564 ได้มีการจัดสรรเงิน 24,000 ล้านเหรียญสหรัฐให้กับโครงการที่ส่งเสริมการดูแลเด็กมากกว่า 220,000 โครงการในสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อเด็กมากถึง 9.6 ล้านคน ซึ่งการสิ้นสุดโครงการ CCS อาจมีผลต่อโครงการดูแลเด็ก 70,000 โครงการ โดยเด็กมากกว่า 3 ล้านคนและผู้ให้บริการดูแลอาจจะได้รับผลกระทบโดยตรงจากการสิ้นสุดโครงการดังกล่าว อย่างไรก็ตาม แรงกดดันที่สูงขึ้นต่อราคาค่าใช้จ่ายในการดูแลเด็กอาจเพิ่มความเสี่ยงด้านลบให้กับผู้บริโภคต้องเมื่อเข้าใกล้สิ้นปีซึ่งเป็นเทศกาลสำคัญของการใช้จ่ายของสหรัฐฯ

ข้อเสนอแนะของสคต. นิวยอร์ก

รายรับและค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นได้ส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมผู้บริโภค ทำให้ผู้บริโภคเริ่มมองหาสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับรายได้มากขึ้น ซึ่งผู้ประกอบการไทยควรศึกษาและเข้าใจถึงพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปเพื่อนำมาวางแผนพัฒนาสินค้าใหม่ๆ ให้สอดคล้องกับความต้องการ เช่น อาหารพร้อมรับประทาน อาหารแพคใหญ่สำหรับครอบครัวที่มีราคาต่อชิ้นถูกลง เป็นต้น

 

ข้อมูลอ้างอิง: Bank of American Consumer Checkpoint และสคต. นิวยอร์ก

jaJapanese