กลุ่มประชาคมแอฟริกาตะวันออก หรือ EAC (East African Community) ซึ่งประกอบด้วยสมาชิกจำนวน 7 ประเทศ ได้แก่ เคนยา แทนซาเนีย รวันดา ยูกานดา บุรันดี DRC และ เชาท์ซูดาน ได้ยกระดับการผลักดันให้ประเทศสมาชิกยอมรับสกุลเงินท้องถิ่นในการซื้อ-ขาย ระหว่างกัน ซึ่งเป็นการผลักดันครั้งล่าสุด เพื่อลดผลกระทบในการพึ่งพาและลดผลกระทบจากการอ่อนค่าของค่าเงินท้องถิ่นต่อค่าเงินเหรียญสหรัฐ (USD) ที่พุ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง และส่งผลทางลบต่อเศรษฐกิจในภูมิภาค การผลักดันดังกล่าว ถูกเสนอโดยสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งแอฟริกาตะวันออก (ภาพข่าว : สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งแอฟริกาตะวันออกในอดีตเข้าร่วมประชุมในรวันดา ) ซึ่งเป็นชาวเคนยา โดยได้เสนอแนะให้ EAC ใช้สกุลเงินท้องถิ่นในการซื้อ-ขายข้ามพรมแดน เนื่องจากมีความเชื่อว่า นโยบายนี้จะช่วงเพิ่มแรงผลักดันให้เกิดการยกเลิกการใช้เงินดอลลาร์สหรัฐในการชำระค่าสินค้าและลดการพึงพาต่อเงินดอลลาร์ได้
จากการศึกษาของกลุ่ม EAC โดย ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งแอฟริกา (African Development Bank) พบว่า EAC เป็นชุมชนเศรษฐกิจระดับภูมิภาคที่มีการบูรณาการมากที่สุดในทวีปแอฟริกา ซึ่งอธิบายถึงการเจริญเติบโตของการค้าระหว่างประเทศในสมาชิกด้วยกันเองที่มีมากที่สุดในแอฟริกา ซึ่งที่ผ่านมาเงินเคนยาชิลลิ่งถือเป็นเงินสกุลสำคัญที่สุดในการค้าขายระหว่างกัน และก็เป็นเงินท้องถิ่นที่ได้รับผลกระทบจากการอ่อนค่าเงินของเงินเคนยาชิลลิ่งมากที่สุดเมื่อเทียบกับเงินเหรียญสหรัฐเมื่อเปรียบเทียบกับเงินสกุลอื่นๆ ใน EAC ในด้านการค้าและการลงทุน และมองว่าเงินเหรียญสหรัฐควรจะถูกใช้เมื่อมีความจำเป็นต้องทำการค้านอกกลุ่มเท่านั้น
ข้อเสนอดังกล่าวมีขึ้นในช่วงเวลาที่สกุลเงินเคนยาชิลลิ่งกำลังอ่อนค่าลงมากที่สุดเมื่อเทียบกับสกุลเงินอื่นๆ ในภูมิภาค ซึ่งทำให้ปัจจุบันมีแนวโน้มว่า เงินแทนซาเนียชิลลิ่ง และยูกันดาชิลลิ่ง จะลดช่องว่างลงที่เคยมีค่าด้อยกว่าเงินเคนยาชิลลิ่งในปัจจุบัน ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา เงินเคนยาชิลลิ่งสูญเสียมูลค่าไปร้อยละ 21.70 เมื่อเทียบกับเงินสกุลอื่นๆ ใน EAC เช่น เทียบกับเงินแทนซาเนียชิลลิ่ง โดยมีค่าลดลงคิดเป็นร้อยละ 17.07 และเทียบกับเงินยูกันดาชิลลิ่งมีค่าลดลงร้อยละ 24.9 เป็นต้น
จากความเห็นของประธานกลุ่ม China-Dubai Traders Group กล่าวว่า ประชากรของกลุ่มสมาชิก EAC ที่ทำธุรกิจและการค้าตามเมืองค้าชายแดนต่างๆ เช่น Busia, Malaba และจุดการค้าชายแดนอื่นๆ เชื่อว่า การใช้สกุลเงินท้องถิ่นนั้น ควรจะสามารถใช้ชำระค่าสินค้าได้ โดยมีหลักการคิดที่ว่า ถึงแม้ว่าประเทศต่างๆ จะเลิกใช้สกุลเงินเหรียญสหรัฐแล้ว แต่อัตราแลกเปลี่ยนจะยังคงถูกกำหนดโดยเงินเหรียญสหรัฐเช่นเดิม เพราะเงิน USD ได้รับความเชื่อถือให้เป็นสกุลเงินชั้นสูงที่คอยกำหนดมูลค่าของสกุลเงินอื่นๆ ทั้งหมด นับเป็นข้อเสนอที่สะท้อนคำกล่าวของประธานาธิบดีวิลเลี่ยม รูโต ในการปราศรัยต่อรัฐสภาจิบูติ ที่เรียกร้องให้ประเทศในแอฟริกาพิจารณาการทำธุรกรรมข้ามพรมแดนในสกุลเงินของตนแทนเงินดอลลาร์สหรัฐ ตนไม่ต้องการต่อต้านเงินดอลลาร์สหรัฐ แต่ตนเพียงต้องการค้าขายอย่างเสรีมากขึ้น ควรจ่ายด้วยเงินเหรียญสหรัฐเมื่อซื้อสินค้าจากสหรัฐอเมริกาเท่านั้น
ในขณะที่ประเทศต่างๆ ในภูมิภาคพบว่า ตนเองขาดแคลนเงินเหรียญสหรัฐซึ่งเป็นสกุลเงินสำรองของโลก หลายประเทศจึงพยายามหลีกเลี่ยงการใช้เงินดอลลาร์สหรัฐในการค้าระหว่างกัน ดังกรณีเช่น ผู้ค้าในเคนยาที่ซื้อข้าวโพดจากประเทศยูกันดา และประเทศแทนซาเนีย ไม่ได้ใช้เงินเหรียญสหรัฐเพื่อซื้อวัตถุดิบในช่วง ๕ เดือนที่ผ่านมา หลังจากก่อนหน้านี้ผู้ซื้อจากเคนยาจะซื้อข้าวโพดจากผู้ขายชาวยูกันดาด้วยสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ จากนั้นผู้ขายในยูกันดาจะแลกเปลี่ยนเป็นสกุลเงินท้องถิ่นยูกัน ทำให้ผู้ค้าเสี่ยงต่อการขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน ทำให้แนวทางนี้ อาจถือเป็นจุดเริมต้นให้ประเทศสมาชิกอื่นเริ่มนำไปใช้ได้ในอนาคต เพียงแต่ต้องมีการผลักดันในระดับภาครัฐและภาคการเงินการธนาคารในประเทศสมาชิกด้วย
ความเห็นของ สคต.
การใช้เงินสกุลท้องถิ่นทำการค้าระหว่างกันแทนที่จะใช้เงินเหรียญสหรัฐนั้น อาจเป็นแนวทางหนึ่งที่หลายประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการขาดแคลนเงินตราระหว่างประเทศหันมาใช้ได้ในอนาคต เพื่อลดการพึงพาเงินเหรียญสหรัฐ หรือลดบทบาทของเงินเหรียญสหรัฐในตะกร้าเงินของตนได้ ซึ่ง สคต. มองว่า น่าจะทำให้เกิดการค้าระหว่างประเทศในแอฟริกาตะวันออกได้ขยายตัวเร็วมากขึ้น อย่างไรก็ตาม การจะทำให้เห็นผลอย่างเป็นรูปธรรมยังเป็นความเสี่ยงที่จะต้องได้รับการยอมรับในวงกว้าง เพราะจะกระทบต่อภาวะการคลังของประเทศนั้น เนื่องจากประเทศในแอฟริกาส่วนใหญ่มีหนี้เป็นเงินสกุลเหรียญสหรัฐค่อนข้างมาก การที่จะดำเนินการนโยบายดังกล่าวได้โดยเร็วจำต้องอาศัยเวลา และความร่วมมืออย่างยิ่งระหว่างประเทศสมาชิก
ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ยังไม่มีข้อตกลงทางการค้ากับประเทศในแอฟริกา ดังนั้น หากทางหนึ่งที่ประเทศในแอฟริกาหันมาทำการค้าระหว่างกันมากขึ้น จะทำให้ไทยเสียตลาดสินค้าหลายชนิดให้กับประเทศในแอฟริกา แม้ในทางปฎิบัติประเทศในแอฟริกายังมีระดับการพัฒนาของภาคอุตสาหกรรมที่ช้ากว่าไทยถึง 15-20 ปีเลยทีเดียว แต่ไทยควรเริ่มมองหาโอกาสเข้ามาลงทุนในแอฟริกามากขึ้นในอนาคต เพื่อจะได้ทำการค้ากับประเทศในแอฟริกาในอนาคตมากขึ้นต่อไป นอกจากนั้น ภาครัฐควรมีการเร่งการเจรจาการค้ากับประเทศในแอฟริกา เพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขันของสินค้าไทยที่จะส่งออกมาประเทศในทวีปได้มากขึ้นต่อไปด้วย
ผู้ส่งออกที่สนใจข้อมูลเพิ่มเติมด้านการค้าและการลงทุนต่าง ๆ เกี่ยวประเทศเคนยา และประเทศในแอฟริกาตะวันออกเช่นในกรณีของรวันดาดังกล่าว ท่านสามารถติดต่อสอบถามได้ที่ E-mail: ของสำนักงานฯ ที่ info@ocanairobi.co.ke
ที่มา : The EastAfrican