สำนักงานศุลกากรจีนได้เปิดเผยว่าตั้งแต่เดือนมกราคม – เมษายน 2023 จีนมีมูลค่าการค้าระหว่างประเทศสูงถึง 13.32 ล้านล้านหยวน หรือประมาณ 66.60 ล้านล้านบาท เกินดุลการค้ากว่า 2 ล้านล้านหยวน หรือประมาณ 10 ล้านล้านบาท โดยในช่วง 4 เดือนแรกของปี ค.ศ. 2023 นี้ สามารถแบ่งกลุ่มมูลค่าการค้าระหว่างประเทศของแต่ละมณฑล/ เมืองออกเป็น 4 กลุ่ม ดังนี้ (อัตราแลกเปลี่ยน 1 หยวน เท่ากับ 5 บาท)
กลุ่มที่ 1 คือ มณฑลที่มีมูลค่าการค้าระหว่างประเทศ 1.5 ล้านล้านหยวนขึ้นไป (7.50 ล้านล้านบาท) มี 3 มณฑล ได้แก่ มณฑลกวางตุ้ง เจียงซู และเจ้อเจียง โดยในช่วง 4 เดือนแรกนี้ มณฑลกวางตุ้งมีมูลค่าการค้าระหว่างประเทศ 2.52 ล้านล้านหยวน (12.60 ล้านล้านบาท) เป็นอันดับ 1 ของประเทศ และเป็นเพียงมณฑลเดียวที่มีมูลค่าทะลุ 2 ล้านล้านหยวน โดยมีการส่งออกสูงถึงเกือบ 1.7 ล้านล้านหยวน (8.50 ล้านล้านบาท) เกินดุลการค้า 840,000 ล้านหยวน (4.2 ล้านล้านบาท)
ขณะที่มณฑลเจียงซู และมณฑลเจ้อเจียง ในช่วง 4 เดือนแรกนี้มีมูลค่าการค้าระหว่างประเทศ 1.62 ล้านล้านหยวน (8.10 ล้านล้านบาท) และ 1.56 ล้านล้านหยวน (7.80 ล้านล้านบาท) ตามลำดับ ซึ่งสูงเป็นอันดับที่ 2 และ 3 ของประเทศ และเกินดุลการค้ามูลค่ากว่า 500,000 ล้านหยวน (2.5 ล้านล้านบาท) และมากกว่า 750,000 ล้านหยวน (3.75 ล้านล้านบาท) ตามลำดับ โดยในที่นี้ มณฑลเจ้อเจียงมีมูลค่าการค้าระหว่างประเทศเกินดุลการค้าเป็นอันดับ 2 ของประเทศ
กลุ่มที่ 2 คือ มณฑลที่มีมูลค่าการค้าระหว่างประเทศระหว่าง 1 – 1.4 ล้านล้านหยวน (5 – 7 ล้านล้านบาท) มีทั้งสิ้น 3 มณฑล/ เมือง ซึ่งทั้ง 3 แห่งนี้ล้วนอยู่ในภาคตะวันออก โดยเมืองที่มีเศรษฐกิจแข็งแกร่ง 2 แห่ง ได้แก่ มหานครเซี่ยงไฮ้ และกรุงปักกิ่ง โดยในช่วง 4 เดือนแรกนี้ มียอดการค้าระหว่างประเทศมูลค่า 1.39 ล้านล้านหยวน (6.95 ล้านล้านบาท) และ 1.19 ล้านล้านหยวน (5.95 ล้านล้านบาท) ตามลำดับ สูงเป็นอันดับ 4 และ 5 ของประเทศ แต่อย่างไรก็ดี ทั้ง 2 เมืองขาดดุลการค้าเกือบ 800,000 ล้านหยวน (4 ล้านล้านบาท) และนับเป็นเมืองที่ขาดดุลการค้ามากที่สุดของจีน
ขณะที่มณฑลซานตงซึ่งเป็นเมืองเศรษฐกิจแข็งแกร่งเป็นอันดับ 3 ของกลุ่มนี้ ในช่วง 4 เดือนแรกนี้มีมูลค่าการค้าระหว่างประเทศ 1.03 ล้านล้านหยวน (5.15 ล้านล้านบาท) รั้งอันดับ 6 ของประเทศ แบ่งเป็นการส่งออกมูลค่า 621,400 ล้านหยวน (3.10 ล้านล้านบาท) และมีการนำเข้า 400,000 กว่าล้านหยวน (2 ล้านล้านบาท) เกินดุลการค้า 210,000 ล้านหยวน (1.05 ล้านล้านบาท)
กลุ่มที่ 3 กลุ่มนี้มีเพียงมณฑลเดียว ก็คือมณฑลฝูเจี้ยน โดยในช่วง 4 เดือนแรกนี้ มณฑลฝูเจี้ยนมีมูลค่าการค้าระหว่างประเทศ 639,430 ล้านหยวน (3.19 ล้านล้านบาท) สูงเป็นอันดับ 7 ของประเทศ
กลุ่มที่ 4 คือ มณฑลที่มีมูลค่าการค้าระหว่างประเทศระหว่าง 200,000 – 300,000 ล้านหยวน (1 – 1.5 ล้านล้านบาท) มีด้วยกัน 9 มณฑล/ เมือง แบ่งเป็นภาคตะวันออก 2 มณฑล/ เมือง ภาคกลาง 4 มณฑล และภาคตะวันตก 3 มณฑล/ เมือง
สำหรับภาคตะวันออก พบว่า มณฑลเสฉวนซึ่งเป็นมณฑลที่มีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 6 ของประเทศ ในช่วง 4 เดือนแรกนี้มีมูลค่าการค้าระหว่างประเทศ 309,410 ล้านหยวน (1.54 ล้านล้านบาท) เป็นมณฑลเดียวของกลุ่มนี้ที่มีมูลค่าการค้าระหว่างประเทศทะลุ 300,000 ล้านหยวน (1.5 ล้านล้านบาท) รั้งอันดับ 8 ของประเทศ โดยในช่วง 4 เดือนแรกนี้มณฑลเสฉวนมีการส่งออกมูลค่า 207,370 ล้านหยวน (1.03 ล้านล้านบาท) และมีการนำเข้ามูลค่า 102,040 ล้านหยวน (510,200 ล้านบาท) เกินดุลการค้า 105,330 ล้านหยวน (526,650 ล้านบาท)
สำหรับภาคกลาง 4 มณฑล ได้แก่ มณฑลเหอหนาน เจียงซี อันฮุย และหูหนาน พบว่า 4 เดือนแรกนี้มีมูลค่าการค้าระหว่างประเทศ 263,850 ล้านหยวน (1.31 ล้านล้านบาท) 254,480 ล้านหยวน (1.27 ล้านล้านบาท) 247,150 ล้านหยวน (1.23 ล้านล้านบาท) และ 243,650 ล้านหยวน (1.21 ล้านล้านบาท) ตามลำดับ รั้งเป็นอันดับ ที่ 9, 11, 13 และ 14 ของประเทศ ตามลำดับ
สำหรับภาคตะวันออก 2 มณฑล /เมือง ได้แก่ มณฑลเหลียวหนิง และมหานครเทียนจิน ในที่นี้มหานครเทียนจินมีมูลค่าการค้าระหว่างประเทศมูลค่า 258,500 ล้านหยวน (1.29 ล้านล้านบาท) เป็นรองมณฑลเหอหนาน โดยรั้งอันดับ 10 ของประเทศ ขณะที่มณฑลเหลียวหนิงมีมูลค่าการค้าระหว่างประเทศ 248,910 ล้านหยวน (1.24 ล้านล้านบาท) ซึ่งอยู่ตรงกลางระหว่างมณฑเจียงซี และมณฑลอันฮุย และสูงเป็นอันดับที่ 12 โดยถือเป็นมณฑลที่มีชายฝั่งทะเลที่ค่อนข้างพัฒนาสูง จึงทำให้มีมูลค่าการค้าระหว่างประเทศที่เติบโตได้เป็นอย่างดี
ขณะที่ภาคตะวันตกเฉียงใต้ ได้แก่ นครฉงชิ่ง และเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง ในช่วง 4 เดือนแรกนี้มีมูลค่าการค้าระหว่างประเทศ 236,950 ล้านหยวน (1.18 ล้านล้านบาท) และ 222,580 ล้านหยวน (1.11 ล้านล้านบาท) รั้งอันดับที่ 15 และ 16 ของประเทศตามลำดับ แต่อย่างไรก็ดี นครฉงชิ่งมีมูลค่าการส่งออกมีมูลค่าถึง 154,920 ล้านหยวน (774,600 ล้านบาท) ซึ่งเกินดุลการค้าเกือบ 73,000 ล้านหยวน (365,000 ล้านบาท)
ผลกระทบด้านเศรษฐกิจต่อประเทศไทย และแนวทางการปรับตัวของภาครัฐ ภาคเอกชน และผู้ประกอบการไทย
สถานการณ์การค้าระหว่างประเทศของจีนในช่วง 4 เดือนแรกนี้พบว่า มณฑลกวางตุ้ง เจ้อเจียง และเจียงซู มีมูลค่าการค้าระหว่างประเทศสูงอยู่ใน 3 อันดับแรกของประเทศ และมีมูลค่าเกิน 1 ล้านล้านหยวน ขณะที่เมืองเศรษฐกิจที่สำคัญของจีนอย่างมหานครเซี่ยงไฮ้และกรุงปักกิ่งขาดดุลการค้าค่อนข้างสูงโดยมหานครเซี่ยงไฮ้ขาดดุลการค้าถึง 270,000 ล้านหยวน (1.35 ล้านล้านหยวน) และกรุงปักกิ่งขาดดุลเกือบ 800,000 ล้านหยวน (4 ล้านล้านหยวน) ซึ่งน่าจะมีผลสืบเนื่องมาจากการที่ตั้งแต่ช่วงต้นปี ค.ศ. 2023 เป็นต้นมา เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำในยุโรปและสหรัฐอเมริกา ส่งผลให้การบริโภคมีความซบเซา และส่งผลกระทบอย่างมากต่อการค้าระหว่างประเทศของประเทศต่างๆ รวมถึงจีนในฐานะที่เป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ก็ได้รับผลกระทบจากความไม่มีเสถียรภาพทางเศรษฐกิจดังกล่าว อย่างไรก็ตาม แม้ว่าตั้งแต่เดือนมีนาคม 2023 เป็นต้นมา ตัวเลขการส่งออกของจีนจะปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ แต่ยังคงต้องติดตามทิศทางการค้าระหว่างประเทศของจีนอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจภายในประเทศของจีนยังคงมีความผันผวน ประกอบกับจีนเป็นคู่ค้าอันดับต้นๆ ของไทย ซึ่งหากสถานการณ์การค้าระหว่างประเทศของจีนมีแนวโน้มดีขึ้นหรือลดลงอย่างไรแล้ว ก็จะส่งผลกระทบต่อการค้าระหว่างประเทศของไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเมื่อพิจารณาในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ พบว่าจีนนำเข้าสินค้าจากไทย ลดลงร้อยละ 10.90 (YoY) และมีการส่งออกไปยังไทยขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.60 (YoY) ทำให้จีนเกินดุลการค้ากับไทยกว่า 10,000 ล้านเหรียญสหรัฐ แสดงให้เห็นว่าไทยยังคงต้องปรับตัวและเร่งใช้ประโยชน์จากความร่วมมือและข้อตกลงทางการค้าต่างๆ ในการแย่งส่วนแบ่งตลาดส่งออกที่สำคัญของจีนอย่างเร่งด่วนต่อไป พร้อมกันนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและผู้ประกอบการไทยยังคงต้องติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์การค้าระหว่างประเทศ กฎระเบียบการค้า และนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของจีนอย่างใกล้ชิด เพื่อให้สามารถวางแผนและปรับกลยุทธ์ทางการค้าระหว่างประเทศกับจีนที่เหมาะสมกับแต่ละมณฑล/ เมืองได้อย่างทันท่วงที
แหล่งที่มา: https://baijiahao.baidu.com/s?id=1767484042944290127&wfr=spider&for=pc
青島海外貿易促進事務所