เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา นาย Grant Robertson รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังนิวซีแลนด์ได้ให้สัมภาษณ์ถึง ภาพรวมเศรษฐกิจนิวซีแลนด์ในปีงบประมาณต่อไป (ก.ค. 66 – มิ.ย. 67) ว่า นิวซีแลนด์จะประสบภาวะขาดดุลงบประมาณสูงกว่าที่ได้คาดการณ์ไว้ เนื่องจากในรอบปีที่ผ่านมา นิวซีแลนด์ประสบปัญหาเศรษฐกิจชะลอตัว และนิวซีแลนด์ได้รับความเสียหายอย่างมากจากภัยธรรมชาติ (อาทิ พายุไต้ฝุ่น และน้ำท่วม) ซึ่งรัฐบาลนิวซีแลนด์ได้ทุ่มงบประมาณจำนวนหลายพันล้านเหรียญนิวซีแลนด์เพื่อซ่อมแซ่ม/ฟื้นฟูโครงสร้างพื้นที่ฐานต่างๆ ของประเทศที่ได้รับความเสียหายจากภัยธรรมชาติ (คาดการณ์ความเสียหายประมาณ 9-14.5 พันล้านเหรียญนิวซีแลนด์) ในขณะที่การจัดเก็บภาษีเพื่อนำมาใช้บริหารประเทศจัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้าหมาย (Lower tax take) จึงอาจทำให้แผนงานต่างๆ ในการพัฒนาประเทศของรัฐบาลไม่เป็นไปตามเป้า
นอกจากนี้ เศรษฐกิจนิวซีแลนด์ยังได้รับผลกระทบจากปัจจัยภายนอก คือ ความผันผวนของเศรษฐกิจโลก ที่ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อของนิวซีแลนด์ในปีที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 30 ปี โดยปัจจุบันอยู่ที่ร้อยละ 6.7 (ราคาอาหารเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.5) และอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นส่งผลให้ค่าครองชีพของชาวนิวซีแลนด์สูงขึ้น
ปี 2566 รัฐบาลจะมียอดงบประมาณขาดดุลเพิ่มขึ้นจากที่คาดการณ์ไว้ 3.63 เป็น 6.96 พันล้านเหรียญนิวซีแลนด์ (153.12 พันล้านบาท) และจะประสบภาวะขาดดุลไปจนถึงปี 2569 คาดว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจนิวซีแลนด์ปี 2566 (1 ก.ค.65 -30 มิ.ย.66) จะขยายตัวร้อยละ 3.2 จากการฟื้นตัวของภาคบริการท่องเที่ยว/ตลาดแรงงานและการเติบโตของค่าจ้างแรงงานที่เพิ่มขึ้น
ปี 2567 คาดว่า เศรษฐกิจนิวซีแลนด์จะหดตัวลงที่ร้อยละ 2.2 การใช้จ่ายภาครัฐในอีก 3 ปีข้างหน้าจะลดลงร้อยละ 5 อัตราการว่างงานจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.3 คาดว่า อัตราเงินเฟ้อจะลดลงต่อเนื่องและกลับเข้าสู่ระดับที่ธนาคารกลางกำหนดไว้ (ไม่เกินร้อยละ 1-3) ภายในสิ้นปี 2567
นาย Chris Hipkins นายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์ตระหนักถึงปัญหาค่าครองชีพที่สูงขึ้นและภาครัฐต้องเร่งหาแนวทางแก้ไข โดยเน้นการดำเนินงานตามแผน “bread and butter issue” เพื่อลดแรงกดดันด้านค่าครองชีพ สวัสดิการด้านบริการสาธารณะ เร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังภัยธรรมชาติด้วยแผน National Resilience Plan ที่เน้นการฟื้นฟูเศรษฐกิจระยะยาว (ลงทุนในระบบโครงสร้างพื้นฐานและระบบโทรคมนาคม) ซึ่งจะเป็นนโยบายในการหาเสียงเลือกตั้งที่กำหนดขึ้นในวันที่ 14 ตุลาคม 2566 ต่อไป
………………………………………………………………………………………
シドニーの海外貿易促進オフィス
ที่มา :
www.beehive.govt.nz
www.reuters.com