เมื่อค่ำของวันที่ 9 เมษายน 2568 ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศระงับการจัดเก็บภาษีตอบโต้แบบเฉพาะประเทศ (Country-Specific-Reciprocal Tariffs) กับประเทศที่ประสานสหรัฐฯ เพื่อขอเจรจา รวม 75 ประเทศเป็นการชั่วคราวเป็นระยะเวลา 90 วัน ซึ่งมีผลบังคับใช้ในวันเดียวกันเวลา 00:01 น. ตามเวลามาตรฐานตะวันออกของสหรัฐฯ (Eastern Daylight Time – EDT) โดยยังคงเรียกเก็บภาษีตอบโต้ในอัตราที่ต่ำอย่างมีนัยสำคัญ (Substantially Lowered Reciprocal Tariff) ที่ร้อยละ 10 สำหรับประเทศคู่ค้าทั้งหมด ยกเว้นจีน เม็กซิโก และแคนาดา ซึ่งมีผลบังคับใช้ในทันทีในช่วงระยะเวลาการเจรจา โดยสหรัฐฯ ระบุว่าทุกประเทศจะต้องเจรจาแบบเฉพาะราย (Bespoke Negotiations) ซึ่งต้องใช้เวลา โดยประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประสงค์ที่จะมีส่วนร่วมโดยตรงในกระบวนการดังกล่าว จึงเป็นเหตุผลที่ต้องระงับการจัดเก็บภาษีเป็นการชั่วคราวเป็นระยะเวลา 90 วันดังกล่าว
ในวันที่ 10 เมษายน 2568 นาง Ursula Von De Leyen ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป แสดงท่าทียินดีต่อกรณีที่สหรัฐฯ ระงับการจัดเก็บภาษีชั่วคราว โดยระบุว่าภาษีศุลกากรคือภาษีที่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจและผู้บริโภคโดยตรง พร้อมย้ำถึงการสนับสนุนให้สหภาพยุโรปและสหรัฐฯ ร่วมกันเจรจาข้อตกลงยกเลิกภาษีซึ่งกันและกันระหว่างสหภาพยุโรปและสหรัฐฯ สำหรับสินค้าอุตสาหกรรม (Zero-for-Zero Tariff Agreement for Industrial Goods) นอกจากนี้ ประธานคณะกรรมาธิการยุโรปกล่าวว่า จะดำเนินการเจรจาอย่างสร้างสรรค์กับสหรัฐฯ ควบคู่ไปกับการเดินหน้ากระจายความสัมพันธ์ทางการค้า โดยให้ความสำคัญกับประเทศคู่ค้าอื่นๆ ที่มีสัดส่วนรวมกันกว่าร้อยละ 87 ของการค้าโลก ตลอดจนยืนยันค่านิยมในเรื่องการแลกเปลี่ยนสินค้า บริการ บนพื้นฐานแนวคิดการค้าอย่างเสรีและเปิดกว้าง โดยในช่วงบ่ายของวันที่ 10 เมษายน 2568 ประธานคณะกรรมาธิการยุโรปได้ออกแถลงการณ์อย่างเป็นทางการ รับทราบผลการตัดสินใจระงับการจัดเก็บภาษีตอบโต้ Country-Specific-Reciprocal Tariffs ของสหรัฐฯ โดยแจ้งความประสงค์ที่จะเจรจากับสหรัฐฯ และจะระงับมาตรการตอบโต้ที่จะมีผลใช้บังคับในวันที่ 15 เมษายน 2568 และ 15 พฤษภาคม 2568 ออกไป 90 วัน ทั้งนี้ หากการเจรจาไม่สำเร็จ สหภาพยุโรปจะพิจารณาใช้มาตรการตอบโต้กับสหรัฐฯ ในอนาคตอีกครั้ง โดยในระหว่างนี้ สหภาพยุโรปจะยังคงพิจารณามาตรการตอบโต้อื่นๆ เพิ่มเติมด้วย
ที่ผ่านมา สหภาพยุโรปพยายามเสนอแนวคิดเพื่อให้สหรัฐฯ ยอมรับการเจรจาข้อตกลง Zero-for-Zero Tariff Agreement for Industrial Goods เพื่อยกเลิกภาษีศุลกากรทั้งหมดสำหรับสินค้าประเภทอุตสาหกรรมระหว่างสหภาพยุโรปกับสหรัฐฯ โดยข้อเสนอนี้ครอบคลุมสินค้าหลายประเภท เช่น ยานยนต์ ยางล้อ พลาสติก ยาและเวชภัณฑ์ เคมีภัณฑ์ และเครื่องจักรกล ทั้งนี้ ข้อเสนอดังกล่าวเป็นหนึ่งในข้อเสนอที่คณะกรรมาธิการด้านการค้าและความมั่นคงทางเศรษฐกิจของสหภาพยุโรปได้เสนอต่อรัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์และผู้แทนการค้าสหรัฐฯ แล้วเมื่อกลางเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ณ กรุงวอชิงตัน ดีซี แต่เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2568 ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้ปฏิเสธข้อเสนอดังกล่าว โดยระบุว่ายังไม่เพียงพอ และเรียกร้องให้สหภาพยุโรปเพิ่มการนำเข้าพลังงานจากสหรัฐฯ มูลค่า 350 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อปรับสมดุลทางการค้า
บทวิเคราะห์และความเห็นของ สคต.
ที่ผ่านมา ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แสดงความไม่พอใจต่ออัตราภาษีนำเข้ารถยนต์ของสหภาพยุโรปที่อยู่ที่ร้อยละ 10 สูงกว่าอัตราภาษีของสหรัฐฯ ที่เรียกเก็บในอัตราร้อยละ 2.5 ถึงสี่เท่า เป็นผลให้สหรัฐฯ เรียกเก็บภาษีนำเข้าในอัตราร้อยละ 25 ต่อสินค้ารถยนต์ เหล็ก และอะลูมิเนียมนำเข้าจากยุโรป พร้อมทั้งขู่ว่าจะขยายการจัดเก็บภาษีนำเข้าเพิ่มเติมในภาคอุตสาหกรรมอื่นๆ เช่น ยา เซมิคอนดักเตอร์ และไม้แปรรูป อย่างไรก็ดี แม้ว่าสหภาพยุโรปจะมีอัตราภาษีนำเข้าสูงกว่าสหรัฐฯ ในบางสินค้า แต่ข้อมูลจากธนาคาร ING ของเนเธอร์แลนด์เปิดเผยข้อมูลอัตราภาษีนำเข้าเฉลี่ยของสหภาพยุโรปอยู่ที่ร้อยละ 3.5 ซึ่งต่ำกว่าอัตราภาษีนำเข้าเฉลี่ยของสหรัฐฯที่ร้อยละ 3.95
ทั้งนี้ ท่าทีของนาง Ursula Von De Leyen ในแถลงการณ์สะท้อนให้เห็นถึงความพยายามของสหภาพยุโรปที่จะโน้มน้าวให้สหรัฐฯ ร่วมเจรจาเพื่อพิจารณาหาทางออกร่วมกันเพื่อหลีกเลี่ยงมาตรการภาษีที่ทั้งสองฝ่ายจะใช้ตอบโต้กัน ซึ่งจะส่งผลกระทบเชิงลบต่อเศรษฐกิจ และบรรยากาศทางการค้าสินค้า บริการ การลงทุนระหว่างสองฝ่าย ในเบื้องต้น คาดว่าข้อเสนอที่อยู่ระหว่างการพิจารณาระหว่างสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกาจะประกอบด้วยข้อเสนอการยกเลิกภาษีศุลกากรสำหรับสินค้าอุตสาหกรรมระหว่างกัน (Zero-for-Zero Tariffs) ร่วมกับข้อเสนอเพิ่มเติมจากฝ่ายสหรัฐฯ ที่ต้องการให้สหภาพยุโรปเพิ่มการจัดซื้อพลังงานจากสหรัฐฯ เพื่อสร้างสมดุลทางผลประโยชน์และลดการขาดดุลการค้าสินค้าของสหรัฐฯ รวมถึงสนับสนุนให้สหรัฐฯ ได้รับประโยชน์สูงสุดจากการจัดทำข้อตกลงดังกล่าว
ハーグ国際貿易促進局