อินเดียในฐานะศูนย์กลางการส่งออกเชิงกลยุทธ์ ท่ามกลางความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ-จีน

ภูมิทัศน์การค้าโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงด้วยแรงกดดันจากความตึงเครียดทางสถานการณ์ภูมิรัฐศาสตร์ โดยเฉพาะข้อขัดแย้งทางเศรษฐกิจระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน ได้เร่งบริบททางเศรษฐกิจให้เกิดการปรับโครงสร้างห่วงโซ่อุปทานทั่วโลกใหม่ สหรัฐอเมริกากำลังออกมาตรการจัดเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากจีนในอัตราสูง (ประมาณ 245%) เพื่อจำกัดการพึ่งพาและปกป้องอุตสาหกรรมเชิงยุทธศาสตร์ ซึ่งชี้ให้เห็นถึงนัยสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ เช่น บริษัทจีนจำนวนมากเริ่มมองหาทางเลือกและฐานการผลิตใหม่ เพื่อรักษาการเข้าถึงตลาดโลก โดยเฉพาะตลาดสหรัฐฯ

อินเดียได้กลายเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจ ด้วยฐานการผลิตที่แข็งแกร่ง ประชากรในวัยทำงานจำนวนมาก และนโยบายการปฏิรูปที่ก้าวหน้า ประเทศนี้จึงได้รับการจับตามองมากขึ้นในฐานะศูนย์กลางการผลิตและการส่งออกที่มีศักยภาพ กลยุทธ์ “China+1” ซึ่งเดิมทีมุ่งเน้นไปยังเศรษฐกิจในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น เวียดนามและไทย บัดนี้เริ่มเบนเข็มมาทางอินเดียอย่างชัดเจน ด้วยข้อได้เปรียบของตลาดภายในประเทศขนาดใหญ่ การดำเนินธุรกิจที่ง่ายขึ้น และมาตรการอำนวยความสะดวกทางการค้า

 อินเดียในฐานะศูนย์กลางการส่งออกเชิงกลยุทธ์ ท่ามกลางความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ-จีน
ในช่วงปี 2543–2553 การส่งออกของอินเดียไปยังสหรัฐอเมริกายังอยู่ในระดับต่ำ เพียงประมาณ 10–12 พันล้านเหรียญสหรัฐต่อปี โดยการค้าระหว่างสองประเทศส่วนใหญ่กว่า 60% เป็นภาคบริการ เช่น IT และการจ้างงานแบบ Business Process Outsourcing (BPO) ขณะที่การค้าสินค้าถูกจำกัดด้วยอัตราภาษีและข้อกำหนดด้านกฎระเบียบ อย่างไรก็ตาม ในช่วงปี 2558–2567 อินเดียมีพัฒนาการด้านการค้ากับสหรัฐฯ อย่างก้าวกระโดด โดยในปีงบประมาณ 2567–68 การส่งออกของอินเดียไปยังสหรัฐฯ พุ่งทะลุ 78 พันล้านเหรียญสหรัฐ ทำให้สหรัฐฯ กลายเป็นจุดหมายปลายทางการส่งออกอันดับ 1 ของอินเดีย สินค้าส่งออกหลัก ได้แก่ ยาและเวชภัณฑ์ (8.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ) เสื้อผ้าและสิ่งทอ (9.2) อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องจักร (มากกว่า 12) และอัญมณี (10.1) ส่งผลให้อินเดียมีดุลการค้ารวมเกินดุลกับสหรัฐฯ แม้จะยังมีประเด็นถกเถียงในบางด้าน เช่น การแปลข้อมูลเชิงสถิติและภาษีดิจิทัลก็ตาม

ข้อมูลเพิ่มเติม
1. ในช่วงที่บริษัทจากจีนประสบปัญหาในการเข้าถึงตลาดสหรัฐฯ โดยตรง องค์กรผู้ส่งออกของอินเดีย (Federation of Indian Export Organisations :FIEO) รายงานว่าผู้ประกอบการจีนหลายรายได้เริ่มหันมามองหาความร่วมมือด้านการผลิตในอินเดียแทน ซึ่งคาดว่าการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวอาจเพิ่มมูลค่าการส่งออกของอินเดียได้ถึง 25 พันล้านเหรียญสหรัฐภายในระยะเวลา 3 ปีข้างหน้า บริษัทจีนรายใหญ่ เช่น Haier ได้เริ่มปรับโครงสร้างการดำเนินงาน ขณะที่ภาคเอกชนรายใหญ่ของอินเดีย เช่น Reliance ก็กำลังอยู่ในระหว่างการเจรจาเพื่อร่วมลงทุนกับพันธมิตรจีนในภาคการผลิต โดยทั้งหมดนี้สะท้อนให้เห็นถึงแนวโน้มที่อินเดียกำลังกลายเป็นศูนย์กลางทางเลือกเชิงยุทธศาสตร์ในห่วงโซ่อุปทานระดับโลก
2. อินเดียได้รับความสนใจในฐานะตลาดทดแทนจีนในช่วงที่สหรัฐฯ เพิ่มภาษีนำเข้าสินค้าจากจีน โดยมีอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพ ได้แก่
2.1 อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์: อินเดียได้รับประโยชน์จากการย้ายฐานการผลิตของบริษัทต่างชาติที่ต้องการหลีกเลี่ยงภาษีจากจีน โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งมีการเติบโตสูง โดยในปีงบประมาณ 2023–24 มีมูลค่าการส่งออกถึง 29.12 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 23.6% จากปีก่อนหน้า
2.2 อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม: แม้อุตสาหกรรมสิ่งทอจะได้รับผลกระทบจากการขึ้นภาษี แต่การที่สหรัฐฯ หันมาพิจารณาแหล่งนำเข้าสินค้าจากประเทศอื่น ทำให้อินเดียมีโอกาสขยายตลาดในอุตสาหกรรมนี้
2.3 อุตสาหกรรมยาและเวชภัณฑ์: อินเดียเป็นผู้ผลิตยารายใหญ่ของโลก การส่งออกขยายตัว 31.21% (เทียบปีก่อนหน้า) การที่สหรัฐฯ ต้องการลดการพึ่งพาจีนในห่วงโซ่อุปทานด้านยา ทำให้อินเดียกลายเป็นแหล่งนำเข้าทางเลือกที่สำคัญ ทั้งนี้ อินเดียเป็นผู้ส่งออกยาสามัญรายใหญ่ที่สุดไปยังสหรัฐฯ โดยมีส่วนแบ่งตลาดที่สำคัญในอุตสาหกรรมนี้ ประมาณ 10% ของมูลค่านำเข้าสินค้าจากอินเดียทั้งหมด
2.4 อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ: อินเดียมีชื่อเสียงด้านการเจียระไนเพชรและอัญมณี รวมถึงการผลิตเครื่องประดับที่มีความประณีต การที่สหรัฐฯ เพิ่มภาษีสินค้าจากจีน ทำให้ผู้นำเข้าในสหรัฐฯ อาจหันมาพิจารณาอินเดียเป็นแหล่งนำเข้าใหม่ในอุตสาหกรรมนี้
2.5 อุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT) และบริการ: แม้จะไม่ใช่ภาคการผลิต แต่บริการด้าน IT และ BPO ของอินเดียยังคงเป็นที่ต้องการสูงจากบริษัทสหรัฐฯ โดยเฉพาะในช่วงที่มีความไม่แน่นอนทางการค้า อินเดียสามารถให้บริการที่มีคุณภาพในราคาที่แข่งขันได้ ช่วยให้บริษัทสหรัฐฯ ลดต้นทุนและความเสี่ยงจากการพึ่งพาจีน
ความท้าทาย
ภาคอุตสาหกรรมส่งออกของอินเดียกำลังเผชิญความท้าทายหลายด้าน ทั้งจากการขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ ที่กระทบโดยตรงต่อภาคอุตสาหกรรม เช่น กลุ่มอัญมณีและเครื่องประดับ โดยคาดว่าอาจทำให้ปริมาณการส่งออกเพชรลดลง 30-50% เนื่องจากต้นทุนเพิ่มขึ้น ความไม่สมดุลทางการค้าที่ขยายตัวต่อเนื่อง โดยขาดดุลการค้าสินค้าสะสมสูงถึง 282.83 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2567 สะท้อนถึงการพึ่งพาการส่งออกสินค้าจำนวนไม่กี่ชนิด เช่น อิเล็กทรอนิกส์ ยา และอัญมณี ซึ่งเสี่ยงต่อความผันผวนของตลาดโลก รวมถึงข้อจำกัดด้านโครงสร้างภายในประเทศ เช่น กฎหมายแรงงานที่เข้มงวด ระบบโลจิสติกส์ที่ไม่เอื้ออำนวย และแรงงานสตรีมีเพียง 32.8% นอกจากนี้ การแข่งขันทางเทคโนโลยีกับประเทศผู้นำอย่างจีนในอุตสาหกรรมบริการไอทีและปัญญาประดิษฐ์ (AI) ก็เป็นอุปสรรคสำคัญ เนื่องจากอินเดียมีบุคลากร AI เพียง 5% ของโลก ขณะที่จีนมีถึง 47% รัฐบาลอินเดียจึงต้องเร่งปรับกลยุทธ์ทั้งการเจรจาทางการค้าเพื่อลดภาษี การปฏิรูปโครงสร้างพื้นฐาน และการยกระดับทักษะแรงงานเพื่อสร้างความยั่งยืนให้ภาคอุตสาหกรรม
ข้อคิดเห็น
ยุทธศาสตร์ “China+1” อาจสร้างโอกาสให้อินเดียก้าวขึ้นเป็นฐานการผลิตระดับโลก โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีและยา แม้ต้องเผชิญความท้าทายด้านต้นทุนและโครงสร้างพื้นฐาน แต่การปฏิรูปนโยบายและความร่วมมือกับจีนในการลดขาดดุลการค้าจะเป็นกุญแจสำคัญต่อความสำเร็จในระยะยาว รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างห่วงโซ่อุปทานโลกที่เปลี่ยนแปลงทิศทางจากจีนสู่อินเดียจะก่อให้เกิดโอกาสเชิงกลยุทธ์สำหรับผู้ส่งออกไทย โดยไทยสามารถใช้ประโยชน์จากการร่วมมือกับผู้ผลิตในรูปแบบ OEM ของอินเดียในการผลิตหรือประกอบสินค้าเพื่อส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯได้ เช่น การส่งออกชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์จากไทยไปประกอบในอินเดียก่อนส่งต่อไปยังสหรัฐฯ อีกทั้งยังสามารถใช้ท่าเรือสำคัญของอินเดีย (มุมไบ วิสาขาปัตนัม เจนไน) เป็นจุดกระจายสินค้าโดยมีการเพิ่มมูลค่าหรือบรรจุภัณฑ์เพิ่มเติม ทั้งนี้ โครงสร้างภาษีที่เอื้ออำนวยและการเจรจาเขตการค้าเสรี (FTA) ระหว่างอินเดียกับสหรัฐฯ จะช่วยเสริมให้อินเดียกลายเป็นฐานส่งออกสำคัญสำหรับแบรนด์ไทย ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยควรเริ่มดำเนินการเชิงรุกในการสร้างเครือข่าย B2B กับผู้ผลิตในอินเดีย และประสานงานกับองค์กรส่งออกอินเดีย เช่น FIEO, Engineering Exports Promotion Council (EEPC) และ ASSOCHAM เพื่อสนับสนุนการเข้าสู่ตลาดอย่างมีประสิทธิภาพ

ที่มา:1- https://economictimes.indiatimes.com/news/economy/foreign-trade/high-us-tariffs-pushing-chinese-exporters-to-tap-indian-firms-for-shipments-to-america-fieo/articleshow/120701658.cms
https://economictimes.indiatimes.com/news/company/corporate-trends/thanks-to-trump-chinese-firms-are-warming-up-to-india-reliance-likely-enters-race-for-haier-stake/articleshow/120691611.cms?from=mdr

en_USEnglish