ไต้หวันเตรียมพร้อมข้อเสนอเพื่อเจรจากับสหรัฐฯ หลังทรัมป์ชะลอจัดเก็บภาษี 90 วัน

เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2568 ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ ได้ประกาศชะลอการจัดเก็บภาษีตอบโต้สินค้านำเข้าจาก 75 ประเทศ/พื้นที่ทั่วโลกชั่วคราวเป็นระยะเวลา 90 วัน โดยจะยังคงจัดเก็บภาษีนำเข้าในอัตรา 10% จากทุกประเทศยกเว้นจีน ที่มีการตอบโต้สหรัฐฯ โดยให้ประเทศต่างๆ เข้ามาเจรจากับสหรัฐฯ ซึ่งจะช่วยลดแรงกดดันจากสงครามการค้าที่มีต่อหลายประเทศ แต่การตอบโต้กันไปมาระหว่างสหรัฐฯ กับจีน ทำให้ความตึงเครียดทางการค้าระหว่างสองมหาอำนาจเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ

ในช่วงก่อนหน้านี้ รัฐบาลไต้หวันเพิ่งประกาศอัดฉีดงบประมาณรวม 88,000 ล้านบาท ครอบคลุม 9 ด้านหลัก ทั้งในภาคอุตสาหกรรม เกษตรกรรม และการจ้างงาน เพื่อช่วยเหลือภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากความเสี่ยงระยะสั้นของภาษีนำเข้าและความท้าทายในการปรับโครงสร้างระยะกลางถึงยาว โดยนโยบาย 6 ด้านหลักสำหรับภาคอุตสาหกรรม งบประมาณ 70,000 ล้านบาท ได้แก่ สนับสนุนทางการเงินและประกันการส่งออก (ลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้, อุดหนุนประกันการส่งออก, เพิ่มการค้ำประกัน) ลดขั้นตอนทางราชการ (ยกเว้นเอกสารรายการบรรจุสินค้าสำหรับการส่งออก, ขยายการตรวจสอบจากทางไกล) สนับสนุนการเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรม (อุดหนุนด้านการวิจัยและพัฒนา, สนับสนุนการเปลี่ยนผ่านสู่การผลิตอัจฉริยะ) ขยายตลาดต่างประเทศ (สนับสนุนการเข้าร่วมงานแสดงสินค้า, จัดตั้งสำนักงานในต่างประเทศ) ลดภาษี (หักลดหย่อนภาษีจากค่าใช้จ่ายด้านวิจัยและพัฒนาและการซื้อเครื่องจักร) รักษาเสถียรภาพในตลาดแรงงาน (ส่งเสริมการจ้างงานในกลุ่มแรงงานรุ่นใหม่ รวมถึงกลุ่มแรงงานสูงอายุที่กลับเข้าสู่ตลาดแรงงานอีกครั้ง และเข้าเยี่ยมพบผู้ประกอบการในเชิงรุก) ในส่วนของภาคการเกษตร รัฐบาลไต้หวันยังมีมาตรการให้ความช่วยเหลือด้วยงบประมาณ 18,000 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนด้านการเงิน (อุดหนุนอัตราดอกเบี้ยเงินกู้เพื่อเกษตรกร) ยกระดับเกษตรกร (พัฒนาระบบห่วงโซ่ความเย็น, สนับสนุนการขอใบรับรอง และเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์) รวมถึงขยายตลาดทั้งในและต่างประเทศ (ส่งเสริมการขายในไต้หวัน, หาตลาดใหม่เพื่อส่งออกไปยังต่างประเทศ)

ทั้งนี้ หลังการประกาศชะลอการจัดเก็บภาษีของสหรัฐฯ นายหลินเจียหลง รัฐมนตรีต่างประเทศไต้หวันยืนยันว่า ไต้หวันจะเดินหน้าเจรจากับสำนักงานการค้าสหรัฐฯ ในกรุงวอชิงตัน เพื่อผลักดันให้ได้รับการยกเว้นภาษีอย่างถาวร แม้จะได้รับการลดหย่อนภาษีชั่วคราว แต่ภาคอุตสาหกรรมของไต้หวันยังเผชิญแรงกดดันจากความไม่แน่นอนในระยะยาว โดยถือว่าช่วงเวลา 90 วันของการสังเกตการณ์นี้ เป็นโอกาสในการยกระดับความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและการค้าระหว่างไต้หวัน-สหรัฐฯ ไม่ใช่เพียงการตั้งรับ แต่เป็นการวางยุทธศาสตร์เชิงรุก โดยจะมุ่งเน้นใน 4 ด้านหลัก ได้แก่ 1) ส่งเสริมการยกเลิกภาษีนำเข้าและขจัดอุปสรรคทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี โดยเริ่มจากการเจรจาเชิงโครงสร้างเพื่อขอรับการยกเว้นภาษีมากขึ้น 2) เสริมสร้างความร่วมมือในการจัดซื้อพลังงานและสินค้าเกษตร เช่น การลงนามในหนังสือแสดงเจตจำนงด้านความร่วมมือในการสำรวจแหล่งก๊าซธรรมชาติในอลาสการะหว่างบริษัทน้ำมันแห่งไต้หวัน (CPC) กับคู่ค้าสหรัฐฯ ซึ่งมีนัยทั้งทางยุทธศาสตร์และเศรษฐกิจ 3) บูรณาการทรัพยากรด้านเทคโนโลยีและการลงทุนในอุตสาหกรรม โดยผนึกกำลังระหว่าง “ทีมไต้หวัน + ทีมสหรัฐฯ” เพื่อร่วมกันรุกตลาดโลก และสร้างเครือข่ายห่วงโซ่อุปทานที่มั่นคง และ 4) ใช้การเจรจาเพื่อสร้างผลลัพธ์แบบได้ผลประโยชน์ร่วมกัน โดยขอให้สหรัฐฯ ให้ความยืดหยุ่นหรือผ่อนปรนการบังคับใช้นโยบายที่เกี่ยวข้อง เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อภาคอุตสาหกรรมของทั้งสองฝ่าย นอกจากนี้ ไต้หวันเห็นว่า การที่ไต้หวันได้ลงทุนในสหรัฐฯ คิดเป็นมูลค่าสะสมรวมมากกว่า 1 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ และสร้างงานมากกว่า 400,000 ตำแหน่ง ถือเป็นแต้มต่อสำคัญในการเจรจา เป้าหมายในอนาคตไม่ใช่เพียงบรรเทาวิกฤตภาษีครั้งนี้เท่านั้น แต่ยังรวมถึงการใช้โอกาสนี้ในการเสริมสร้างความร่วมมือตั้งแต่ระดับรากฐานเพื่อพัฒนากลไกทางเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรมในระยะยาว และยกระดับสถานะเชิงยุทธศาสตร์ของไต้หวันในห่วงโซ่อุปทานระดับโลกด้วย

นอกจากนี้ นายกัวจื้อฮุย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจไต้หวัน ยังชี้ว่า ไต้หวันเตรียมเสนอแผนจัดซื้อสินค้าจากสหรัฐฯ เพิ่มเติม มูลค่า 200,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ตลอดช่วง 10 ปีข้างหน้า เพื่อลดการได้ดุลการค้าจากสหรัฐฯ และอยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับจำนวนเงินที่ภาคเอกชนจะนำไปใช้ในการจัดซื้อสินค้าจากสหรัฐฯ ซึ่งหากสามารถรวบรวมข้อมูลเหล่านี้ได้ครบถ้วน ก็อาจช่วยเพิ่มแรงจูงใจให้สหรัฐฯ ยอมเจรจากับไต้หวันเร็วขึ้นด้วย

ที่มา: TVBS / Taipei Times / CNA / EDN  (9 – 11 April 2025)

ข้อเสนอแนะ/ความคิดเห็นของ สคต.

การประกาศชะลอการจัดเก็บภาษีตอบโต้รายประเทศจากสินค้านำเข้าของสหรัฐฯ ทำให้หลายประเทศเร่งใช้โอกาสนี้ในการเจรจากับสหรัฐฯ เพื่อป้องกันผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับการส่งออก ไต้หวันซึ่งมีจุดแข็งด้านการผลิตเซมิคอนดัคเตอร์ขั้นสูง จึงใช้ข้อได้เปรียบนี้ในการเสนอแนวทางการร่วมมือกับสหรัฐฯ ในการจัดตั้งห่วงโซ่อุปทานขึ้นใหม่ที่ไม่มีจีน ซึ่งหากประสพผลสำเร็จ ในขณะที่จีนและสหรัฐฯ ยังคงภาษีระดับสูงระหว่างกัน จะทำให้โครงสร้างเครือข่ายการผลิตของโลกเปลี่ยนไปอย่างมาก โดยแบ่งเป็นสองขั้วที่ชัดเจน ภูมิภาคอาเซียนถือเป็นเขตเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่สำคัญ ที่หลายประเทศใช้การลงทุนในประเทศอาเซียนเป็นแนวทางในการหลีกเลี่ยงปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์มาโดยตลอด หากกลุ่มประเทศอาเซียนสามารถรวมตัวกันในการเจรจากับทั้งสหรัฐฯ และจีน ก็จะทำให้มีอำนาจต่อรองเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก

en_USEnglish