ปี 2568 ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา สหรัฐอเมริกาประกาศเรียกเก็บภาษีสินค้าเหล็กและอะลูมิเนียมร้อยละ 25 เริ่มมีผลตั้งแต่ 12 มีนาคม 2568 เพื่อปกป้องอุตสาหกรรมผลิตของสหรัฐฯโดยเฉพาะอุตสาหกรรมอะลูมิเนียม แม้ว่าสหรัฐฯจะได้ดุลการค้าออสเตรเลีย และในช่วงปลายเดือนมีนาคม 2568 สหรัฐฯประกาศเรียกเก็บภาษีสินค้ารถยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ที่ส่งออกไปยังสหรัฐฯในอัตราตั้งแต่ร้อยละ 2.5- 25 เพิ่มเติมจากภาษีศุลกากรเดิมจากทุกประเทศ มีผลตั้งแต่วันที่ 2 เมษายน 2568 (เลื่อนภาษีชิ้นส่วนยานยนต์ไปไม่เกิน 3 พฤษภาคม 2568)
ล่าสุด นายโดนัล ทรัมป์ประธานาธิบดีสหรัฐฯ เคลื่อนไหวครั้งใหญ่ในการเรียกเก็บภาษีนำเข้าทั่วโลกและกระทบต่อการส่งออกออสเตรเลียโดยตรง โดยเรียกเก็บภาษีศุลกากรร้อยละ 10 กับสินค้าทุกประเภทที่ออสเตรเลียส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกามีผลตั้งแต่วันที่ 5 เมษายน 2568 โดยอัตราภาษีร้อยละ 10 ที่เรียกเก็บกับสินค้าออสเตรเลียถือว่าเป็นอัตราต่ำสุดหรืออัตรา “พื้นฐาน” เมื่อเทียบกับอัตราภาษีศุลกากรที่สหรัฐฯเรียกเก็บจากประเทศคู่ค้าอื่นๆ ในอัตราที่แตกต่างกันเช่น เวียดนามถูกเรียกเก็บภาษีร้อยละ 46 จีนร้อยละ 34 สหภาพยุโรปร้อยละ 20 เกาหลีใต้ร้อยละ 25 ญี่ปุ่นร้อยละ 24 อินเดียร้อยละ 26 และไทยร้อยละ 36
ภาษีศุลกากรร้อยละ 10 ส่งผลต่อสินค้าส่งออกเนื้อวัวออสเตรเลียโดยตรง ด้วยเหตุผลด้านความไม่ยุติธรรมที่ออสเตรเลียห้ามนำเข้าเนื้อวัวสหรัฐฯ (จากมาตรการป้องกันโรควัวบ้า) ในขณะที่ปี 2567 ออสเตรเลียส่งออกผลิตภัณฑ์เนื้อวัวไปยังสหรัฐฯ มูลค่า 4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ หากพิจารณาสิทธิประโยชน์ภายใต้ข้อตกลงการค้าเสรีออสเตรเลีย-สหรัฐอเมริกา (AUSFTA) ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2005 พบว่าสินค้าส่งออกแม้ว่าจะเป็นสินค้าปลอดภาษี แต่ยังมีมาตรการอื่นๆที่ไม่ใช่ภาษีซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการส่งออกเนื้อสัตว์ของสหรัฐฯ มาโดยตลอด การเรียกเก็บภาษีศุลกากรร้อยละ 10 ของสหรัฐอเมริกาในครั้งนี้ จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อขจัดอุปสรรคทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี รวมถึงคืนความเท่าเทียมและสมดุลทางการค้าของสหรัฐฯกับประเทศคู่ค้า ซึ่งสหรัฐฯมองว่าถูก “เอาเปรียบ” ทั้งจากประเทศพันธมิตรและคู่แข่ง
แนวทางในการรับมือของออสเตรเลียในเบื้องต้นนั้น นาย Anthony Albanese นายกรัฐมนตรีออสเตรเลียจะไม่ใช้มาตรการตอบโต้ด้านภาษีกับสหรัฐฯแต่จะเน้นการเจรจาต่อรองในทุกช่องทาง ซึ่งรวมถึงการใช้กลไกระงับข้อพิพาท (Dispute resolution) ภายใต้ข้อตกลงการค้าเสรีออสเตรเลีย-สหรัฐฯ เกี่ยวกับการละเมิดต่อข้อตกลงการค้าเสรีระหว่างออสเตรเลียและสหรัฐอเมริกาบนเวทีองค์การการค้าโลก (World Trade Organization) และยืนยันจะไม่ผ่อนปรนระเบียบความเข้มงวดของกฎหมายความปลอดภัยทางชีวภาพออสเตรเลีย (Biosecurity laws) และ Pharmaceutical Benefits Scheme ของออสเตรเลีย
นอกจากนี้ รัฐบาลออสเตรเลียได้ประกาศเงินทุนสนับสนุนฉุกเฉินมูลค่า 50 ล้านเหรียญเตรเลียสำหรับอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบ และเพิ่มความเข้มงวดในมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดสินค้าเหล็ก (Anti-dumping) รวมถึงการริเริ่มโครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจ “Economic resilience program” โดยเสนอเงินกู้ปลอดดอกเบี้ยมูลค่า 1 พันล้านเหรียญออสเตรเลียเพื่อช่วยเหลือภาคธุรกิจในการพัฒนาสินค้า/ผลิตภัณฑ์เพื่อสร้างโอกาสในการส่งออกและแสวงหาตลาดใหม่ๆ (เช่น จีน ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้) ตลอดจนกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐจะให้ความสำคัญกับธุรกิจออสเตรเลียเป็นอันดับแรก
มาตรการภาษีของสหรัฐฯในครั้งนี้ สร้างความปั่นป่วนในตลาดการเงินและระบบการค้าโลกซึ่งส่งผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อเศรษฐกิจออสเตรเลีย โดยผลกระทบทางตรงเกี่ยวกับภาษีร้อยละ 10 ที่จะมีผลในวันที่ 5 เมษายน 2568 นั้น กระทรวงการคลังออสเตรเลียประมาณการว่า ออสเตรเลียจะได้รับ ผลกระทบโดยตรงต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจออสเตรเลียเพียงเล็กน้อย คิดเป็นร้อยละ 1 ของ GDP (แม้ว่าสหรัฐฯจะนำเข้าเนื้อวัวจากออสเตรเลียมากที่สุดแต่สัดส่วนการส่งออกเนื้อวัวมีเพียงร้อยละ 5 ของการส่งออกสินค้าทั้งหมดซึ่งสินค้าส่งออกหลักออสเตรเลียส่วนใหญ่เป็นสินค้าพลังงานที่จำเป็น) แต่มีความกังวลต่อผลกระทบทางอ้อมที่เกิดจากสงครามการค้าทั่วโลกที่จะส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานในภาคการผลิตออสเตรเลียในระยะยาว
…………………………………………………………………………………………….
Royal Thai Consulate General, Commercial Office (Thai Trade Center) - Sydney
ที่มา:
www.smh.com.au
www.abc.net.au
www. www.businessnewsaustralia.com