Dutch SDG Barometer 2024 : ความก้าวหน้าท่ามกลางความท้าทายในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของเนเธอร์แลนด์

 

Dutch SDG Barometer 2024 เปิดเผยมุมมองเกี่ยวกับความคืบหน้าด้านความยั่งยืนในเนเธอร์แลนด์ แม้ว่าองค์กรต่างๆ ในเนเธอร์แลนด์จะตระหนักถึงเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (SDGs) อยู่มาก แต่ยังคงมีความท้าทายที่สำคัญในการกำหนดลำดับความสำคัญ การนำไปปฏิบัติ และการวัดผล

 

รายงาน Dutch SDG Barometer 2024 เป็นการศึกษาวิจัยและจัดทำขึ้นโดยความร่วมมือจาก Amsterdam School of International Business (AMSIB), Maastricht School of Management (MSM) และ TIAS School for Business and Society โดยเป็นการต่อยอดจากการเปิดตัว Dutch SDG Barometer ในปี 2022 เป็นการศึกษาวิจัยข้อมูลเกี่ยวกับการนำ SDGs ไปใช้ และแสดงให้เห็นทั้งแนวโน้มที่น่าพอใจและอุปสรรคที่ยังคงมีอยู่เมื่อเป้าหมายปี 2030 ใกล้เข้ามาทุกที

 

ผลการสำรวจและศึกษาวิจัยที่สำคัญจาก Dutch SDG Barometer 2024 ได้แก่

 

Sustainable Awareness: องค์กรเกือบร้อยละ 70 ในเนเธอร์แลนด์ระบุว่าพวกเขามีความตระหนักรู้ถึงความยั่งยืน และให้ความสำคัญกับความยั่งยืนเป็นอันดับแรก ซึ่งเป็นแนวโน้มที่มั่นคงตั้งแต่ปี 2022 อย่างไรก็ตาม มีเพียงร้อยละ 15 เท่านั้นที่มีการบูรณาการ SDGs เข้ากับกลยุทธ์ความยั่งยืนขององค์กรได้อย่างสมบูรณ์ ซึ่งเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงช่องว่างระหว่างการตระหนักรู้และการนำไปปฏิบัติจริง

 

Framework Competition: แม้ว่ากรอบของ SDGs ยังคงมีการใช้กันอย่างแพร่หลาย แต่แนวทางปฏิบัติของสหภาพยุโรปที่มีการบังคับใช้ เช่น Corporate Sustainability Reporting Directive (CSRD) มีการใช้งานที่แซงหน้า SDGs ซึ่งทำให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบ “Crowding-Out Effect”

 

Obstacles Persist: ข้อจำกัดด้านทรัพยากรและช่องว่างทางความรู้ยังคงเป็นอุปสรรคหลักต่อการนำ SDGs ไปปฏิบัติ แม้ว่าการตระหนักรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับเป้าหมาย SDGs จะดีขึ้นตั้งแต่ปี 2022

 

Communication Decline: จำนวนองค์กรที่ไม่มีการสื่อสารภายใน (ร้อยละ 31) หรือการสื่อสารภายนอก (ร้อยละ 30) เกี่ยวกับความพยายามในด้าน SDGs ขององค์กรมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความเป็นไปได้ที่เกิดการลดลำดับความสำคัญของเป้าหมาย SDGs

 

Government Role: ผู้ตอบแบบสอบถามร้อยละ 55 เชื่อว่าบทบาทและการสนับสนุนของรัฐบาลสำหรับการนำ SDGs มาใช้ยังไม่เพียงพอ ในขณะที่องค์กรต่างๆ ร้อยละ 80 มีความเห็นว่ารัฐบาลควรมีบทบาทเชิงรุกในการสนับสนุนการนำ SDGs มาใช้และการผลักดันเป้าหมาย SDGs อย่างมีประสิทธิภาพ

 

Sectoral Insights: สถาบันการศึกษามีความเป็นผู้นำในด้านการสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับ SDGs ในขณะที่องค์กรไม่แสวงหากำไรและหน่วยงานของรัฐแสดงให้เห็นถึงความสอดคล้องกันในระดับต่างๆ การมีส่วนร่วมขององค์กรต่างๆ แม้ว่าจะมีนัยสำคัญ แต่บ่อยครั้งที่มักจะขาดความลึกซึ้งในการบูรณาการ SDGs ร่วมกัน

 

แม้ว่าจะมีความท้าทายมากมายเหล่านี้ รายงาน Dutch SDG Barometer 2024 ยังเน้นย้ำถึงการพัฒนาที่มีแนวโน้มดีในการนำ SDGs มาใช้และการปรับแนวทางพัฒนา รวมถึงความร่วมกันระหว่างรัฐบาล สถาบันการศึกษา และองค์กรพัฒนาเอกชนที่กำลังมีเพิ่มมากขึ้น ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการตระหนักรู้มากขึ้นถึงความจำเป็นในการดำเนินการร่วมกัน องค์กรต่างๆ ให้การยอมรับมากขึ้นว่า SDGs มีความจำเป็นต่อการแก้ไขปัญหาในระดับโลก เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความไม่เท่าเทียมกันทางเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม ความคืบหน้าในเรื่องนี้ยังคงเป็นไปอย่างล่าช้า ความร่วมมือข้ามภาคส่วนที่มีความแข็งแกร่งยิ่งขึ้นและการมีกรอบนโยบายที่มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้นยังมีความจำเป็น เพื่อให้เกิดแรงผลักดันในการดำเนินการให้บรรลุเป้าหมาย SDGs ต่อไป และเพื่อให้สอดคล้องกับวิสัยทัศน์การเปลี่ยนแปลงของวาระปี 2030 (2030 Agenda) รายงาน Dutch SDG Barometer 2024 ได้เน้นย้ำถึงความเร่งด่วนในการใช้แนวทางการประสานงานร่วมกันกับหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องเพื่อความยั่งยืน ซึ่งรวมถึงการใช้ประโยชน์จากเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนเป็นกรอบในการทำงานแบบสากลพร้อมกับการปรับตัวให้เข้ากับความต้องการเฉพาะตัวของภาคส่วนต่างๆ

 

คำแนะนำเพื่อให้การพัฒนาที่ยั่งยืนมีความก้าวหน้าที่รวดเร็วยิ่งขึ้น

 

Government Leadership: ความเป็นผู้นำของรัฐบาล การกำหนดแนวนโยบายระยะยาวที่ชัดเจน และแรงจูงใจเพื่อให้ความพยายามของภาครัฐและภาคเอกชนมีความสอดคล้องและเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน

 

Focus Strategies: กลยุทธ์ที่มุ่งเน้นการพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างชัดเจนจะช่วยสนับสนุนให้องค์กรต่างๆ สามารถจัดลำดับความสำคัญของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนได้ดียิ่งขึ้น โดยเฉพาะเป้าหมายที่สอดคล้องกับการดำเนินการหลักขององค์กร เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น

 

Impact Measurement: การพัฒนาและส่งเสริมเครื่องมือเชิงปฏิบัติเฉพาะบริบท เพื่อวัดผลการสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างมีประสิทธิภาพ

 

Enhanced Communication: การสื่อสารที่ดีขึ้น การส่งเสริมการสื่อสารทั้งภายในองค์กรและภายนอกองค์กรที่เข้มแข็งขึ้นเพื่อปลูกฝังความยั่งยืนในวัฒนธรรมองค์กรและการปรับปรุงความโปร่งใส

 

 

บทวิเคราะห์และความเห็นของ สคต.

 

Dutch SDG Barometer เป็นการศึกษาทุกๆ 2 ปี เกี่ยวกับ SDGs เป็นการติดตามการรับรู้ ความตระหนักรู้ การนำ SDGs ไปใช้ และการนำเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติไปปฏิบัติในองค์การต่างๆ ในเนเธอร์แลนด์ ทั้งบริษัท สถาบันการศึกษา องค์กรของรัฐ และองค์กรไม่แสวงหากำไร จัดทำโดยสถาบันการศึกษา 3 แห่งของเนเธอร์แลนด์ ได้แก่ AMSIB, MSM และ TIAS Dutch SDG Barometer ซึ่งจะมีการวิเคราะห์ที่ครอบคลุมเกี่ยวกับความคืบหน้าและข้อมูลเชิงลึกที่สามารถนำไปปฏิบัติได้ เพื่อผลักดันโครงการ SDGs ทั่วประเทศเนเธอร์แลนด์

 

Dutch SDG Barometer 2024 แสดงให้เห็นว่าองค์กรต่างๆ ในเนเธอร์แลนด์มีความตระหนักและให้ความสำคัญกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนสูง ซึ่งหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะส่งผลกระทบต่อการค้า การให้ความสำคัญกับความยั่งยืนที่เพิ่มขึ้นนี้แสดงให้เห็นถึงความคาดหวังที่ประเทศคู่ค้าหรือองค์กรคู่ค้าจะมีการพัฒนาความยั่งยืนที่สอดคล้องกันหรือเป็นไปในทิศทางเดียวกันเพื่อที่จะบรรลุเป้าหมายความยั่งยืนร่วมกัน ผู้ประกอบการและผู้ส่งออกไทยควรเตรียมพร้อมรับมือ ปรับตัว และปรับกลยุทธ์เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน และเป้าหมาย SDGs รวมถึงปฏิบัติตามแนวทางปฏิบัติของสหภาพยุโรป (CSRD) ซึ่งสิ่งนี้จะเป็นหนึ่งปัจจัยสำคัญที่จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการไทยในตลาดเนเธอร์แลนด์ และเป็นข้อได้เปรียบทางการแข่งขันของผู้ประกอบการไทยในตลาดที่มีความเปลี่ยนแปลงได้อีกด้วย

 

 

Office of Commercial Affairs, Royal Thai Embassy (Thai Trade Center) - Hague

en_USEnglish