ปัจจุบันอุตสาหกรรมยานยนต์ของเยอรมันกำลังตกอยู่ในที่นั่งลำบาก โดยนาย Oliver Blume ผู้บริหารของบริษัท Volkswagen (VW) ได้ออกมาประกาศยกเลิกการยืนยันที่ว่า “จะไม่เลิกจ้างแรงงานจำนวนมาก” และ VW ตั้งเป้าที่จะปิดโรงงานหลายแห่ง ในขณะที่ BMW ก็สร้างความตกตะลึงให้กับตลาดด้วยการลดประมาณการณ์ผลกำไรลง เนื่องจากบริษัท Continental ผู้ผลิตชิ้นส่วนหลักของ BMW ได้จัดหาระบบเบรกที่อาจผิดพลาด ในเวลาเดียวกัน โรงงานของบริษัท ZF ในเมือง Friedrichshafen (คู่แข่งของ Continental) ก็เผชิญหน้ากับปัญหาที่ลูกจ้างจำนวน 1 ใน 4 ได้ออกมาประท้วงบนท้องถนน สถานการณ์ดังกล่าวได้ทำให้ผู้บริโภคมีความกังวลต่อการซื้อรถคันใหม่ค่อนข้างมาก นอกจากนี้การเปลี่ยนนโยบายสนับสนุนรถไฟฟ้าที่ไม่มีความแน่นอนก็ทำให้ผู้บริโภคอยู่ในภาวะที่ไม่รู้ว่าจะซื้อรถอะไรดี โดยผู้บริโภคส่วนหนึ่งก็ไม่มีเงินซื้อรถคันใหม่หลังจาก 4 ปี แห่งความซบเซาทางเศรษฐกิจ และปัญหาเงินเฟ้อในเยอรมนี จึงไม่ต้องสงสัยเลยว่า ปัจจุบันอุตสาหกรรมยานยนต์ของเยอรมนีกำลังเผชิญหน้ากับวิกฤติที่เลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์ แต่วิกฤตครั้งนี้อาจเป็นโอกาสสำหรับพวกเขาก็ได้หากพวกเขาพร้อมที่จะเผชิญกับมันอย่างกล้าหาญ
- การปรับโครงสร้างของ VW เป็นหัวใจหลักของเยอรมนี ในฐานะที่เป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมรถยนต์ เพราะ VW ไม่ได้เป็นเพียงแค่ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ที่สุดเท่านั้น แต่ VW ยังเป็นผู้ซื้อชิ้นส่วนรถยนต์รายใหญ่ที่สุดอีกด้วย ดังนั้น หากบริษัท VW ตกอยู่ในภาวะขาดทุน เพราะกำลังการผลิตล้นตลาดมายาวนาน บริษัทจะไม่สามารถลงทุนและจ่ายเงินให้แก่บริษัทต้นน้ำ อาทิ ผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ ได้ จึงทำให้นักการเมือง ผู้ถือหุ้น และพนักงาน จะต้องไม่เข้ามาเป็นอุปสรรคใด ๆ ในการปรับโครงสร้างตามแผนของนาย Blume CEO, VW แม้ว่าเขาจะต้องปิดโรงงานก็ตาม
- ผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์เองก็ต้องปิดโรงงานและปลดพนักงานเช่นกัน การปรับโครงสร้างของอุตสาหกรรมฯ จะดำเนินไปไม่ได้เลย หากไม่มีการควบรวมกิจการ และแน่นอนที่ผู้ผลิตรถยนต์ต้องช่วยเหลือ และเสนอราคา รวมถึงสัญญาที่ยุติธรรมเพื่อให้ผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์สามารถลงทุนต่อไปได้ด้วยเช่นกัน หากใครให้ความสนใจเฉพาะต้องการเพิ่มอัตรากำไรขั้นต้นของบริษัทตัวเองเพียงอย่างเดียว ก็ไม่ควรที่จะแปลกใจหากคุณภาพสินค้าในห่วงโซ่อุปทานต่ำลง และไม่สามารถรักษาคุณภาพไว้ได้อีกอย่าง ตัวอย่างของปัญหาเบรกระหว่าง BMW และ Continental ที่แสดงให้เห็นว่า ไม่มีใครชนะในเรื่องดังกล่าวถ้าเพียงแต่ให้ความสำคัญเฉพาะการลดค่าใช้จ่ายเพียงอย่างเดียว
- ตามปกตินวัตกรรมพื้นฐานไม่ค่อยเกิดขึ้นในองค์กรขนาดใหญ่ โดยนวัตกรรมส่วนใหญ่มักเกิดหรือเติบโตในธุรกิจหรือบริษัท Start-ups ซึ่งแน่นวนส่วนหนึ่งมาจากการที่เยอรมนีกลายเป็นผู้จัดหามอเตอร์ดุมล้อ (Wheel Hub Motor) แบตเตอรี่โซลิดสเตต (Solid-State Battery) และการใช้งานระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) การพัฒนานวัตกรรมเหล่านี้ ต้องการการสนับสนุนด้านเงินทุนที่ดีกว่าในปัจจุบัน เปิดให้มีการลงทุนส่วนตัวมากขึ้น และต้องมีความเปิดกว้างด้านอุตสาหกรรมในการลองแนวคิดใหม่ ๆ มากขึ้นอีกด้วย
- ภาคการเมืองต้องกำหนดแนวทางการทำงานที่ชัดเจน ไม่มีประโยชน์ที่จะส่งเสริมรถ EV ตามงบประมาณแบบเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา โดยให้สิทธิพิเศษทางภาษีกับเครื่องยนต์ดีเซล ในขณะเดียวกันก็กำหนดวันห้ามรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปแบบฉับพลัน กฎระเบียบจะต้องสอดคล้องกับค่าการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อย่างชัดเจน นอกจากนี้ ยังรวมถึง การขับขี่โดยรถยนต์เบนซินและดีเซลจะต้องค่อย ๆ มีราคาแพงขึ้น เพื่อให้อุตสาหกรรมฯ สามารถที่จะลงทุนกับการขับเคลื่อนทางเลือก และโน้มน้าวให้ผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงรูปแบบการขับเคลื่อนมาใช้ไฟฟ้าจะเป็นทางหลัก แต่ไม่ใช่ทางเดียว อุตสาหกรรมฯ จะต้องสามารถพัฒนาเซลล์เชื้อเพลิง และเชื้อเพลิงสังเคราะห์ต่อไปได้ โดยตลาดจะเป็นผู้ตัดสินว่า อะไรจะได้รับความนิยมมากกว่ากัน
- เป็นสิ่งที่จำเป็น ที่ต้องระบุว่า “วาระปี 2030” สำหรับนวัตกรรมในประเทศ ด้านการศึกษา การรถไฟ และบูรณะสะพาน ในปี 2023 รัฐบาลอัดฉีดเม็ดเงินมากกว่า 112 พันล้านยูโร เพื่ออุดหนุนกองทุนบำเหน็จบำนาญ แต่กลับให้ความสำคัญด้านการศึกษาให้ความรู้แก่ลูกหลานเราเพียงปานกลางเท่านั้น ถ้าเราประสบความสำเร็จในการเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานของประชากรที่มีแนวโน้มที่จะลดตัวลงเรื่อย ๆ เท่านั้นเราจึงจะสามารถรักษาระบบสังคมอย่างเช่นในปัจจุบันไว้ได้ สิ่งนี้ไม่เพียงแต่ใช้กับอุตสาหกรรมยานยนต์เท่านั้น แต่อุตสาหกรรมรถยนต์ต้องการการปรับโครงสร้างมากเป็นพิเศษ เพราะในอนาคตจะต้องสามารถแข่งขันกับรถ EV จาก BYD และ Tesla มากกว่าที่จะแข่งขันกับ รถกระบะจาก General Motors และ Ford
จาก Handelsblatt 27 กันยายน 2567