บริษัท Chongqing Changan Automobile Co., Ltd. หรือ Changan Automobile ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2539 เป็นบริษัทหลักภายใต้ China Changan Automobile Group Co., Ltd. จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เซินเจิ้นในปี พ.ศ. 2539 ปัจจุบัน Changan Automobile เป็นหนึ่งในผู้นำด้านเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้า และระบบขับขี่อัจฉริยะ มีประสบการณ์ด้านการผลิตรถยนต์มายาวนานกว่า 40 ปี ปัจจุบัน มีการจัดตั้งฐานการผลิต 12 แห่ง และมีโรงงานผลิต 22 แห่งทั่วโลก มีพนักงานกว่า 72,000 คน และยังสร้างงานมากกว่า 1 ล้านตำแหน่งในห่วงโซ่อุตสาหกรรมยานยนต์ และมีตัวแทนจำหน่ายกว่า 9,000 แห่ง ปัจจุบัน มีแบรนด์ที่อยู่ภายใต้บริษัท Changan Automobile ได้แก่ Changan Qiyuan, Deep Blue, Avita, Changan Gravity, Changan Kaicheng, Changan Ford, Changan Mazda, Jiangling โดยในปี 2566 Changan Automobile มียอดขายสูงถึง 2,553,100 คัน เพิ่มขึ้น 8.82% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า
Changan Automobile มุ่งเน้นการพัฒนาตลาดรถยนต์พลังงานสะอาด มีบุคลากรด้านการวิจัยและพัฒนามากกว่า 18,000 คน สามารถพัฒนาเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับแหล่งพลังงานสะอาดเกือบ 400 รายการ อาทิ ระบบสตาร์ทเย็นของเซลล์เชื้อเพลิง ระบบควบคุมเซลล์เชื้อเพลิง และระบบการประหยัดพลังงาน ในปี 2567 Changan Automobile มุ่งเป้าที่จะขับเคลื่อนการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่และเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ โดยตั้งเป้ายอดขายรถยนต์ที่ 2.8 ล้านคัน
Changan Automobile ได้จัดตั้งศูนย์ Global R&D Center ในเขตเศรษฐกิจใหม่ Liangjiang นครฉงชิ่ง ครอบคลุมพื้นที่กว่า 1,000 เอเคอร์ ซึ่งสร้างเสร็จและเปิดใช้งานในปี 2562 ด้วยเงินลงทุนรวม 4.3 พันล้านหยวน โดยศูนย์ดังกล่าวเป็นพื้นที่สำหรับการวิจัยและพัฒนาในสาขาต่างๆ อาทิ การออกแบบ การทดสอบและการจัดการ การวิเคราะห์การจําลองการใช้งาน ระบบเสียงและการสั่นสะเทือน ความปลอดภัย ฯลฯ โดยภายในศูนย์ดังกล่าว ได้จัดตั้งห้องทดลองปฏิบัติการถึง 180 แห่ง เพื่อวิจัยและพัฒนาในด้านพลังงานไฮบริด ระบบปรับอากาศ และวัสดุที่ไม่ใช่โลหะ และศูนย์ข้อมูเทคโนโลยีคลาวด์ ฯลฯ
Changan Automobile ได้ลงทุนจัดตั้งโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยเมื่อปี 2566 ผ่านมา ด้วยเงินลงทุน 8,800 ล้านบาท เป็นฐานการผลิตรถยนต์ครบวงจรแห่งแรกที่สร้างขึ้นในต่างประเทศ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ไทยเป็นฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าพวงมาลัยขวา และมีเป้าหมายเพื่อส่งออกไปยังตลาดอาเซียนและตลาดรถยนต์พวงมาลัยขวาทั่วโลกทั้งหมด ในช่วงระหว่างการก่อสร้างโรงงานในประเทศไทย Changan Automobile New Energy ได้เริ่มจําหน่ายรถยนต์ในประเทศไทยแล้ว โดยในเดือนเมษายน 2567 รถยนต์รุ่น DEEPAL S07 สามารถครองแชมป์ยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย มีส่วนแบ่งการตลาดถึงร้อยละ 18.4
การที่ Changan Automobile เลือกเข้าไปลงทุนก่อตั้งโรงงานประเทศไทย สืบเนื่องมาจากความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศไทยและจีนที่มีมาอย่างต่อเนื่องและยาวนาน ประกอบกับมาตรการของประเทศในยุโรปและอเมริกาในการกําหนดอัตราภาษีเพิ่มเติมสําหรับรถยนต์ไฟฟ้าของจีน ในขณะที่ ประเทศไทยมีความพร้อมและมีโครงสร้างพื้นฐานด้านรถยนต์ที่เติบโตเต็มที่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยไทยผู้ผลิตยานยนต์รายใหญ่เป็นอันดับ 10 ของโลก มีซัพพลายเออร์ ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ อีกทั้ง รัฐบาลไทยได้ให้การสนับสนุนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศ
จึงเป็นโอกาสให้ Changan Automobile เลือกเข้ามาขยายฐานการผลิตในประเทศไทย โดย Changan Automobile ได้จดทะเบียนบริษัทในไทยไว้ 3 บริษัท คือ CHANGAN Auto Southeast Asia Co., Ltd. เพื่อดูแลด้านการบริหาร CHANGAN Auto Sales (Thailand) Co., Ltd. ดูแลด้านการขาย และ CHANGAN Auto Components (Thailand) Co., Ltd. ดูแลด้านการผลิตรถยนต์ บริษัทฯ ตั้งเป้าขยายกำลังผลิตในประเทศไทยที่ 200,000 คันต่อปี
ข้อเสนอแนะ สคต. ณ นครเฉิงตู
ปัจจุบัน ประเทศไทยกำลังมุ่งหน้าเปลี่ยนผ่านจากประเทศผู้ผลิตยานยนต์สันดาปไปสู่ยานยนต์ไฟฟ้า ขณะที่รถยนต์พลังงานใหม่ของจีนกำลังเป็นผู้นำตลาดโลก และสามารถตอบสนองความต้องการในการเปลี่ยนแปลงตลาดของประเทศไทยได้ ทั้งนี้ มาตรการสนับสนุนของรัฐบาลไทยได้ดึงดูดให้ผู้ผลิตยานยนต์ไฟฟ้าต่างชาติ โดยเฉพาะจีน เข้ามาลงทุนตั้งฐานผลิตในไทยอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันมีบริษัทยานยนต์จีนที่เข้ามาลงทุนในไทยแล้ว ไม่ว่าจะเป็น Great Wall Motor, BYD, SAIC Motor, Changan Automobile และ GAC AION ข้อมูลจาก Nikkei Asia Research ระบุว่าการลงทุน ของผู้ผลิตจีน 5 รายข้างต้น มีมูลค่าสูงถึง 8.5 หมื่นล้านบาท และมีกำลังผลิตราว 4 แสนคันต่อปี
ด้วยจุดแข็งของอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยซึ่งมีทั้งความพร้อมและความเชี่ยวชาญ ประกอบกับการสนับสนุนจากภาครัฐ ทำให้ไทยมีศักยภาพที่จะเป็นศูนย์กลางการผลิตและตลาดสำคัญสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การลงทุนจากบริษัทยานยนต์จีนในประเทศไทยจะไม่เพียงแต่ช่วยให้ประเทศไทยกลายเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าระดับภูมิภาคและระดับโลกเท่านั้น แต่ยังส่งเสริมการเชื่องโยงและความร่วมมือด้านรถยนต์ไฟฟ้าระหว่างจีนและไทยเชิงลึกมากขึ้น และจะช่วยขับเคลื่อนให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายในการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในอนาคต
————————————————–
Commercial Section, Royal Thai Consulate General, Commercial Office (Thai Trade Center) - Chengdu
กันยายน 2567
แหล่งข้อมูล :
การเดินทางไปเยียมชม Changan Auto Global R&D Center